หยุดเปรียบเทียบลูก หยุดสร้างบาดแผลในใจ
หยุดเปรียบเทียบลูก กับเพื่อนลูก กับพี่น้อง หรือกับเด็กอื่นๆ เพราะความต้องการของพ่อแม่ เนื่องจากการพูดเปรียบเทียบบุตรหลานเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มักจะถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้งของพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อต้องการอยากให้ลูกหลานทำ หรือเป็นอย่างที่ต้องการ เพียงเพราะความรู้สึกปรารถนาดี อยากให้ลูกเห็นต้นแบบดีๆ บ้าง ความคาดหวังอยู่ลึกๆ ต่อลูกหลาน อยากให้มีพฤติกรรมที่ดีๆ บ้าง หรืออาจมาพร้อมความรู้สึกโกรธ โมโห เพราะลูกหลานไม่ได้ดั่งใจบ้าง เช่น
- “เรียนเก่งๆ ให้ได้อย่างพี่เขาสิ”
- “ทำแต่เรื่องปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน ทำไมไม่ทำตัวน่ารักแบบน้องบ้าง”
- “ลูกบ้านโน้นเก่งจัง เก่งกว่าลูกอีก”
- “หัดทำตัวดีๆ เหมือนลูกข้างบ้านได้ไหม”
ซึ่งคำพูดเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นความหวังดีของพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ลึกๆ แต่ผลกระทบกลับยิ่งใหญ่นักต่อหัวใจของเด็ก ๆ มากมายอย่างคาดไม่ถึงค่ะ
พูดเปรียบเทียบส่งผลกระทำต่อลูกอย่างไร
- ลูกจะรู้สึกแย่กับตนเอง เพราะคำพูดของผู้ใหญ่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อน เมื่อเด็กได้รับฟังอยู่ทุกวัน เขาก็จะรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี ไม่มีความสามารถทำได้เหมือนคนอื่น ทำให้รู้สึกด้อยค่า มองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตนเอง นานวันเข้าจะไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจว่าตนจะทำได้สำเร็จ
- ลูกจะรู้สึกโกรธ อิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน รุนแรง ก้าวร้าวตอบโต้กลับไป มีน้อยมากที่อาจจะฮึดสู้กับคำพูดเปรียบเทียบของผู้ใหญ่ และกลายเป็นแรงผลักดันในการทำสิ่งที่ดีๆ เพราะส่วนใหญ่เด็กๆ มักจะทำในทางตรงกันข้าม คือทำสิ่งที่ไม่ดีตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสะใจที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันภายในครอบครัว
หยุดเปรียบเทียบลูก
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อกระตุ้นลูก
พ่อแม่ต้องรู้จักลูกของตัวเองให้ดีพอ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความเป็นตัวเองแตกต่างกันไป ทั้งหน้าตา ท่าทาง พฤติกรรมการแสดงออก รวมทั้งศักยภาพและความสามารถ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกเราดีด้านไหนก็ควรสนับสนุนด้านนั้นค่ะ แต่ควรทำดังต่อไปนี้
- เลิกเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือ เด็กคนอื่น
- ค้นหาศักยภาพในตัวลูกแต่ละคน และเปิดโอกาสให้ศักยภาพเหล่านั้นได้แสดงออกอย่างเต็มที่ เช่น ลูกคนสุดท้องชอบทำอาหาร ลูกคนโตชอบการทดลอง ชอบเรียนวิทยาศาสตร์
- สนับสนุน และช่วยพัฒนาจุดอ่อนที่ยังต้องฝึกฝนไปพร้อมกับลูก โดยที่พ่อแม่ชี้ให้ลูกเห็นว่า จุดนี้เราต้องพยายามเพิ่ม เพราะอะไร ไม่ใช่เพื่อให้เท่าเทียมกับใคร
- สอนให้ลูกมีจุดพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี และให้ลูกได้รู้จักสร้างแรงบันดาลใจที่จะก้าวต่อไปด้วยแรงที่มาจากข้างในตัวเอง ไม่ใช่มีคนอื่นเป็นเครื่องวัดตัวเรา
- ให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกพยายามทำ อาจจะพูดว่า “แม่ภูมิใจมากเลย ที่ลูกพยายามทำการบ้าน แม้มันจะยากอยู่บ้างนะ แต่ลูกก็ยังไม่ท้อถอย” เพราะจะทำให้ลูกน้อยมีขวัญกำลังใจดีจะเห็นคุณค่าในตนเองสูง มีความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือเชื่อฟัง มีความพยายามทำสิ่งใหม่ๆ และมีความรับผิดชอบ
- ให้การชื่นชมในสิ่งที่เด็กเป็น ในสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ดี แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่พ่อแม่สามารถจับสิ่งเหล่านั้นมาพูดได้ เช่น “ดีมากเลยลูก ที่ลูกเป็นเพื่อนเล่นกับน้อง หนูเป็นพี่สาวที่น่ารักมากเลย”
แค่คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ของพ่อแม่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงลูกน้อยได้แล้วค่ะ และหากพ่อแม่รักและหวังดีกับลูกจริงๆ ก็ควรรักในสิ่งที่ลูกเป็นไม่ใช่สิ่งที่อยากให้ลูกเป็น เพราะไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบหรอกจริงไหมค่ะ
ที่มา: thaichildrights
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ดื้อต่อต้าน โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หากลูกเกิน 3 ขวบแล้วยังเป็นอย่างนี้ ใช่เลย!
เห็นลูกดื้ออย่าเพิ่งดุอย่าเพิ่งด่า วิจัยบอกว่าเด็กดื้อจะประสบความสำเร็จมากกว่าเมื่อโตขึ้น
วิธีเลี้ยงเด็กยุคใหม่ พ่อแม่ต้องทำไงไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อด้าน..ไม่รู้จักโต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!