วิธีเล่นกับลูกวัย 0 – 3 เดือน นั้น คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องการของเล่นสักเท่าไหร่ เพราะสำหรับเด็กวัยนี้ ของเล่นชิ้นที่ดีที่สุด และคุ้มค่ามากที่สุดนั่นก็คือ ตัวคุณพ่อ คุณแม่นั่นเอง
วิธีเล่นกับลูกวัย 0 – 3 เดือน เสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกฉลาด สมวัย
สำหรับเด็กทารกวัยต่ำกว่า 1 ปี ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านไม่แนะนำให้เด็กอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ หากจำเป็นต้องให้ลูกดูจริง ๆ พ่อแม่ก็ควรอยู่กับลูกด้วย อย่าปล่อยให้ลูกดูเพียงลำพัง และควรแบ่งเวลาให้ลูกทำกิจกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูก อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น ให้ลูกนอนคว่ำ ให้ลูกนั่งรถเข็น หรือนั่งเล่นบนเก้าอี้ประมาณ 1 ชั่วโมงก็ได้ นอกจากกิจกรรมเสริมพัฒนาการอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมปล่อยให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยเด็กที่มีอายุ 0 – 3 เดือน จะนอนประมาณ 14 – 17 ชั่วโมง ต่อวัน ส่วนเด็กอายุ 4 – 11 เดือน จะนอน 12 – 16 ชั่วโมง ต่อวัน
ลูกวัย 0 – 3 เดือน สามารถทำอะไรได้บ้าง
ลูกน้อยในวัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือน ค่อยเรียนรู้ที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจากศีรษะ ไปสู่แขนทั้งสองข้าง ลำตัว ช่วงขา และเท้า
ในช่วงแรก เด็กทารกจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งรอบตัว ตามสัญชาติญาณของพวกเขา อย่างเช่น เมื่อพ่อแม่จับแก้ม ลูกก็สามารถหันศีรษะไปด้านข้าง เพื่อตอบสนองต่อการกระทำนั้นได้ เป็นต้น การเคลื่อนไหวของลูกจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น และจะหันหน้าไปซ้าย – ขวา ขยับมือ และแขนได้ เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน
เด็กทารกแรกเกิดยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่แปลกตา สัมผัสที่แปลกใหม่ และอุณหภูมิที่แตกต่างไปจากท้องของแม่ สิ่งที่เด็กทารกในช่วงวัยนี้คุ้นเคยมากที่สุด ก็คือสัมผัสจากร่างกายของแม่ การเล่นกับลูกในวัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือนนี้ จึงเน้นไปที่การรับสัมผัสจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือเสียง ก็ช่วยให้ลูกปรับตัว และส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้เช่นเดียวกัน
ลูกน้อยในวัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือน ค่อยเรียนรู้ที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจากศีรษะ ไปสู่แขนทั้งสองข้าง ลำตัว ช่วงขา และเท้า
พ่อแม่เล่นกับลูก ผ่านเสียงเเละการสื่อสาร
การพูดคุยกับลูกคือวิธีการเล่นที่ดีที่สุด ถ้าคุณไม่รู้ว่าลูกรู้เรื่องหรือไม่ ลองทำตัวเป็นคุณเเม่จอมบ่น ใส่เเอคติ้งเยอะ ๆ หากคุณเเม่ลองอัดวิดีโอแสดงสีหน้า เเละท่าทางของตัวเองไว้ จะเห็นได้ว่า สีหน้าของคุณเเม่มีความหลากหลายมาก ท่าทางก็เช่นกัน เเต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เสียงของคุณเเม่นั่นแหละ ที่ลูกจะจดจำได้ เเต่ถ้าไม่ได้เป็นคนขี้บ่นสักเท่าไหร่ ลองทำเสียงอะไรก็ได้ ที่คิดว่าชีวิตนี้ คงไม่มีโอกาสทำให้ใครได้ฟัง ลูก ๆ น่ะ ชอบให้แม่ทำเสียงตลก ๆ ที่สุดเลยล่ะ
-
คุยกับลูกด้วยน้ำเสียงที่หลากหลาย
การพูดคุยกับลูกด้วยลักษณะพิเศษที่เรียกว่า parentese คือ การพูดด้วยโทนเสียงสูง เเละช้า เป็นน้ำเสียงที่พูดเกินจริง ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ฟังกันเอง มันอาจจะดูน่ารำคาญ หรือน่าหงุดหงิด เเต่เสียงแบบนี้ เป็นเสียงที่เด็ก ๆ ชื่นชอบเอามาก ๆ เเละที่สำคัญคือ ช่วยในทักษะด้านภาษาของลูกได้มากกว่าการที่คุณพ่อคุณเเม่พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงปกติอีกด้วย
เสียงเพลงเป็นภาษาของโลก และเป็นภาษาที่สามารถสื่อสารกับทารกได้ด้วยล่ะค่ะ ความสามารถในการแยกแยะจังหวะของทารกนั้น มีมาตั้งแต่ที่ลูกอยู่ในครรภ์ของมารดา ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 25 ของการตั้งครรภ์ และความสามารถนี้ก็ยังไม่หายไปไหน การร้องเพลงให้ลูกฟังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองเพิ่มโทนเสียงสูง ต่ำ เเละจังหวะเข้าไป เท่านี้ ลูกก็ชอบใจแล้ว และยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะภาษา และจังหวะให้กับลูกอีกด้วย ไม่แน่ว่า ลูกอาจจะเติบโตขึ้นมาเป็นนักร้อง นักดนตรีก็ได้นะคะ
การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือหนังสือใด ๆ ก็ตาม เป็นการเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับลูกอย่างมหาศาล เนื่องจากคำศัพท์ในหนังสือนั้น มีเยอะกว่าคำที่คุณพ่อคุณเเม่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงรูปแบบประโยค สำนวนภาษาต่าง ๆ เเละยังเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก ส่งผลต่อทักษะทางภาษา เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงอายุ 12 – 16 เดือน หรือเมื่อลูกเริ่มพูด คุณพ่อคุณแม่จะพบว่า สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมากเลยทีเดียว
เล่นกับลูกผ่านเสียง และการสื่อสาร ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา และสังคมให้กับลูก
พ่อแม่เล่นกับลูก ผ่านการสัมผัส
เเม้ว่าจะเป็นการจับ เพราะความหมั่นเขี้ยวมือ และเท้าน้อย ๆ ของลูกล้วน ๆ ก็นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง สัมผัสอบอุ่นระหว่างพ่อ แม่ ลูก จะช่วยให้ลูกได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ที่แตกต่างจากท้องแม่ได้ดีขึ้น เด็กทารกเพิ่งคลอด มักจะประสบปัญหาในการปรับอุณภูมิร่างกาย ที่แตกต่างจากในถุงน้ำคร่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนด การรับสัมผัส และความอบอุ่นจากอุณภูมิร่างกายของแม่ จะช่วยลูกทารกในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี (อ่านเพิ่มเติมได้ใน 9 ข้อดี ของการเลี้ยงลูกเเบบเนื้อเเนบเนื้อ)
-
ให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิว และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ
พื้นผิวอย่างใบหน้าของพ่อ แม่ ตุ๊กตานุ่มนิ่ม กระดาษทิชชู่ หรืออะไรก็ตามที่พอจะหาได้ และไม่ใช่ของเล่นอันตรายสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ลองสัมผัสพื้นผิวที่หลากหลาย เเม้ลูกอาจจะยังจับ หรือคว้าได้ไม่สะดวก เเต่พวกเขาก็สามารถใช้มือน้อย ๆ แตะ เพื่อสัมผัสที่แตกต่าง หรือ ใช้เท้าน้อย ๆ ของเขาลองเตะ ๆ ดู เพื่อฟังเสียงที่แปลกใหม่ก็ได้
-
รูปภาพที่สะท้อนในกระจกเงา
คุณพ่อคุณแม่จะต้องแปลกใจแน่ ๆ หากลองยื่นกระจกให้ลูกส่อง จะพบว่าลูกมีปฏิกิริยา และพยายามสื่อสารกับภาพสะท้อนพวกเขามองเห็น ทั้งการแสดงสีหน้าท่าทางต่าง ๆ ยิ้ม แลบลิ้น ส่งเสียงอ้อแอ้ ที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่ยิ้มไม่หยุดไปกับความน่ารักของลูก ๆ เป็นแน่
-
ดึงดูดความสนใจ ด้วยสีสันตรงกันข้าม
ความเเตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างสีที่ตรงกันข้ามนั้น ช่วยดึงความสนใจของเด็ก ๆ ได้ อย่างรูปภาพที่ไม่ต้องมีรายละเอียดเยอะ เเต่มีสีขาวกับสีดำ ซึ่งเป็นสีที่ตัดกัน เพราะเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้ จะยังมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนัก จึงยังไม่สามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ได้มาก สีที่ตัดกันจึงเป็นสิ่งที่เขาจะเห็นได้ง่ายที่สุด
การมองหน้าสบตา หรือหันหน้าเข้าหากันระหว่างคุณพ่อ คุณเเม่ กับลูก ก็เป็นของเล่นที่ลูกชอบใจ และทำให้พวกเขารู้สึกสนุกสนานได้ ไม่เพียงเท่านั้น การมองหน้า และสบตากัน ยังทำให้ลูกได้พัฒนาระบบประสาทสัมผัสต่าง ๆ อีกด้วย ปล่อยให้ลูกน้อยได้สำรวจใบหน้าของคุณพ่อ คุณแม่ ทั้งจมูก หู ตา ปาก เเก้ม เเล้วก็ลืมที่จะจุ๊บลูกบ่อย ๆ ในขณะที่เขาทำเเบบนี้ด้วยนะคะ
เล่นกับลูกผ่านการสัมผัสต่าง ๆ มอบความอบอุ่นไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูก
แม้ว่าจะงานยุ่งมากแค่ไหน ก็อย่าลืมแบ่งเวลาสักเล็กน้อยในแต่ละวัน มาพูดคุย และเล่นกับลูกนะคะ แล้วคุณจะพบว่าของเล่นที่ดี และมีค่ามากที่สุดสำหรับลูก ก็คือสัมผัสแห่งความรัก ความอบอุ่น และความใส่ใจจากพ่อแม่นั่นเอง
ที่มา : baby-brain , hellomotherhood
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 วิธี ช่วยลูกบอกลาของเน่าแบบไม่เสียน้ำตา
10 วิธี ช่วยลูกให้ได้คะเเนนดีๆ ในโรงเรียน
วิธีเล่นแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!