ภาวะตัวเหลือง คืออะไร
ไม่อยากให้ลูกคลอดมาตัวเหลือง : รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายถึงเรื่องภาวะตัวเหลืองไว้ว่า ภาวะตัวเหลืองในเด็ก เกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” สารนี้จะอยู่ในกระแสเลือด ร่างกายต้องกำจัดออกทางตับ โดยเอนไซน์ในตับจะช่วยเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะส่งต่อไปยังลำไส้ และขับถ่ายสารเหลืองออกมาทางอุจจาระมากที่สุด ดังนั้นหากมีโรค หรือ ความผิดปกติใดๆของร่างกายที่มีผลต่อขั้นตอนเหล่านี้ก็จะส่งผลให้ทารกตัวเหลืองมากกว่าปกตินั่นเอง
ไม่อยากให้ลูกคลอดมาตัวเหลือง
ทำไมลูกจึงมีภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลือง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด และอาจจะพบได้มากขึ้นหากทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเด็กจะมีอาการตัวเหลืองที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งภาวะตัวเหลืองนั้น แบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
1. ภาวะตัวเหลืองปกติ
เป็นภาวะตัวเหลืองที่พบบ่อยในทารกแรกเกิดเกือบทุกคน ทำให้ทารกตัวเหลืองเล็กน้อยตอนที่อายุได้ 3-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ เหลืองน้อยลงจนหายได้เอง และมักจะไม่เป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิด
ภาวะตัวเหลืองปกตินี้ มีสาเหตุมาจาก ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกปกติในทารกแรกเกิดเด็ก เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกออกก็จะมีสารเหลืองออกมาด้วย
และด้วยความที่เด็กแรกเกิดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเม็ดเลือดแดงในเด็กมีอายุสั้น และมีเม็ดเลือดแดงที่สร้างไม่สมบูรณ์ปริมาณมาก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และการทำงานของตับเด็กแรกเกิดก็ยังไม่สมบูรณ์จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองปกตินั่นเอง
2. ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ หรือตัวเหลืองเนื่องจากเป็นโรค
ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ หรือตัวเหลืองเนื่องจากเป็นโรค จะมีลักษณะที่สังเกตได้ คือ เริ่มเหลืองเร็ว เมื่ออายุน้อยกว่า 24 ชั่วโมง และอัตราการเพิ่มของค่าสารเหลืองในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีตัวเหลืองนานเกินกว่า 14 วัน โดยเฉพาะทารกที่ไม่ได้กินนมแม่
สาเหตุของภาวะตัวเหลืองผิดปกติ หรือตัวเหลืองเนื่องจากเป็นโรค ที่พบบ่อย ได้แก่
- กรุ๊ปเลือดแม่และลูกไม่เข้ากันทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมาก พบในแม่เลือดกรุ๊ป O และลูกเป็น กรุ๊ป A หรือ B
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกมาก เนื่องจากโรคที่เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย, โรคขาดเอนไซน์ G6PD เด็กที่คลอดโดยใช้เครื่องดูดช่วยคลอดจะมีเลือดออกใต้หนังศีรษะ ซึ่งเลือดที่ออกนี้ทำให้มีเม็ดเลือดแดงที่แตกเพิ่มขึ้น
- เด็กที่มีการทำงานของตับไม่สมบูรณ์ หรือมีโรคกรรมพันธุ์บางอย่างของตับ ทำให้กำจัดสารเหลืองได้น้อยลง
นอกจากนี้ ความผิดปกติที่ลำไส้ เช่นภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้มีการดูดซึมสารเหลืองกลับเข้ากระแสเลือดมากกว่าปกติแทนที่จะขับถ่ายออกไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเหลืองได้
ภาวะตัวเหลือง ส่งผลร้ายต่อทารกอย่างไร ?
- หากทารกมีภาวะตัวเหลืองโดยที่ไม่ได้ดำเนินการรักษาจนระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินก็จะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง และก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทได้
- ถ้าหากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรือ อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม
- หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ร่างกายและแขนขาของทารกจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้ หากเกิดขึ้นในทารกแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติก็ตาม
ไม่อยากให้ลูกคลอดมาตัวเหลือง ทำอย่างไร ติดตามต่อหน้าถัดไป >>>
ภาวะตัวเหลือง รักษาอย่างไร
คุณหมอรวีรัตน์ กล่าวถึงวิธีการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเอาไว้ว่า ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดมีวิธีการรักษาในโรงพยาบาลโดยการส่องไฟ และการเปลี่ยนถ่ายเลือดหากค่าสารเหลืองสูงมาก หลังจากการรักษาคุณหมอจะตรวจระดับค่าสารเหลืองซ้ำ ถ้าระดับบิลิรูบินลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
ไม่อยากให้ลูกคลอดมาตัวเหลือง
คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะตัวเหลือง
หากพบว่าลูกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอก็จะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะมีการนัดตรวจติดตาม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้วพบว่าลูกมีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้น ควรนำลูกมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ ได้แก่
- สังเกตสีอุจจาระ หรือปัสสาวะของทารก หากพบว่าผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้ม ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันที
- สังเกตอาการ หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
- แนะนำให้เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ และให้ลูกกินนมแม่ทันทีที่เป็นไปได้หลังคลอด
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี
เพื่อความปลอดภัยและลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ คุณแม่ท้องควรปฏิบัติดังนี้
- ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งหากพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ คุณหมอก็จะประเมินพร้อมให้คำแนะนำเรื่องการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้
- เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- ให้ลูกดูดนมแม่หลังคลอด จะช่วยให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวได้ดี และเป็นการช่วยขับสารสีเหลือง หรือ บิลิรูบิน ได้อีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สัญญาณอันตรายใกล้คลอด โค้งสุดท้ายก่อนเป็นแม่คน
เคล็ดลับคลอดง่าย ต้องกินอะไรก่อนคลอด
หลังคลอดกินยาสตรีได้ไหม อยากให้น้ำคาวปลาไหลดี มดลูกเข้าอู่เร็ว ทำอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!