การอัลตราซาวด์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณแม่ท้องทุกคนคุ้นเคย เพราะการอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้พบเจอและได้เห็นพัฒนาการลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นอกจากพัฒนาการของลูกแล้ว การอัลตราซาวด์สามารถตรวจความผิดปกติได้หรือไม่ วันนี้ theAsianparent Thailand มีคำตอบมาให้คุณพ่อคุณแม่กัน
การอัลตราซาวด์ คืออะไร
การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพลูกในท้องคุณแม่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะปล่อยคลื่นเสียงผ่านร่างกายคุณแม่ คลื่นเสียงนี้จะสะท้อนกับกล้ามเนื้อ ไขมัน อวัยวะในช่องท้อง และร่างกายของทารก รก น้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่ แล้วสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์ตรวจรับเพื่อแปลงเป็นภาพทางหน้าจออีกครั้ง
นอกจากนี้ การตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถบ่งบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ และจำนวนทารกในครรภ์ได้อีกด้วย รวมถึงยังเป็นวิธีการตรวจนับอายุครรภ์ที่แม่นยำ โดยไม่สร้างความเจ็บปวดต่อคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยเป็นอย่างมาก
การอัลตราซาวด์ ตรวจความผิดปกติได้หรือไม่
นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้ให้ข้อมูลว่า แม้การตรวจอัลตราซาวด์จะไม่สามารถเห็นความผิดปกติหรือความพิการทุกอย่างได้ แต่ด้วยความสามารถและประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยส่วนใหญ่จะสามารถตรวจความผิดปกติได้มากถึง 80-90%
ข้อจำกัดที่ทำให้การตรวจอัลตราซาวด์ไม่สามารถพบความผิดปกติได้ ประกอบด้วย การระบุชนิดของอวัยวะที่เกิดความผิดปกติ เช่น มือ-เท้า, แขน-ขา, ทางเดินหายใจ จะตรวจพบได้ยากมาก, ท่าของทารกขณะการตรวจ (นอนคว่ำ, ปิดหน้า, หนีบขา), คุณแม่มีรูปร่างอ้วน หรือ ความผิดปกตินั้นเกิดขึ้นภายหลังหรือมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากการตรวจอัลตราซาวด์ที่ทำไปในช่วงแรก คุณแม่จึงควรรับตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง (ทุก 3 เดือน)
บทความที่เกี่ยวข้อง : การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ คืออะไร จำเป็นต่อแม่ท้องมากน้อยแค่ไหน?
อายุครรภ์เท่าไหร่ถึงอัลตราซาวด์ได้
โดยปกติแล้ว การตรวจอัลตราซาวด์สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ เพื่อตรวจยืนยันอายุครรภ์ และทำให้ทราบกำหนดวันคลอด โดยการตรวจจะวัดความยาวของศีรษะจนถึงกระดูกก้นกบลูก และดูลักษณะของทารกในครรภ์ รวมถึงวัดความหนาของช่องทางเดินน้ำเหลืองเพื่อตรวจภาวะดาวน์ซินโดรมของลูกในท้อง
ข้อมูลวัตถุประสงค์ในการอัลตราซาวด์
ช่วงอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์
- ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์, จำนวนทารก และดูการเต้นหัวใจ
- ตรวจภาวะตั้งครรภ์ ว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูก-ท้องลม หรือไม่
- ตรวจว่ามีเนื้องอกมดลูก หรือ ถุงน้ำรังไข่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่
10-14 สัปดาห์
- ตรวจหาความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางอย่าง
- วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอ (Nuchal Translucency) เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)
18-22 สัปดาห์
- ตรวจความผิดปกติหรือความพิการของทารกอย่างละเอียด (Anomaly Scan)
- ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
- ตรวจตำแหน่งรก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ
28-36 สัปดาห์
- ตรวจความผิดปกติของทารกอีกครั้งก่อนคลอด
- ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
- ตรวจสุขภาพทารก, การหายใจ และการเคลื่อนไหว
- ตรวจสุขภาพรก, ปริมาณน้ำคร่ำ, ประเมินภาวะรกเสื่อม
- ตรวจความเร็วเลือดในสายสะดือและทารก (Dopplerstudy)
- ตรวจยืนยันท่าของทารกก่อนการคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 46 ใบอัลตราซาวด์บอกอะไรบ้าง
ผลอัลตราซาวด์เชื่อถือได้แค่ไหน
แม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์จะเป็นการตรวจการเจริญเติบโตของลูกน้อย แต่ก็ยังมีโอกาสผิดพลาดได้ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ นั้น มาจาก
- อวัยวะของทารกในท้องกับนอกท้องจะไม่เหมือนกัน
- อวัยวะทารกบางอย่างเล็กมากจนอาจมองไม่เห็น เช่น นิ้วเด็กหรือหัวใจ
- ท่าทางของทารกในครรภ์บางท่า อาจบดบังการมองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้
- อวัยวะทารกยังไม่สมบูรณ์ อาจไม่สามารถบ่งบอกความผิดปกติได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงอาจเกิดความผิดปกติหลังคลอดได้
การเตรียมตัวก่อนอัลตราซาวด์
- หากนัดตรวจอัลตราซาวด์ตอนเช้า คุณแม่ควรงดน้ำ, อาหาร ตั้งแต่หลังเที่ยงคืน หรือ 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจเป็นอย่างน้อย
- หากนัดตรวจอัลตราซาวด์ตอนบ่าย ควรรับประทานอาหารเช้าที่ไม่มีไขมัน, งดน้ำ, อาหาร และยาทุกชนิด ตั้งแต่หลัง 8 โมงเช้า จนกว่าจะตรวจเสร็จ
- หากเข้ารับการตรวจช่องท้อง คุณแม่อาจปวดปัสสาวะขณะตรวจ และต้องกลั้นปัสสาวะไว้ก่อน แต่หากไม่ปวดปัสสาวะ คุณหมอจะให้ดื่มน้ำก่อนตรวจ 30-60 นาที เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะมีน้ำเต็ม ทำให้คุณแม่สามารถตรวจอัลตราซาวด์ได้
- หากเข้ารับการตรวจช่องคลอด คุณแม่ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ
คุณหมออดิศรยังกล่าวต่อว่า คุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ โดยสูติแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (maternal-fetal medicine, MFM) เพื่อตรวจหาความพิการในทารก (anomaly scan) และติดตามพัฒนาการของทารก ปัจจุบันแนะนำว่าคุณแม่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้งในทุกไตรมาส
สำหรับคุณแม่บางท่านที่มีภาวะแทรกซ้อนผิดปกติ เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อย, น้ำคร่ำน้อย, ครรภ์เป็นพิษ, เบาหวาน, ครรภ์แฝด เป็นต้น จะได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ที่ถี่กว่าปกติและตรวจละเอียดมากขึ้น บางครั้งอาจต้องได้รับการตรวจทุกเดือน ทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 45 เตรียมตัวก่อนไปอัลตราซาวด์
คนท้องต้องฉีดอะไรบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 5 สมุดวัคซีนแม่ท้อง
อาการผิดปกติแบบไหนที่คนท้องต้องไปพบหมอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 11
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช, enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!