โรคมือ เท้า ปาก ระบาดหนัก แค่ต้นปีเด็กป่วยถึง 5 เท่า
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดในประเทศไทยมานาน เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีเอ 6 เอ 16 ซึ่งไม่ค่อยรุนแรงนัก จะแสดงอาการแค่มีไข้สูง เป็นตุ่มใสบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า แต่ยังมีเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 หรือ “อีวี 71” ที่มีความรุนแรงกว่าหลายเท่า เนื่องจากเชื้อจะทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อสมอง โดยเฉพาะตรงแกนสมอง กล้ามเนื้อหัวใจ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยอัตราการตายของเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี โอกาสเสียชีวิต 1 ใน 100 คน ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โอกาสเสียชีวิตเป็น 1 ต่อ 300 คน และอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลงถ้าเด็กมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้ โอกาสที่จะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ก็จะลดน้อยลง
ความรุนแรงของโรคนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปีที่ผ่านมาพบว่าโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้ออีวี 71 ร้อยละ 10 แต่เมื่อต้นปี 2560 กลับพบว่าเด็กติดเชื้อประเภทนี้ถึงร้อยละ 50 หมายความว่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า โดยพบมากสุดที่ภาคเหนือตอนล่าง อีสาน กทม. และเมื่อต้นเดือน ต.ค. นพ.ยง เพิ่งรับปรึกษาให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น พบว่า มีเด็กอยู่ 1 คน เป็นมือ เท้า ปาก พอทราบวันรุ่งขึ้นเด็กก็หอบ และเสียชีวตลงอย่างรวดเร็ว อาการแบบนี้แสดงว่าเด็กเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ว่าในขณะนี้อัตราการป่วยเริ่มลดลง แต่ยังน่าเป็นห่วง เพราะเชื้อโรคจะเติบโตดีในช่วงหน้าฝน และสารเคมีที่จะต่อต้านหรือฆ่าเชื้อพวกนี้ คือ คลอรีน โซเดียมไฮโปตคอไรด์ ไฮเตอร์ น้ำยาล้างห้องน้ำ และกลุ่มฟอร์มาลีน เป็นต้น
วิธีแพร่กระจายของโรค
นพ.ยง กล่าวต่อว่า โรคนี้ ติดต่อง่ายมาก เนื่องจากมีการแพร่เชื้อทางสารคัดหลั่ง น้ำลาย อุจจาระ และเข้าสู่ร่างกายโดยการใช้มือสัมผัสของที่มีเชื้อเข้าปาก เมื่อเด็กได้รับเชื้อระฟักตัว 3-5 วัน อาการเริ่มต้นมีไข้ วันเดียวเท่านั้นก็จะเริ่มมีตุ่ม มีแผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ รอบทอนซิล กระพุ้งแก้ม ส่วนที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ ในรายที่เป็นมากอาจจะขึ้นที่หัวเข่า ข้อศอก รอบก้น บางรายเล็บหยุดการเจริญเติบโต
ลักษณะอาการที่ควรเฝ้าระวัง
- เป็นไข้สูงไม่ลด
- ตาลอย ซึม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของสมอง
- หัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง
- กระตุกที่ปลายมือ ปลายเท้า หรือหอบ น้ำลายฟูมปาก
วิธีการรักษา
คุณพ่อคุณแม่พยายามให้เด็กอย่าให้ขาดน้ำ ให้กินของที่เย็นขึ้นมาหน่อย เพื่อไม่ให้เจ็บปากน้อยลง ใช้เวลา 3-5 วัน อย่างช้าไม่เกิน 7 วันก็หาย แต่ในรายที่รุนแรงจะต้องรักษาด้วยยา
วิธีการป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีการที่ดีที่สุดคือการล้างมือบ่อยๆ เพราะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการที่มือสัมผัสเชื้อแล้วเข้าปาก การล้างต้องล้างให้ถูกวิธี ล้างนานจบ 1 เพลง กินอาหารที่สุก ไม่ใช้ช้อนเดียวกันป้อนอาหารเด็กอนุบาล เมื่อเกิดป่วย 3 รายขึ้นไปควรเปิดห้องเรียน เพื่อทำความสะอาด
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่และลูกเมื่อต้องเผชิญกับโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปากในเด็ก โรคหน้าฝน ที่พ่อแม่ต้องระวัง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรค RSV และ โรคมือเท้าปากในเด็ก โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายฝนต้นหนาว
โรคมือเท้าปาก โรคใกล้ตัวเด็กวัยเรียน ทารก-เด็กเล็ก ก็มีโอกาสป่วยง่าย
โรคมือเท้าปาก คืออะไร โรคมือเท้าปากอันตรายหรือไม่ อาการโรคมือเท้าปาก วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก
ที่มา: dailynews
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!