วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม

วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม ทำอย่างไร?
วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม
การบีบเต้า (Breast Compression) เป็นการเลียนแบบกลไกการหลั่งน้ำนม (letdown reflect) และช่วยกระตุ้นให้เกิดกลไกการหลั่งน้ำนมตามธรรมชาติ เพื่อให้น้ำนมยังคงไหลต่อไปเมื่อทารกหยุดดูดนมด้วยตัวเองหรือเมื่อทารกทำท่าดูดแต่ไม่ได้กินนม และช่วยให้ทารกยังสามารถกินนมต่อไปได้ วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม จะให้ผลค่อนข้างดีในช่วงวันแรกๆ ช่วยทำให้ทารกได้รับน้ำนมเหลือง (colostrum) มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการบีบเต้าจะมีประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้
- ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อย
- ต้องให้นมถี่ๆ หรือให้นมนานๆ
- ทารกมีอาการโคลิค
- คุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม
- ท่อน้ำนมอุดตัน
- กระตุ้นให้ทารกที่ชอบหลับคาอกในขณะที่ดูดนม ได้กินนมอย่างต่อเนื่อง
วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม ทำอย่างไร?
- อุ้มทารกด้วยแขนข้างหนึ่ง
- จับเต้านมด้วยมืออีกข้าง โดยนิ้วมืออยู่ค่อนข้างห่างจากหัวนม ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านหนึ่งของเต้านม และนิ้วอื่นๆอยู่ด้านตรงข้าม (หากนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านบนของเต้านมจะง่ายที่สุด)
- สังเกตการกินนมของทารก โดยทารกจะกินนมได้เยอะเมื่อเค้ากินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”
- เมื่อทารกเริ่มอมหัวนม และไม่ได้กินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” ให้เริ่มบีบเต้านม แต่อย่าบีบแรงมาก พยายามอย่าบีบจนลานนมเปลี่ยนรูปร่าง และอย่าคลึงนิ้วตามเต้านมไปหาทารก
- ค่อยๆบีบเต้านมไปเรื่อยๆจนกระทั่งลูกหยุดกินนม จากนั้นจึงคลายแรงบีบ โดยเหตุผลที่ต้องคลายแรงบีบก็เพื่อให้คุณแม่ได้พักมือ และได้ปล่อยให้น้ำนมเริ่มไหลให้ลูกอีกครั้ง หากลูกหยุดดูดนมตอนที่คุณแม่คลายแรงบีบ เขาจะเริ่มดูดอีกครั้งเมื่อน้ำนมเริ่มไหล
- ทำต่อเนื่องที่เต้านมข้างแรกต่อไป จนกระทั่งทารกไม่กินนมอีกแล้วแม้จะบีบหน้าอกช่วย คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ที่เต้าข้างนั้นต่อไปอีกสักครู่หนึ่ง เพราะบางทีน้ำนมของคุณแม่อาจจะยังคงมีกลไกการหลั่งค้างอยู่ และทารกก็อาจจะกินนมต่อได้
- ถ้าทารกยังต้องการกินนมต่อ สลับให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้าง และทำซ้ำตามขั้นตอนข้างบน โดยหากคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม คุณแม่ก็อาจจะให้ทารกกินนมสลับกันไปมาในลักษณะนี้ได้หลายครั้ง
- อย่าลืมว่า ให้ใช้การบีบเต้าช่วย เฉพาะเมื่อทารกทำท่าดูดแต่ไม่ได้กินนม
การบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม นั้นเป็นวิธีที่ใช้ได้ดี แต่หากว่าการให้นมเป็นไปด้วยดีอยู่แล้ว คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การบีบเต้าเช่นนี้เสมอหรือตลอดไป และสามารถปล่อยไปตามธรรมชาติได้ โดยคุณแม่ควรจะให้ลูกกินนมจากเต้านมข้างแรกจนเกลี้ยงเต้าก่อน และจึงให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่งนะครับ
ที่มา breastfeedingthai, Breastfeeding Information for Parents
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?
กลไกการดูดนมของลูก ที่จะทำให้คุณเข้าใจ ว่าทำไมลูกต้องดูดถึงลานนม