คุณพ่อคุณแม่ จริง ๆ แล้วเราเข้าใจกันดีอยู่แล้วละว่า เหตุผลยอดฮิต ว่าทำไมลูกถึงชอบงอแง แน่นอนทฤษฎีเราแน่นปึ๊ก ลูกจะร้องงอแงแบบไหน เรารับได้หมด แต่พอมาถึงวิธีปฏิบัติ โอ้โห … เรียกได้ว่า ชักแม่น้ำทั้งห้าเข้ามารวมกันแล้ว ลูกก็ยังไม่หยุด จนบางทีเราก็เผลอลืมไปว่า ที่ลูกงอแงมันมีสาเหตุด้วยกันทั้งสิ้น และนี่แหละ คือ เหตุผลยอดฮิต ทำไมลูกถึงชอบงอแงของลูก ๆ ละ
รับมือกับเด็กร้องไห้อย่างไร ร้องไห้แบบไหนถึงผิดปกติ
การร้องไห้ของทารกอาจเป็นเรื่องกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะครอบครัวมือใหม่ที่ต้องรับมือกับเสียงร้องโยเยของเจ้าตัวน้อย แต่รู้หรือไม่ว่าการร้องไห้ของทารกเป็นอีกวิธีการสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่คล้ายกับการพูดของผู้ใหญ่ พ่อแม่ควรตระหนักว่าการร้องไห้แบบไหนซ่อนความหมายอะไรไว้ หรือร้องไห้แบบไหนที่ส่งสัญญาณความผิดปกติ พร้อมรับมือแก้ไขได้อย่างถูกจุดเด็กทารกยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดว่าต้องการอะไร จึงบอกออกมานัย ๆ ด้วยการร้องไห้ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเกิดสิ่งผิดปกติขึ้นหรือต้องการอะไร เหตุผลที่ทารกร้องไห้อาจมาจากสาเหตุ ดังนี้
1. ลูกรู้สึกหิว
คุณพ่อคุณแม่อาจจะบอกว่า อะไรกัน เมื่อกี้ก็เพิ่งทานไป หิวอีกแล้วอย่างนั้นเหรอ ใช่เด็ก ๆ ลูกหิวบ่อย ยิ่งเด็กทารกด้วยแล้ว เด็กบางคนหิวทุก ๆ ชั่วโมงก็มีเรื่องพื้นฐานที่ทารกร้องไห้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด เนื่องจากมีกระเพาะอาหารที่มีขนาดเล็ก อิ่มไว แม้คุณแม่จะเพิ่งให้นมไปไม่นาน อีก 2 ชั่วโมงถัดมาก็อาจหิวขึ้นมาใหม่ หากมองนาฬิกาแล้วเวลาผ่านไป 3-4 ชั่วโมงจากการให้นมครั้งล่าสุดน่าจะเป็นเวลาที่เด็กเริ่มร้องหิวนม คุณแม่ลองให้นมกับทารกก็อาจช่วยให้หยุดร้องได้
2. ลูกเหนื่อย
ทารกอาจเพียงแค่ต้องการนอน เพราะรู้สึกเหนื่อยล้าและเพลียเท่านั้นเอง ลองสังเกตดูว่าเจ้าตัวน้อยร้องไห้ มีท่าทีไม่สนใจของเล่นหรือสิ่งรอบตัว ตาปรือบางครั้ง หรือหาวบ่อย ๆ บ้างหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถึงเวลาต้องให้เด็กได้งีบหลับสักหน่อยบางทีเวลาเราพาลูกไปไหนมาไหน เราอาจจะรู้สึกว่า โอ้ย..ลูกฉันสนุก ร่าเริง และดูไม่เหนื่อยเลย แต่พอผ่านไปไม่นาน ลูกเริ่มมีทีท่ากระวนกระวาย อยู่ไม่สุข จนในที่สุดก็ร้องไห้ออกมา นั่นไม่ใช่เพราะอะไรหรอก แต่เป็นเพราะลูกรู้สึกเหนื่อยล้า และคิดถึงบ้านนั่นเอง
3. ก็แค่อยากร้อง หรือร้องโดยไม่มีเหตุผล
คุณพ่อคุณแม่ต้องเคยเจอแน่ ๆ นั่งเล่น นั่งหัวเราะกันอยู่ดี ๆ อ้าวหันไปอีกที ร้องชักดิ้นชักงอ หน้าดำหน้าแดงอยู่ที่พื้นเสียแล้ว … คุณอาจจะคิดว่า ลูกงอแงโดยไม่มีเหตุผลก็ได้ แต่เชื่อเถอะ สิ่งที่ลูกทำนั้นล้วนมีเหตุผล ค่อย ๆ ปลอบขวัญลูก และหาเหตุผลกันว่าทำไม จู่ ๆ เขาถึงร้องไห้ออกมาแบบนั้น ไม่นานเราก็จะทราบเหตุผลและแก้ไขได้ถูกต้อง
4. ร้องเพราะโคลิคหรือปวดเนื้อตัว
สาเหตุที่ลูกร้องนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากอาการโคลิคก็เป็นได้ วิธีแก้ก็คือ ให้กอดลูกไว้ คอยอยู่ใกล้ชิดลูกค่อย ๆ กล่อม และปลอบเขา ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร อย่าหงุดหงิด เพราะลูกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นกัน
เด็กร้องไห้แบบไหนถึงเป็นโคลิค ?
อาการโคลิคเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน เด็กจะร้องไห้มากและร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงภายในวันเดียวโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางครั้งเด็กอาจร้องไห้ในลักษณะนี้ติดต่อกันหลายวันเป็นสัปดาห์ แต่จู่ ๆ ก็มักหยุดร้องทันทีทันใด คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องสังเกตด้วยว่าการร้องไห้ของลูกน้อยนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ เช่น หิวนม ไม่สบายตัว อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการโคลิคนั้น บ้างเชื่อว่าเด็กรู้สึกไม่สบายตัวจากการทำงานของระบบย่อยอาหาร แต่จริง ๆ แล้วก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และวิธีการดูแลเด็กที่มีอาการโคลิคก็ยังแตกต่างกันออกไป แต่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดสถานการณ์ดังนี้
- เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ยอมหยุด
- เด็กไม่ยอมดื่มนมตามปกติ หรือดื่มได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปกติ
- ไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ผิวคล้ำหรือซีด
- คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปลอบให้เด็กสงบลงได้จนเริ่มมีความรู้สึกในแง่ลบต่อลูก
- ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแย่ลงจากการที่ลูกร้องไห้
นอกจากนี้ หากคุณแม่คนไหนมีความกังวลเกี่ยวกับอาการโคลิคและความผิดปกติของลูกน้อย ควรปรึกษาแพทย์
5. ลูกเบื่อ
ทารกอาจอยู่ในสภาวะที่มีสิ่งรบกวนหรือกระตุ้นมากเกินไป เช่น อยู่ในห้องที่เสียงดัง คนรุมล้อมจะเล่นด้วย เสียงดนตรีดัง ทำให้ทารกรู้สึกถึงสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มากเกินไปก็อาจทำให้เริ่มร้องโยเยเพื่อหาสถานที่เงียบสงบมากกว่า การพาเด็กออกจากสถานที่ที่มีเสียงอึกทึกโครมครามจะช่วยให้เด็กรู้สึกดีขึ้นได้ขนาดเรายังรู้สึกเบื่อเลย หากทำอะไรนาน ๆ แล้วทำไมลูกถึงจะรู้สึกบ้างไม่ได้ ดังนั้นวิธีแก้ไข ก็ง่าย ๆ เลย ให้หากิจกรรมที่น่าสนใจให้ลูกทำ อาจจะเปิดเพลงร้องเพลงเต้นรำไปกับลูก หรือชวนลูกวาดภาพระบายสีก็ได้
6. ลูกรู้สึกไม่สบายตัว
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อากาศอาจร้อนหรือหนาวเกินไป ความเปียกชื้นของผ้าอ้อม ทำให้ทารกเกิดความไม่สบายตัวได้ จึงพยายามร้องเพื่อบอกให้คุณแม่ช่วยพาออกไปจากสถานการณ์เหล่านี้ คุณแม่อาจลองเช็คอุณหภูมิห้องว่าเปิดแอร์เย็นเกินไปหรืออากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเทหรือไม่ รวมไปถึงเสื้อผ้าที่เด็กใส่ทำให้เด็กอึดอัดหรือไม่การที่ลูกไม่สบายตัวนั้น อาจจะเป็นเพราะลูกรู้สึกร้อนหรือหนาวจนเกินไป มีผดผื่นขึ้น หรือบางทีการที่ลูกงอแงอาจจะมีผลมาจากผ้าอ้อมที่อยู่ที่ก้นลูกนั้นชุ่มฉ่ำจนลูกรู้สึกไม่สบายตัวก็เป็นได้
7.อยากให้อุ้ม
ความอบอุ่นจากสายใยแม่ถึงลูกเป็นสิ่งที่ทารกสัมผัสได้ บางครั้งการร้องไห้ของทารกก็เพียงต้องการให้แม่โอบกอดและสัมผัสทางกาย เพื่อความรู้สึกอุ่นใจ
8.รู้สึกกลัว
เด็กทารกอาจร้องไห้จากความกลัวหรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เช่น คนแปลกหน้าที่อุ้มทำให้เด็กสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แตกต่างจากพ่อหรือแม่ที่เคยอุ้มพวกเขา ทำให้ทารกอยู่ในความรู้สึกกลัว จึงร้องไห้ออกมา
เหตุผลยอดฮิต ว่าทำไมลูกถึงชอบงอแง
9.สภาพแวดล้อมใหม่
ทารกแรกเกิดไม่คุ้นชินกับสภาวะหลังออกมาจากท้องแม่ เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกและบุคคลในครอบครัวทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ จึงต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการปรับตัวให้ชินมากขึ้น
10.เจ็บป่วย
เด็กทารกอาจร้องไห้เพราะเกิดอาการเจ็บ มีบาดแผล หรือมีอาการป่วย เช่น ท้องอืด เป็นไข้ ตัวร้อน เหมือนกับเด็กโตหรือผู้ใหญได้เช่นกัน ทำให้ร่างกายไม่เป็นปกติ จึงแผดเสียงร้องไห้ไม่ยอมหยุด คุณแม่อาจลองตรวจดูตามร่างกายว่าเกิดแผล สิ่งผิดปกติ หรือมีอาการป่วยจนต้องไปหาหมอหรือไม่ เพราะร่างกายเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ การรู้ว่าลูกเริ่มมีอาการป่วยหรือผิดปกติจะช่วยให้หายเร็วขึ้น ในบางครั้งการร้องไห้ของเด็กอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางการแพทย์ เด็กอาจร้องไห้เพื่อสื่อสารกับผู้ดูแลว่าเกิดความไม่สบายตัว พ่อแม่สามารถปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลเด็กเมื่อเกิดความกังวลขึ้น แต่ไม่ควรซื้อยามาป้อนให้เด็กรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เด็กป่วยมากขึ้น ง่วงนอนตลอดทั้งวัน หรือรบกวนการกินนมของเด็ก
ลองสังเกตกันดูว่า ที่กล่าวมาแล้วใช่เหตุผลที่ลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ร้องไห้กันหรือเปล่า
ข้อพึงระวังในการดูแลเด็ก
- การร้องไห้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถี่และเป็นปกติของทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุ 4 เดือน
- การร้องไห้ของทารกแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนอาจร้องไห้นานกว่าเด็กอีกคน
- พยายามตอบสนองอย่างอ่อนโยนต่อสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดความไม่สบายตัวขึ้น
- ห่างจากเด็กในบางช่วงเวลาหรือหาเวลางีบกลางวัน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนบ้าง
- ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนและครอบครัวให้ดูแลลูกน้อยเป็นครั้งคราว
- เด็กจะค่อย ๆ ร้องไห้น้อยลงเมื่อโตขึ้น
การเขย่าตัวเด็กอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสมองและความพิการไปตลอดชีวิตได้
เทคนิคพิชิตเด็กร้องไห้
พ่อแม่แต่ละคนอาจมีวิธีปลอบเจ้าตัวน้อยที่แตกต่างกันออกไป เพราะทารกแต่ละคนย่อมชอบวิธีการปลอบที่ไม่เหมือนกัน หากลองแก้ไขตามสถานการณ์ที่กล่าวมาแล้วยังไม่ได้ผล อาจลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้
- กล่อมด้วยการอุ้มแล้วโยกไปมาเบา ๆ เป็นการอุ้มทารกพร้อมโยกเบา ๆ อาจช่วยให้สงบลงได้ คุณแม่อาจลองอุ้มนั่งบนเก้าอี้โยกไปมา แกว่งไปมาเบา ๆ ขณะเดิน หรือแม้แต่วางลงในเปลแล้วแกว่งไปมา
- ใช้เสียงเพลงแบบไวท์ นอยซ์ การลองเลียนแบบเสียงเล็กเสียงน้อยคุยกับเด็กหรือเลือกใช้โทนเสียงที่เรียกว่า ไวท์ นอยซ์ (White Noise) ซึ่งเป็นเสียงที่ราบเรียบ มีความถี่สม่ำเสมอ (คล้ายกับเสียงของไดร์เป่าผม เครื่องซักผ้า พัดลม เสียงฝน) เนื่องจากขณะที่เด็กอยู่ในท้องจะคุ้นเคยกับเสียงในลักษณะนี้ คล้าย ๆ กับเสียงเต้นของหัวใจแม่มานานตลอดช่วงเวลาอยู่ในครรภ์ การพยายามเลียนแบบให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศเดิมอาจช่วยให้เด็กเคลิ้มหลับหรือเงียบลงได้ ในปัจจุบันสามารถหาซื้ออุปกรณ์ที่ให้เสียงไวท์ นอยซ์อย่างซีดีหรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นไวท์ นอยซ์ในสมาร์ทโฟนมาเปิดให้เด็กฟังได้
- เปลี่ยนท่าทางขณะให้นม ทารกบางคนอาจร้องไห้ขณะดูดนมหรือหลังอิ่ม เนื่องจากการอุ้มในลักษณะที่ทำให้เด็กไม่สบายตัว อาจลองปรับท่าทางการอุ้มเด็กให้ผ่อนคลายและไม่เกร็ง คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลถึงการอุ้มลูกอย่างถูกวิธีได้ รวมไปถึงคุณแม่ควรมีการอุ้มให้ลูกเรอหลังการกินนม โดยการอุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลัง เพื่อไล่ลมออกจากท้องและยังช่วยป้องกันท้องอืด
- ดึงดูดความสนใจเด็ก การพาเด็กออกไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมอะไรใหม่ ๆ หลังจากการร้องไห้ เช่น ออกไปเดินนอกบ้าน เต้นหรือร้องเพลงให้เด็กฟัง เพื่อดึงดูดความสนใจจากการร้องไห้ ก็อาจช่วยเปลี่ยนอารมณ์เด็กให้ดีขึ้นได้
- ร้องเพลง คุณแม่อาจฮัมเพลงเบา ๆ ในจังหวะที่เคยร้องให้ลูกฟัง คลอไประหว่างการปลอบให้เด็กหยุดร้อง ทารกมักคุ้นเคยและชอบที่จะได้ยินเสียงของแม่ นอกจากนี้ทารกก็มักจะชอบเสียงเพลงเหมือนกัน คุณแม่หรือคุณพ่ออาจลองเปิดเพลงหลากหลายแนว เพื่อหาสไตล์เพลงที่ทำให้เด็กรู้สึกสงบลงเมื่อได้ฟังก็อาจเป็นอีกตัวช่วยที่ดีในการกล่อมเด็กร้องไห้ให้เงียบลงได้
ปรับตนเองอย่างไรไม่ให้หัวเสียเมื่อลูกร้องไห้ ?
เด็กที่ร้องไห้งอแงอาจทำให้พ่อแม่หลายคนฟิวส์ขาดเอาได้ง่าย ๆ เพราะไม่รู้ต้องทำอย่างไรให้เด็กหยุดร้อง พ่อแม่จำเป็นต้องรู้จักควบคุมตนเองเช่นกัน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น หากเริ่มรู้สึกหงุดหงิด คุณแม่อาจขอความช่วยเหลือให้คุณพ่อหรือญาติพี่น้องช่วยดูแลแทนให้ชั่วครู่ เพื่อจะได้พักก่อนกลับมารับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น พยายามใจเย็นและเข้าใจถึงสถานการณ์ว่าการร้องไห้เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของเด็ก เมื่อเด็กโตขึ้นจะเริ่มร้องไห้น้อยลง นอกจากนี้การดูแลตนเองให้อยู่ในสภาพพร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ไม่ปล่อยให้ตนเองหิวหรือนอนหลับไม่เพียงพอจนอาจโมโหลูกได้ง่าย
ในปัจจุบันมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกมากมายที่คอยให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหากับลูกน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงสายด่วนขององค์กร โรงพยาบาล หรือมูลนิธิ เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสายด่วนโรงพยาบาลเด็ก โทร. 1415
สิ่งสำคัญของพ่อแม่ในการปลอบเจ้าตัวน้อยให้หยุดร้อง คือ ต้องเรียนรู้ว่าวิธีไหนที่ใช้ได้ผลมากที่สุดและใช้ได้ในสถานการณ์ใดบ้าง เผื่อครั้งหน้าอาจใช้เป็นไม้ตายรับมือกับการร้องไห้ของเจ้าตัวยุ่งอย่างได้ผล เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
ที่มา: Mom Junction pobpad.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
สารพันความเชื่อเกี่ยวกับเด็กทารก
5 สาเหตุ ที่ทำให้ลูกเป็นเด็กเจ้าอารมณ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!