ลูกน้อยของคุณ กำลังมีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่หรือไม่? หรือมีผื่นคันที่ไม่ทราบสาเหตุ ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ถ้าใช่แล้วล่ะก็ มาทำความรู้จักแบบ เจาะลึก 10 ผดผื่น ที่มักเกิดกับเด็ก พร้อมวิธีดูแล กันดีกว่า ว่ามีผดผื่นแบบไหนบ้าง และเราจะสามารถดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัยจากผดผื่นเหล่านี้ได้อย่างไร
หากพูดถึงผื่นคันในเด็ก จัดว่าเป็นปัญหาของคุณแม่ในอันดับต้น ๆ เพราะเมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กมีอาการคันไม่สบายตัว ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน จนมีผดผื่น ตุ่มใสขึ้นตามบริเวณแก้ม คอ ข้อพับแขนขา ข้อมือ คนเป็นแม่อย่างเราเห็นแล้วก็คงเป็นห่วง และกังวลใช่หรือไม่ งั้นเรามา เจาะลึก 10 ผดผื่น ที่มักเกิดกับเด็ก พร้อมวิธีดูแล ว่าผดผื่นที่เป็น เป็นผดผื่นแบบไหน แล้วเราจะต้องใช้วิธีดูแลอย่างไรดี
ปกติแล้วเรามักเรียกตุ่มหรือผื่นแดงๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวว่า ‘ผดผื่น’ แต่ความจริงแล้ว ‘ผด’ กับ ‘ผื่น’ มีความแตกต่างที่อาการแสดงและสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองได้ นับว่าเป็นปัญหาผิวที่สามารถดูแลรักษาได้ไม่ยาก แต่หากเกิดปัญหาผดผื่นขึ้นในเด็ก จำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจและการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจากผู้ปกครอง รวมถึงแนวทางในการหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนได้อีก
ผด และ ผื่น ในเด็ก แตกต่างกันอย่างไร ?
“ผด” นิยมใช้กับลักษณะอาการแสดงที่เป็นเม็ดเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า ‘ผดร้อน’ ในขณะที่ ‘ผื่น’ มีสาเหตุที่แตกต่าง และอาการที่หลากหลาย เช่น ผื่นเม็ดเล็ก สาก แดง ผื่นนูนหนา ลักษณะเป็นปื้นขนาดเล็กใหญ่ หรือเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง เป็นต้น
- ผดร้อน (Heat rash) คืออะไร ผดร้อนในเด็ก เกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อ ซึ่งมักเกิดอาการในช่วงที่มีอากาศร้อน เพราะร่างกายต้องการระบายความร้อนด้วยเหงื่อ ผ่านทางท่อเหงื่อ แต่โครงสร้างผิวหนังของเด็กยังไม่สมบูรณ์ และ/หรือ มีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะเหงื่อออกมากจากกิจกรรมการเล่นของเด็ก อากาศร้อน
การทาสารให้ความชุ่มชื้นบนผิวหนังปริมาณมากเกินไป แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หนาเกินไป การห่อตัวเด็กเล็ก ก่อให้เกิดการอุดตันของท่อระบายเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง
ผดร้อน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามความลึกของชั้นผิวที่เกิด คือ
- ผดที่มีลักษณะเหมือนหยดน้ำขนาดเล็ก มีสีใส เกิดจากการอุดตันที่ผิวชั้นตื้น
- ผดที่มีลักษณะเป็นเม็ดสีแดงซึ่งจะเกิดจากการอุดตันที่ผิวหนังชั้นกำพร้า
- ผดที่มีลักษณะเหมือนตุ่มหนอง มักเกิดขึ้นในบริเวณชั้นผิวที่ลึกลงไป
บริเวณที่มักเกิดผดร้อนจะเป็นบริเวณผิวหนังที่มีท่อระบายเหงื่อจำนวนมาก เช่น หน้าผาก หน้าอก หลัง คอ ข้อพับ ขอบเอว และบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อย ๆ อาจพบอาการคันร่วมด้วย
- ผื่นคัน (Itching rash) ในเด็ก ผื่นคันในเด็กมีอาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผื่นเม็ดสีแดงขนาดเล็ก หรือเป็นปื้นผื่นขนาดใหญ่ขึ้นบนใบหน้า ตุ่มน้ำขนาดเล็ก ตุ่มหนอง เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้เกิด “ผื่นคัน” ซึ่งมีปัจจัยได้หลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ การแพ้สัมผัส การระคายเคือง ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น รวมไปถึง “ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis/ atopic eczema)”
ซึ่งสาเหตุเบื้องต้น อาจเกิดจากพันธุกรรมที่ทำให้โครงสร้างผิวหนังอ่อนแอ ผิวจึงแห้ง และขาดความชุ่มชื้นได้ง่าย อีกทั้งยังไวต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง สารระคายเคือง สารก่อการแพ้ เป็นต้น ซึ่งจากสถิติพบว่า ร้อยละ 90 ของเด็กที่มีภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการแสดงภายในอายุ 5 ปี และพบว่าส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงน้อยลงเมื่อได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และตามอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 17 ผดผื่นลูก
อาการบอกโรค
- ผื่นแดง
- แห้งเป็นขุย
- คันยุบยิบ
- เป็น ๆ หาย ๆ
- หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ
- คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก
- ยิ่งเกา ยิ่งคัน
จุดสังเกตตำแหน่งที่พบบ่อย
- แก้ม (ทารก)
- คอ
- ข้อพับแขน ขา
- ข้อเท้า
- หลังต้นขา
- หลังเท้า
ผดผื่นผิวหนังในเด็ก
เด็กแรกเกิดจนถึงวัยทารก หรือ ภูมิแพ้ผิวหนังวัยทารก (Infantile atopic dermatitis) จะมีผื่นขึ้น 1-2 เดือนแรก ส่วนมากพบบริเวณใบหน้า คาง ตามลำตัว แขน ขา หากมีอาการแพ้ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง มักจะมีการแพ้ของอาหารร่วมด้วย เช่น แพ้อาหารผ่านนมแม่ บางครั้งผื่นแพ้ก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผื่นคันชนิดอื่น เช่น ผื่นแพ้สัมผัส ผดร้อน เซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ที่จะพบตามบริเวณแก้ม คาง หัวคิ้ว ไรผม หนังศีรษะ ซอกหูแต่จะหายเองใน 4-6 เดือน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 5 เคล็ดลับ แก้ปัญหา “ลูกผิวแพ้ง่าย” วิธีทำให้ผิวลูกเนียนนุ่ม ไม่มีผดผื่นคัน
เจาะลึก 10 ผดผื่นผิวหนังในเด็ก
1. ผื่นแดง ETN
ETN ย่อมาจาก Erythema Toxicum Neonatorum ฟังชื่อดูยาก และคงอันตรายอยู่ แต่ที่จริง ผื่นชนิดนี้ เป็นเพียงแค่ผื่นแดงขนาดประมาณ 1 ถึง 3 ซม. เป็นตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองตรงกลาง ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร มักจะพบบนผิวทารกแรกเกิด บริเวณลำตัว แขนและขา ผื่นแดงชนิดนี้ไม่ต้องดูแลมากมายค่ะ ไม่อันตราย เกิดขึ้นชั่วคราวและหายเองใน 5 – 7 วัน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 2 อาทิตย์ค่ะ
วิธีการดูแล และป้องกัน
- เนื่องจากผื่นชนิดนี้ สามารถหายไปได้เอง แต่สามารถทิ้งบาดแผล และความน่ารำคาญได้ในช่วงที่เป็น ดังนั้นการทาผลิตภัณฑ์แก้คัน หรือลดการอักเสบของผิว ก็จะสามารถลดความน่ารำคาญที่เกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ
2. ผดร้อน (Miliaria Rubra)
ผดร้อนจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มน้ำใส มักพบบริเวณแผ่นหลัง และลำคอ มีอาการคัน พบในทารกที่โครงสร้างผิว และต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ผดร้อน ดังนั้น คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงนำคุณลูกไปในสถานที่ร้อน ๆ หรืออากาศไม่ถ่ายเทนะคะ อย่าให้คุณลูกอยู่ในที่ร้อน ที่ทำให้เหงื่อออก และควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ใส่สบาย ไม่ฟิตหรือรัดเกินไปค่ะ
วิธีการดูแล และป้องกัน
- อย่าให้ลูกน้อยร้อนมากจนเกินไป ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าเบาบาง ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย 100% เพราะจะช่วยดูดซับเหงื่อ และความชื้นได้ดีกว่าใยสังเคราะห์
- ในวันที่อากาศร้อน ๆ คุณพ่อ คุณแม่อาจจะอาบน้ำให้ลูกน้อยบ่อยขึ้น เพื่อช่วยระบายความร้อน และหมั่นรักษาความสะอาดผิว อยู่ในที่ที่มีลม และอากาศไหลเวียนได้สะดวก
- การห่อหุ้มตัวลูกน้อยมากจนเกินไป หรือใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ในเวลากลางคืน ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ไม่ได้เปิดแอร์ หรือพัดลม อากาศร้อน ๆ อาจจะยิ่งทำให้ต่อมเหงื่อของลูกน้อยทำงานหนัก ไม่สามารถระบายเหงื่อออกไปได้ เมื่อรูขุมขนอุดตันอาจทำให้ผื่นขึ้น จนผิวหนังอักเสบพุพองเป็นหนองได้ ฉะนั้นอย่างน้อยคุณพ่อ คุณแม่ควรเปิดพัดลมส่าย หรือเปิดแอร์ในอุณหภูมิ 25 องศา เพื่อให้ลูกน้อยสบายตัวกันนะคะ
- เมื่อจำเป็นต้องพาลูกน้อยออกไปข้างนอก อย่าให้ลูกน้อยถูกแสงแดดมากจนเกินไป หรือให้ลูกน้อยดื่มนมบ่อย ๆ เพื่อทดแทนการเสียเหงื่อ
- ให้ลูกน้อยสวมผ้าอ้อมแบบผ้าบ้าง เพื่อพักผิวที่อาจเกิดการอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจนทำให้เกิดผดผื่น เปลือยก้นให้ลูกได้รับลมบ้าง เพื่อลดโอกาสเกิดผดผื่นในหน้าร้อน
เลือกของใช้ให้ห่างไกลจากผดผื่น
- เลือกใช้สบู่สำหรับเด็กที่มีฤทธิ์เป็นกลาง หรือกรดอ่อน ๆ ไม่ผสมน้ำหอม
- ผงซักฟอกที่ใช้ในการซักผ้าให้ลูกน้อย ควรเลือกที่ไม่มีสารเคมีรุนแรง เพื่อให้สามารถล้างออกได้หมด เพราะถ้าเหงื่อตกค้างในเสื้อ ลูกน้อยจะมีโอกาสแพ้ได้ง่าย
- กางเกง ควรเลือกแบบที่เป้ากางเกงมีลักษณะกว้าง เพื่อให้ลูกน้อยไม่รู้สึกอึดอัด ถ้าต้องใส่ผ้าอ้อมเอาไว้ในกางเกงด้วย
3. ผดผื่นที่เกิดจากต่อมเหงื่อ (sweat duct)
เนื่องจากต่อมเหงื่อของเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการอุดตัน กลายเป็นผดผื่นได้ง่าย ซึ่งได้แก่ ผดใส ผดแดง และผดลึก ที่มักเกิดในฤดูร้อน ผดแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับ ความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ถ้าอุดตันที่ผิวหนังตื้น ก็จะเห็นเป็นผดใส ถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับกลางก็จะเห็นเป็นผดแดง และถ้าอุดตันที่ผิวหนังระดับล่าง ก็จะเป็นผดสีขุ่น
วิธีการดูแล และป้องกัน
การดูแลและป้องกันผื่นชนิดนี้ จะคล้ายกันกับผื่นร้อน ซึ่งอาการของเด็กจะเริ่มดีขึ้น เมื่อต่อมเหงื่อสามารถทำงานได้ดี และเป็นปกติ ช่วงระหว่างนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมีที่รุนแรงต่าง ๆ และให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่สบาย ไม่อึดอัด และเหมาะกับสภาพอากาศของที่บ้านนั่นเอง
4. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
ผื่น Eczema เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ต้องระวังค่ะ มักเริ่มจากอาการแดง คัน เป็นเม็ด มีตุ่มใส กรณีร้ายแรงอาจมีน้ำเหลือซึมออกมาด้วย ผิวส่วนที่เกิดการอักเสบจะหนากว่าบริเวณอื่น เมื่ออาการดีขึ้น หรือหาย ก็อาจกลับมาเป็นได้ใหม่อีก ดังนั้นหากลูกของคุณแม่มีอาการเข้าข่ายผื่นผิวหนังอักเสบควรปรึกษากุมารแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทาง
วิธีการดูแล และป้องกัน
- หากเป็นรุนแรง ผื่นน่ากลัว ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
- สังเกตสิ่งที่ทำให้ผื่นแพ้ของลูกน้อยเป็นมากขึ้น เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กระตุ้นการเกิดผดผื่นซ้ำ ๆ
- สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ให้ความชุ่มชื้น อ่อนโยน ลดการอักเสบของผิว และบรรเทาอาการคัน ก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : อากาศเปลี่ยนบ่อยลูกน้อยเป็นผื่นแพ้ง่าย มา ดูแลผิวลูกน้อยให้สดใสไร้ผดผื่น สไตล์แม่ผู้ไม่ยอมแพ้กันเถอะ
5. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
สาเหตุเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน พันธุกรรมจากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าและไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าเด็กทั่วไป หากเด็กเล็กได้รับพันธุกรรมผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมา ผิวหนังก็จะไว และแพ้ได้ ง่ายต่อสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม อาจแพ้อาหาร หรือแม้แต่เหงื่อของตัวเอง จึงทำให้เกิดผื่นขึ้นมา โดยจะพบกรณีนี้ประมาณ 14-15%
วิธีการดูแล และป้องกัน
- หากเป็นรุนแรง ผื่นน่ากลัว ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
- สังเกตสิ่งที่ทำให้ผื่นแพ้ของลูกน้อยเป็นมากขึ้น เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กระตุ้นการเกิดผดผื่นซ้ำ ๆ
- หากเกิดจากการแพ้อาหาร ตัวคุณแม่ที่ให้นมลูก จะต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ ผลกระทบไปเกิดกับตัวลูกของคุณเอง
6. ไขบนหนังศีรษะ (Cradle Cap)
ลักษณะผื่นเหลือง ๆ พบได้ตั้งแรกเกิด เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไขมัน โดยเฉพาะต่อมไขมันบนหนังศีรษะ หรือมีการอักเสบเกิดขึ้น มักพบบริเวณศีรษะ คิ้ว ใบหน้า ลักษณะคล้ายรังแค
วิธีการดูแล และป้องกัน
- ใช้ออยล์เช็ดคราบไขต่าง ๆ ออกก่อน
- สระผมลูกน้อยตามปกติด้วยแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยนเป็นพิเศษ แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง
- หากมีผื่นที่หน้า สามารถทาครีม โลชั่น สำหรับลดการอักเสบของผิว และต่อมไขมันหลังอาบน้ำเช้า-เย็น
7. สิวในเด็กทารก (Neonatal acne)
ทำไมลูกชั้นเป็นสิว สิวในทารกมีลักษณะเหมือนสิวผู้ใหญ่ คือ มีรอยแดง และตุ่มขาว มักเกิดบริเวณแก้ม หน้าผาก คอ หน้าอก ศรีษะ เชื่อกันว่าเกิดจากฮอร์โมนอิสโตรเจนของคุณแม่ที่ยังค้างอยู่ในตัวคุณลูกค่ะ ดังนั้นเมื่อผ่านไปสักระยะก็จะดีขึ้น และหายไปเอง แต่คุณแม่อย่ามันมือ แกะและบีบเชียวนะคะ ห้ามเด็ดขาด ให้ดูแลโดยใช้น้ำสะอาดล้างบริเวณที่เป็นสิว 2 – 3 ครั้ง/วัน แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้งทุกครั้งค่ะ
วิธีการดูแล และป้องกัน
- ห้ามแกะหรือบีบสิว อย่าให้ลูกเกา เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อตามมาได้
- ล้างทำความสะอาดบริเวณสิวด้วยแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยนเป็นพิเศษ
- หากอยากให้สิวลูกหายไวขึ้น สามารถทาครีม โลชั่น สำหรับเด็กทารก ที่อ่อนโยนกับสภาพผิวเด็ก และไม่มีสารปนเปื้อน ก็จะสามารถช่วยได้
8. ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis หรือ Nappy rash)
ผื่นนี้เกิดจากภาวะอับชื้น การเสียดสี หรือการใส่ผ้าอ้อมเป็นเวลานานเกินไป จึงเป็นในร่มผ้า บริเวณขาหนีบ อวัยเพศ หรือก้น คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตผ้าอ้อม และเปลี่ยนบ่อย ๆ นะคะ บางครั้งอาจต้องยอมให้คุณลูกเป็นชีเปลือยบ้างค่ะ และบรรเทาคัน ปวดแสบจากการเสียดสีด้วยผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการอักเสบ และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวก็สามารถช่วยได้ค่ะ
วิธีการดูแล และป้องกัน
- ควรเลือกผ้าอ้อมที่มีคุณภาพ และควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 2 ชั่วโมง หรือถ้าเด็กมีการขับถ่ายบ่อยควรเปลี่ยนให้บ่อยที่สุด
- ในขณะที่เปลี่ยนผ้าอ้อมลูกควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย และเช็ดให้แห้ง
- ถ้ามีผื่นชนิดนี้ขึ้นให้ใช้ครีมป้องกันอาการระคายเคือง แต่ถ้าอาการลุกลามควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
9. ผื่นแพ้กลากน้ำนม (Pityriasis Alba)
ลักษณะผื่นจะเป็นวงกลมหรือวงรี มีสีขาวจางกว่าผิวหนังปกติของลูก มีขุยบาง ๆ มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ และแขน พบได้ตั้งแต่แรกเกิด
วิธีการดูแล และป้องกัน
- ทาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้จำเป็นจะต้องอ่อนโยนเหมาะสำหรับผิวเด็กทารกโดยเฉพาะค่ะ
- หลีกเลี่ยงการพาลูกถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ
- ไม่อาบน้ำล้างหน้าให้ลูกบ่อยจนเกินไป อาบแค่เช้า และเย็น เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้ง และระคายเคืองได้
10. ผื่นลมพิษ (Urticaria)
จะมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง มีขอบนูนชัดเจน จะเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคัน ยิ่งถ้าลูกเกาก็จะยิ่งกระตุ้นให้มีผื่นมากขึ้น และคันมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ลำไส้อักเสบ หรือเกิดจากการแพ้อาหาร และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
วิธีการดูแล และป้องกัน
- คุณแม่ควรจะระวังเรื่องอาหาร หรือยาที่รับประทาน หากจะต้องให้นมบุตร เพราะน้ำนมอาจจะเป็นตัวไปกระตุ้นลูกให้เกิดผื่นเหล่านี้ก็เป็นได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ทาบำรุงผิวสำหรับเด็ก ที่ช่วยเรื่องลดการอักเสบ อาการคัน และให้ความชุ่มชื้นกับผิวเด็ก
วิธีการดูแลรักษา ผดร้อน และ ผื่นเด็ก
- สังเกต และหลีกเลี่ยงสาเหตุ เมื่อดูจากสาเหตุของ “ผดร้อน” จะพบว่ามีความแตกต่างกับ “ผื่นเด็ก” ดังนั้นคุณแม่ผู้ปกครองจึงควรจัดการกับ “ผดร้อน” และ “ผื่นคัน” ให้ถูกต้อง
โดยควรจัดการโดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุการเกิด เช่น การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนชื้นเกินไป สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล และหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยเฉพาะหลังจากการอุจจาระ หรือปัสสาวะ เพื่อไม่ให้อับชื้น
- เสริมเกราะปกป้องให้ผิวแข็งแรง และชุ่มชื้นเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของเด็ก ด้วยครีมที่มีส่วนประกอบของสารสำคัญ เช่น เซรามายด์ (Ceramide) ที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ชั้นผิวหนัง และสารลิโคชาลโคน เอ (Licochalcone A) ที่สามารถช่วยลดอาการอักเสบ และการระคายเคืองของผิว การทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังยังเป็นการป้องกันการกำเริบของผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ โอเมก้า 3 และ 6 ที่มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นกลับคืนสู่ผิวของเด็กได้เป็นอย่างดี
- เลือกผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ใช้ครีมบำรุง หรือผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังสำหรับเด็กโดยเฉพาะ สูตรอ่อนโยน ใช้เป็นประจำเพื่อเสริมความแข็งแรงของผิวหนังตามธรรมชาติ และควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ รับรองว่าไม่ทำให้แพ้หรือระคายเคืองผิวได้ง่าย
ที่มา : phyathai-sriracha , bpk9internationalhospital , (C) , catonvacations
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!