นมเกลี้ยงเต้า เป็นอย่างไร
นมเกลี้ยงเต้า เป็นอย่างไร: คำว่า นมเกลี้ยงเต้า เป็นคำที่คุณแม่ให้นมได้ยินกันบ่อยๆ เช่นต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หรือต้องให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้า ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ให้นมหลายท่านเข้าใจว่า นมเกลี้ยงเต้าคือการที่ลูกดูดนมจนหมดเกลี้ยงหรือปั๊มจนเกลี้ยงหมดเต้า
แต่จริงๆแล้ว ตราบใดที่คุณแม่ยังให้ลูกดูดนม หรือปั๊มนมอยู่นั้น จะไม่มีทางเกลี้ยงเต้าได้จริงๆ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่จะยังคงผลิตน้ำนมอยู่ตลอด คำว่านมเกลี้ยงเต้านั้น จึงหมายถึง การระบายจนน้ำนมส่วนใหญ่ออกจากเต้าเกือบหมดเท่านั้นเองครับ ไม่ใช่เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย
จะรู้ได้อย่างไรว่านมเกลี้ยงเต้า
วิธีการดูว่านมเกลี้ยงเต้าหรือไม่ สังเกตได้ดังนี้ครับ
- ก่อนให้ลูกดูดนมจะสังเกตได้ว่าเต้านมจะตึงมาก แต่หากคุณแม่บางท่านมีอาการตึงจนเจ็บ แบบนี้เรียกว่าเต้านมคัด
- หลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จ เต้านมจะนิ่มลง และอาการเจ็บก็จะหายไปด้วย
- หากคุณแม่ให้นมลองเอามือบีบเต้านม น้ำนมจะไม่พุ่งออกมามาก และจะมีน้ำนมออกมาเพียงแค่หยดสองหยดเท่านั้น
ทำไมต้องให้นมเกลี้ยงเต้า
น้ำนมแม่นั้น จะถูกผลิตมาเก็บไว้ในเต้านม และเมื่อพื้นที่เก็บเต็ม จะเกิดอาการคัดเต้า ซึ่งคุณแม่ต้องระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูดหรือปั๊มออก เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่ เพราะร่างกายเราจะผลิตน้ำนมตามน้ำนมที่ระบายออกมา ทั้งจากการปั๊มหรือการให้ลูกดูด ยิ่งระบายออกมากก็จะยิ่งผลิตมาก ถ้าระบายออกน้อย ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมน้อยตามไปด้วย
ให้ลูกดูดหรือใช้เครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่ากัน
การที่จะบอกว่าวิธีไหนเกลี้ยงเต้ามากกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับสถาณการณ์ครับ เพราะถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้พอดีกับความต้องการของลูก ลูกก็จะดูดได้มากกว่าเครื่องปั๊ม แต่ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าที่ลูกต้องการ ก็จะปั๊มนมออกมาได้มากกว่า เกลี้ยงเต้ากว่าการให้ลูกดูด
ถ้านมไม่เกลี้ยงเต้า จะเป็นอย่างไร
ถ้านมไม่เกลี้ยงเต้า เวลาลูกดูดจะทำให้ลูกได้รับน้ำนมส่วนหน้าที่มีไขมันน้อยและมีน้ำตาลมาก ซึ่งอาจจะทำให้ลูกท้องอืด หรือถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าปกติจนอาจจะคิดว่าลูกท้องเสีย
ส่วนคุณแม่ที่ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้าก็อาจทำให้เต้านมคัดหรืออาจทำให้มีก้อนแข็งๆอยู่ในเต้านมซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจเกิดการอักเสบได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงตัวเองระหว่างที่ต้องให้นมลูก เพราะอาหารที่แม่ทานก็ส่งผลต่อลูกผ่านทางน้ำนมได้นะครับ หากคุณแม่ท่านใดมีประสบการณ์ดีๆ ก็อย่าลืมนำมาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านท่านอื่นนะครับ
ที่มา breastfeedingthai.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
วิธีบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ แต่ละขั้นตอนทำอย่างไร
5 ปัญหาที่พบบ่อย เรื่องการปั๊มนมของคุณแม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!