สุขภาพกายเสื่อม เรายังสามารถรับรู้ได้ถึงสัญญาณเตือนภัย แต่สุขภาพตา (Eye Health) นี่สิ กว่าเราจะรู้ว่าตาของเราเริ่มมีผิดปกติ นั่นก็คือดวงตาเราเริ่มมีปัญหาแล้ว ซึ่งโรคทางตาบางโรคก็ไม่ได้แสดงอาการให้เห็น จนกว่าจะอยู่ในขั้นที่รุนแรง จนไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ เรามาดูกันว่า โรคตาที่ต้องระวัง แก้ไข และป้องกันได้อย่างไร
โรคตาที่ต้องระวัง แก้ไข และป้องกันได้อย่างไร ก่อนอื่นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าดวงตาของเรากำลังมีปัญหา การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี สามารถช่วยคุณได้ในระดับหนึ่งทีเดียว ดังนั้น การตรวจสุขภาพตา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นการเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งโรคทางตาที่พบบ่อยมีดังนี้
โรคตาที่ต้องระวัง
1. ตาบอดสี (Color Blindness)
เป็นโรคที่มีความบกพร่องในการแยกแยะความแตกต่างของสี เช่น ตาบอดสีแดงกับเขียวอาจเห็นเป็นสีเทา ไม่สามารถบอกสีได้ถูกต้อง หรือตาบอดสีแบบไม่เห็นสี อาจเห็นแค่สีขาวกับดำ ความน่าสนใจของโรคนี้คือ ผู้ชายมีโอกาสเป็นตาบอดสีมากกว่าผู้หญิง
และจะรู้ว่าตาบอดสีก็ต่อเมื่อ ได้รับการตรวจกับจักษุแพทย์ ที่สำคัญตาบอดสีไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจากกรรมพันธุ์แต่กำเนิดได้เช่นกัน ซึ่งตาบอดสีทำให้มีข้อจำกัดในชีวิต เช่นการขับรถ จึงควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
2. ตาแห้ง (Dry Eyes)
เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มสูงวัย และในวัยทำงาน มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตาอยู่ตลอดเวลา บ้างก็มีอาการแสบตา หรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์นาน ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรค และการรับประทานยาบางชนิด
หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง มีการอักเสบของเยื่อบุตา หรือกระจกตา สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ รวมทั้งอาจมีวัดปริมาณและคุณภาพของน้ำตา การรักษาตาแห้งขึ้นกับสาเหตุ มักต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วย ปรับพฤติกรรมการใช้งาน หรือประคบอุ่น นวด และทำความสะอาดเปลือกตากรณีมีเปลือกตาผิดปกติ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : สิ่งแปลกปลอมเข้า หู ตา จมูก ของลูก ต้องรีบปฐมพยาบาลลูกด่วน
3. จอประสาทตาเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration: AMD)
เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำ หรือเงาตรงกลางภาพ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษา และช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาด การป้องกันดูแลที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรอง และรักษาดูแลดวงตา เลี่ยงแดดจ้า ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ จะช่วยชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้
4. น้ำวุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
ธรรมชาติเมื่อเราอายุมากขึ้น น้ำวุ้นตาจะเกิดการละลายกลายเป็นน้ำ บางส่วนอาจจับตัวกันเป็นตะกอน เมื่อแสงส่องผ่านเข้ามาในลูกตากระทบตะกอนนี้จะเกิดเงาบนจอประสาทตา ทำให้เราเห็นคล้ายมีจุด หรือคล้ายแมลงบินไปมา และขยับได้ตามการกลอกตาของเรา ซึ่งภาวะนี้มักไม่มีอันตรายหากไม่มีจอประสาทตาฉีกขาด แต่จะเกิดความรำคาญใจได้ จึงควรตรวจตาเพื่อหาดูว่ามีจอประสาทตาฉีกขาดเป็นรู หรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดจอประสาทตาหลุดลอก
สาเหตุของโรคมักเกิดจากความเสื่อมตามวัย พบมากในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มสายตาสั้น แต่ปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคนี้อายุน้อยลงเรื่อย ๆ และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษา อาจร้ายแรงถึงขั้นจอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรอง และหากมีอาการต้องรีบพบแพทย์ทันที
5. จอประสาทตาเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration: AMD)
เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความร้ายแรง ถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำ หรือเงาตรงกลางภาพ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษา และช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาด การป้องกันดูแลที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรอง และรักษาดูแลดวงตา เลี่ยงแดดจ้า ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ จะช่วยชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การมองเห็นของทารก ทารกเริ่มมองเห็นตอนไหน จะกระตุ้นพัฒนาการมองเห็นได้อย่างไร
6. เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)
เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน พบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุมาจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือด และระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้ชั้นจอประสาทในลูกตาเกิดความเสื่อม ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัว และตาบอดได้
ผู้ป่วยเบาหวานบางคนไม่เคยตรวจตาเลย จึงไม่ทราบว่าการมองเห็นแต่ละข้างเป็นอย่างไร เพราะโดยรวม 2 ข้างยังมองยังเห็นอยู่ แต่อาจมีด้านหนึ่งที่แย่กว่าแล้ว และบางคนรู้สึกว่ามองเห็นโดยรวมยังปกติจึงไม่มาพบจักษุแพทย์ ทำให้บางครั้งรักษาช้าเกินไป และตาบอดได้ในที่สุด (โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานต้องตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หรือบ่อยกว่านั้นถ้าเริ่มมีเบาหวานขึ้นตา)
ซึ่งการตรวจคัดกรอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานให้ดีจะช่วยลดความเสียหาย และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้กับตา และอวัยวะอื่น ๆ
7. ต้อหิน (Glaucoma)
เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด ส่วนใหญ่มีความดันลูกตาสูง ซึ่งอาการที่สามารถสังเกต ได้แก่ หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะปวดตา ตามัวลง และเห็นรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ เนื่องจากความดันตาสูงมาก
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่มีอาการเลย เหมือนภัยเงียบค่อย ๆ ทำลายเส้นประสาท โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ต้อหินเฉียบพลันพบบ่อยในคนเอเชีย และปัจจุบันพบในคนอายุน้อย (เช่น เริ่มตั้งแต่อายุ 30 กว่า ๆ) เพิ่มมากขึ้น
ต้อหิน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีอาการ และไม่มีอาการ
- ประเภทมีอาการ หรือต้อหินชนิดมุมปิด ความดันภายในตาจะสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง ตามัว คลื่นไส้ อาเจียน ต้องรีบพบจักษุแพทย์
- ประเภทไม่มีอาการ หรือต้อหินชนิดมุมเปิด ในช่วงแรกจะไม่มีปัญหาในการมองเห็นเลย เนื่องจากบริเวณที่มองไม่เห็นอยู่บริเวณขอบ ๆ ภาพเท่านั้น จึงควรตรวจเช็คสุขภาพตา และได้รับการรักษาตั้งแต่ยังเป็นน้อย ๆ
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เป็นต้อหิน แต่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม หรือลักษณะของลูกตาที่มีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นต้อหินได้ในอนาคต ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง
8. ต้อกระจก (Cataract)
เป็นภาวะที่เลนส์ตามีความขุ่นมัว จากปกติที่มีความใส ทำให้แสงผ่านเข้าดวงตาลดลง บดบังทำให้ไม่สามารถทำให้จอประสาทตารับภาพได้ชัดเจน ทำให้การมองเห็นลดลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงวัย อายุมากกว่า 50 – 60 ปีขึ้นไป แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กหรือเป็นแต่กำเนิด หรือกลุ่มคนอายุน้อย
หากมีการใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อุบัติเหตุทางตา หรือโรคที่มีการอักเสบในตา เป็นต้น อาการที่สังเกตได้คือ ตาจะค่อย ๆ พร่ามัวลงเหมือนมีหมอก หรือฝ้าบัง เห็นภาพซ้อน เห็นแสงไฟกระจาย มองภาพเป็นสีเหลือง หรือสีผิดเพี้ยนไป อาจมีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น สายตาสั้นมากขึ้น ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยผิดปกติ
9. ต้อเนื้อ (Pterygium) และ ต้อลม (Pinguecula)
คือความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติ เป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อย ๆ ลุกลาม ถ้าเป็นมากใกล้ หรือบังปิดรูม่านตา การมองเห็นจะผิดปกติ มีสายตาเอียงมากขึ้น หรือตามัวลงมาก ต้อเนื้อพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลต ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพลง
พบบ่อยในเขตร้อน และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง พบเจอทั้งแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ทราย พบมากในผู้ที่มีอายุ 30 – 35 ปี ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นคือ ตาแดง ระคายเคือง ไม่สบายตา ปวดตา ถ้าเป็นมากจะเห็นภาพไม่ชัด
ส่วนต้อลม (Pinguecula) คือ การเสื่อมสภาพเช่นเดียวกับต้อเนื้อ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าตาดำเป็นอยู่บริเวณเยื่อบุตาเท่านั้น จึงมีอาการแค่ระคายเคือง แต่ตาไม่มัวลง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 5 วิธีเช็กความสมบูรณ์ของลูกในท้อง
10. โรคจอประสาทตาหลุดลอก
เกิดขึ้นเมื่อจอประสาทตาหลุดลอกออกจากเนื้อเยื่อลูกตา จึงทำให้จอประสาทตาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษาก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการนำของโรคนี้ ได้แก่ อาการมองเห็นแสงฟ้าแลบคล้ายไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป มีสิ่งบดบังในการมองเห็นมองเห็นเหมือนมีอะไรลอยไปมา มองเห็นเป็นจุด หรือใยแมงมุม
การมองเห็นมีเงาคล้ายผ้าม่านมาปิด หรือเหมือนน้ำท่วมที่ค่อย ๆ สูงขึ้น การมองเห็นเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เป็นอาการที่รุนแรง และส่งผลต่อการมองเห็นได้ต้องรีบเข้ารับการรักษา
11. โรคกระจกตาย้วย หรือกระจกตาโก่ง (Keratoconus)
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างภายในกระจกตา ทำให้กระจกตาบาง และโก่งออก ส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติ มีสายตาสั้น สายตาเอียง ความสามารถในการมองเห็นลดลง โรคนี้มักพบในช่วงผู้ที่อายุน้อย และเชื่อว่าเกิดจากการขยี้ตา
โรคมักจะมีอาการรุนแรงที่สุดในช่วง อายุ 20 – 39 ปี ในบางรายอาจใช้เวลาหลายสิบปีจึงจะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรทำการแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ เพราะจะทำให้โรคดำเนินมากขึ้น
ใครบ้าง .. ที่ควรตรวจสุขภาพตาประจำปี
- ผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะผ่านการแก้ไขสายตาผิดปกติ หรือไม่ก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย 2 ปีต่อ 1 ครั้ง
- ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางตา
- ในเด็กเล็ก ควรตรวจก่อนเข้าโรงเรียน
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ เพราะใช้งานหนักในทุก ๆ วัน ตั้งแต่ตื่น จนถึงเข้านอน เพื่อให้ดวงตามีสุขภาพที่ดีอยู่กับเราไปอีกนาน อย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยดูแล เพราะอาจจะสายเกินแก้ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคตาบอดสี เป็นอย่างไร ทำอย่างไรเมื่อสีแดงดูเหมือนสีน้ำตาล
ตาแดง โรคตาแดงมีอาการเป็นอย่างไร สาเหตุการเกิดโรคตาแดงมาจากอะไร พร้อมวิธีรักษา
โรคตาในเด็ก และโรคตาของผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงอายุมีอะไรบ้าง
ที่มา : bangkokhospital , lasikthai
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!