ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กันด้วยนะคะ คุณแม่อาจจะเคยได้ยินคำถามนี้บ่อย ๆ ว่า ท้องได้กี่เดือนแล้ว ใกล้คลอดหรือยัง คุณแม่ทราบหรือไม่คะ ว่าต้องนับอายุครรภ์อย่างไรถึงจะถูกต้อง โดยการนับอายุครรภ์ แบบนับสัปดาห์นับกันอย่างไร มีวิธีการนับอย่างไรบ้าง ในวันนี้เรามีเกร็ดความรู้เรื่องวิธีการ นับอายุครรภ์ มาฝากคุณแม่ เรามาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ
นับอายุครรภ์ สำคัญอย่างไร
เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ การนับอายุครรภ์ ถือเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เมื่อคุณแม่ทราบอายุครรภ์นั้น จะสามารถบ่งบอกความสมบูรณ์ของเด็กที่อยู่ในครรภ์ได้ และช่วยให้แพทย์สามารถช่วยวินิจฉัย รวมถึงการวางแผนการตั้งครรภ์ กำหนดระยะเวลาในการคลอดแบบคร่าว ๆ ให้ทราบได้ และคุณแม่เอง ก็ยังสามารถทราบได้อีกว่า มีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้หาทางรักษาและแนวทางการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
นับอายุครรภ์อย่างไร การนับอายุครรภ์เป็นวีค
การตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด รวมทั้งหมด 40 สัปดาห์ หรือรวมเป็นจำนวนวันทั้งหมด 280 วัน โดยจะเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ได้เริ่มนับจากวันสุดท้ายของการมีประจำเดือน หรือนับวันที่ประจำเดือนจะมาแต่ไม่มา เช่น ประจำเดือนรอบที่มาล่าสุด คือ วันที่ 1 มิถุนายน และประจำเดือนวันสุดท้ายมาวันที่ 5 มิถุนายน กำหนดที่ประจำเดือนจะมาในครั้งต่อไปคือ วันที่ 28 – 29 มิถุนายน ดังนั้นประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้ายก็คือ วันที่ 1 มิถุนายน
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการคนท้องไตรมาสแรก ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
การคำนวณวันกำหนดคลอด
นำวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด บวกหนึ่งปี ลบสามเดือน และบวกอีกเจ็ดวัน ก็จะได้วันกำหนดคลอดแบบคร่าว ๆ
ตัวอย่างเช่น : วันมีประจำเดือนวันแรก (ของครั้งล่าสุด) = 8 พฤษภาคม 2552
- +1 ปี = 8 พฤษภาคม 2553
- -3 เดือน = 8 กุมภาพันธ์ 2553
- +7 วัน = 15 กุมภาพันธ์ 2553
วิธีการนับอายุครรภ์ หรือ คาดคะเนอายุครรภ์ มีประโยชน์ในการดูแล ประเมินสุขภาพ และพัฒนาการต่าง ๆ ของทารก ขณะตั้งครรภ์ให้ถูกต้องแม่นยำ นอกจากนั้นอายุครรภ์ยังใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดวันคลอด โดยไม่ปล่อยให้ตั้งครรภ์นานจนเกินกำหนด หรือ คลอดก่อนกำหนดค่ะ
อายุครรภ์ คือ อายุของเด็กที่ยังไม่คลอด นับตั้งแต่วันแรกของรอบเดือนสุดท้าย จนถึงคลอดโดยปกติใช้ระยะเวลา 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน ก็คือ วันคลอด
วิธีการนับการตั้งครรภ์ ดูอายุครรภ์ การคาดคะเนอายุครรภ์ มีหลายวิธี
-
วิธีการ นับอายุครรภ์ จากประวัติประจำเดือน
นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เป็นวันเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ กำหนดวันคลอดให้นับไปอีก 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน หรือใช้สูตรของ Naegale’s Rule คือ วันแรกของการมีประจำเดือนวันสุดท้าย (LMP) – 3 เดือน + 7 วัน
ตัวอย่าง วันแรกของการมีประจำเดือนวันสุดท้าย (LMP) คือ 1 ม.ค กำหนดวันคลอด คือ (1 ม.ค. – 3 เดือน ) + 7 วัน = 8 ต.ค
กรณีจำประจำเดือนไม่ได้ คุณหมอ หรือพยาบาลจะซักประวัติตามสถานการณ์ที่ใกล้เคียงเช่น วันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น เพื่อประมาณคร่าว ๆ ของอายุครรภ์
-
วิธีการนับอายุครรภ์ จากขนาดของยอดมดลูก
ใช้สัดส่วนของยอดมดลูก กับหน้าท้องหญิงตั้งครรภ์ วิธีวัดความสูงยอดมดลูกโดยการใช้สัดส่วนของยอดมดลูกกับหน้าท้องหญิงตั้งครรภ์ คุณหมอ หรือ ผู้เชี่ยวชาญจะคำนวณโดยแบ่งระยะระหว่างสะดือกับกระดูกหัวหน่าวเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน และแบ่งระยะระหว่างสะดือกับกระดูกลิ้นปี่เป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งความสูงของยอดมดลูกแต่ละช่วงอายุครรภ์ จะมีความสัมพันธ์กันดังนี้
-
- สัดส่วนของยอดมดลูกกับหน้าท้องมารดา
- อายุครรภ์12 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 2/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ระดับสะดือ
- อายุครรภ์24 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงกว่าระดับสะดือเล็กน้อย
- อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 1/4 เหนือระดับสะดือ
- อายุครรภ์32 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 2/4 เหนือระดับสะดือ
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 3/4 เหนือระดับสะดือ
หรือ อาจใช้การวัดระดับยอดมดลูก โดยใช้สายวัดทำได้โดยการวัดระยะจากรอยต่อของกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดมดลูก โดยแนบตามส่วนโค้งของมดลูก ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 18-30 สัปดาห์ ระยะที่วัดได้เป็นเซนติเมตร จะเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น หากวัดได้ 26 เซนติเมตร ก็จะเท่ากับอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ นั่นเอง
-
การนับอายุครรภ์ คำนวณจากที่แม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเป็นครั้งแรก
วิธีการนับอายุครรภ์ ให้นับจำนวนวันจากลูกดิ้นครั้งแรก (quickening) จนถึงวันที่ต้องการคำนวณ จะได้อายุครรภ์เป็นจำนวนวัน แล้วหารด้วย 7 จะได้อายุครรภ์เป็นจำนวนสัปดาห์จากนั้นบวกด้วยอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์สำหรับท้องแรก และบวกด้วยอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์สำหรับท้องหลัง แต่การคิดอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดจากประวัติลูกดิ้นครั้งแรกนี้ จะมีความคลาดเคลื่อนได้มาก ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว
-
คำนวณจากการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) วิธีนี้สามารถบอกอายุครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยจนถึงอายุครรภ์มาก ใช้สำหรับการคาดคะเนอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดที่มีความแม่นยำโดยเฉพาะเมื่อมีการตรวจหลายครั้งติดตามต่อเนื่อง
วิธี นับอายุครรภ์ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน และ ไตรมาส
โดยปกติแล้วอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน
-
ไตรมาสที่ 1
- เดือนที่ 1 คือ สัปดาห์ที่ 1-4
- เดือนที่ 2 คือ สัปดาห์ที่ 5-8
- เดือนที่3 คือ สัปดาห์ที่ 9-13
-
ไตรมาสที่ 2
- เดือนที่ 4 คือ สัปดาห์ที่ 14-17
- เดือนที่5 คือ สัปดาห์ที่ 18-21
- เดือนที่ 6 คือ สัปดาห์ที่ 22-26
-
ไตรมาสที่ 3
- เดือนที่ 7 คือ สัปดาห์ที่ 27-30
- เดือนที่ 8 คือ สัปดาห์ที่ 31-35
- เดือนที่9 คือ สัปดาห์ที่ 36-40
การตั้งครรภ์ปกติจะครบกำหนดคลอดเมื่ออายุครรภ์ 40 สัปดาห์หรือ 280 วันนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ถ้าตั้งครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ถือเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนดและการคลอดก่อน 37 สัปดาห์ถือเป็นการคลอดก่อนกำหนด
วิธี นับอายุครรภ์ และการคำนวณวันคลอดแบบถูกต้องแม่นยำ
วิธีนับอายุครรภ์ และการคำนวณวันคลอดแบบถูกต้องแม่นยำ ต้องนับอย่างไร เพราะแม่ท้องมักจะเจอคำถามที่ว่า ตอนนี้อายุครรภ์เท่าไหร่แล้ว และจะตั้งชื่อลูก ดูฤกษ์ไว้ก่อนได้ไหม แต่ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอายุครรภ์ของเราเท่าไหร่แล้ว
หลังจากว่าที่คุณแม่มือใหม่ได้ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง กับที่ตรวจครรภ์ และมีผลออกมาว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือบอกสามีถึงข่าวดีนี้ และพากันไปตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาล เพื่อจะได้ฝากครรภ์กับคุณหมอ ซึ่งการตรวจกับคุณหมอก็จะทำให้คุณแม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ในได้กี่สัปดาห์แล้ว สิ่งที่คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมคือ การรู้ว่าตัวเองมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เพื่อที่คุณหมอจะได้ใช้ในการคำนวณอายุครรภ์ให้ค่ะ
วิธีการ นับอายุครรภ์ (Gestational age)
เป็นการนับอายุของทารกในครรภ์ โดยที่คุณหมอจะเริ่มนับจากวันแรกที่คุณแม่เริ่มมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย คุณหมอจะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ และเศษของสัปดาห์เป็นวัน เช่น 8 สัปดาห์ 4 วัน ซึ่งจะเป็นการดีหากทุกครั้งที่มีประจำเดือนคุณควรที่จะจดลงบนปฏิทินประจำเดือนที่มาวันแรก และวันสุดท้ายของประจำเดือนที่มาทุกเดือน เพราะจะทำให้การคำนวณอายุครรภ์เป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
-
การนับอายุครรภ์ ทำให้ทราบถึงวันกำหนดคลอดของลูกน้อย
หลังจากที่คุณหมอตรวจร่างกายคุณแม่ด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และสอบถามเกี่ยวกับการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่แล้ว คุณหมอก็จะนับอายุครรภ์ด้วยการคำนวณวันกำหนดคลอด (Expected date of delivery หรือ EDD) นั่นคือการเอาวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย บวก 7 วัน ลบด้วย 3 เดือน ก็จะทราบได้ว่าวันกำหนดคลอดเมื่อไหร่
วิธีนับอายุครรภ์สามารถนับได้ 2 แบบ คือ
- วิธีนับอายุครรภ์จากประจำเดือน จะมากกว่าอายุของตัวอ่อนในครรภ์จริง ๆ (Ovulatory age) ประมาณ 2 สัปดาห์ สำหรับแม่ท้องที่มีประจำเดือนมาปกติสม่ำเสมอทุก 28 วัน
- วิธีนับอายุครรภ์จากประจำเดือนที่มาไม่สม่ำเสมอ นั่นคือในผู้หญิงที่มีรอบเดือนนานกว่า 28 วัน หรือในกรณีที่จำไม่ได้ว่ามีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ซึ่งคุณหมอก็จะนับอายุครรภ์ให้ด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) เพื่อวัดขนาดของถุงการตั้งครรภ์ (Gestational Sac) หรือความยาวทารก (Crown Rump Length) แล้วคำนวณเป็นอายุครรภ์
การรู้อายุครรภ์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณแม่ท้อง เพราะหลังจากที่ทราบอายุครรภ์แล้ว คุณหมอจะแนะนำการดูแลสุขภาพ โภชนาการตลอดการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ ข้อควรปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งให้ยาบำรุงครรภ์มาทาน ฯลฯ …ขอให้ว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนมีความสุขตลอดการตั้งครรภ์นะคะ หรือคุณแม่สามารถคำนวณวัดคลอดง่าย ๆ ด้วยตนเองได้ที่ เครื่องคำนวณวันคลอด
จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ จะนับอย่างไร
หากจำไม่ได้ว่าประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาวันที่เท่าไหร่ วิธีที่ดีที่สุด คือการอัลตราซาวนด์ เพื่อดูขนาดตัวของทารกและคำนวณว่าอายุประมาณกี่สัปดาห์ วิธีนี้สามารถใช้ได้กับทุกคน ผู้ที่จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้ หรือ ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ตรงปกติก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน การอัลตราซาวนด์จะช่วยให้ผลของการคำนวณอายุของทารกแม่นยำมากขึ้น ถ้าทำในช่วงไตรมาสแรก โอกาสคลาดเคลื่อนมีเพียง 3 – 5 วันเท่านั้น หากอัลตราซาวนด์ในช่วงหลัง ๆ หรือใกล้คลอดแล้ว ก็จะยิ่งทำให้อายุครรภ์นั้นคลาดเคลื่อนเพิ่มไปอีก ประมาณ 1 – 2 อาทิตย์ ถ้าคุณแม่รีบทำการพบแพทย์เพื่อทำการอัลตราซาวนด์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสในการคลาดเคลื่อนของอายุครรภ์ก็จะน้อยลง
การอัลตราซาวนด์บ่งบอกอะไรได้บ้าง
- คำนวณอายุครรภ์ จากการวัดความกว้างหรือเส้นรอบวงของศีรษะ หรือความยาวของกระดูกต้นขาของทารก เพื่อช่วยคาดคะเนกำหนดคลอดให้แม่นยำมากขึ้น
- เพื่อประเมินการเจริญเติบโตและขนาดของทารกในครรภ์
- สงสัยว่ามีการตั้งครรภ์แฝด
- สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นต้น
- การดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่มองเห็นได้
- การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- ดูท่าของทารกตอนใกล้คลอด
- เพื่อช่วยสูติแพทย์ในการทำหัตถการ เช่น การเจาะถุงน้ำคร่ำ
- ประเมินความผิดปกติที่อาจเกิดในมดลูกหรือรังไข่ เช่น เนื้องอกมดลูกซึ่งอาจขัดขวางการคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 45 เตรียมตัวก่อนไปอัลตราซาวนด์
แต่ละสัปดาห์อัลตราซาวนด์เพื่อดูอะไรบ้าง
-
6-8 สัปดาห์
- ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์, จำนวนทารก และดูการเต้นหัวใจ
- ตรวจภาวะตั้งครรภ์ ว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูก-ท้องลม หรือไม่
- ตรวจว่ามีเนื้องอกมดลูก หรือ ถุงน้ำรังไข่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่
-
10-14 สัปดาห์
- ตรวจหาความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางอย่าง
- วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอ (nuchal translucency) เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)
-
18-22 สัปดาห์
- ตรวจความผิดปกติหรือความพิการของทารกอย่างละเอียด (Anomaly Scan)
- ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
- ตรวจตำแหน่งรก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ
-
28-36 สัปดาห์
- ตรวจความผิดปกติของทารกอีกครั้งก่อนคลอด
- ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
- ตรวจสุขภาพทารก, การหายใจ และการเคลื่อนไหว
- ตรวจสุขภาพรก, ปริมาณน้ำคร่ำ, ประเมินภาวะรกเสื่อม
- ตรวจความเร็วเลือดในสายสะดือและทารก (Dopplerstudy)
- ตรวจยืนยันท่าของทารกก่อนการคลอด
ประโยชน์ของการอัลตราซาวนด์
มีหลัก ๆ 2 เรื่องคือ เพื่อหาความผิดปกติของทารก ความพิการของอวัยวะต่าง ๆ และเพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารก โดยเมื่อคุณแม่นอนบนเตียงตรวจแล้ว แพทย์จะใช้น้ำยาทาบริเวณหน้าท้อง แล้วใช้เครื่องมือเคลื่อนไปมาบนหน้าท้อง หากอายุครรภ์ยังน้อย คุณแม่จำเป็นจะต้องกลั้นปัสสาวะเอาไว้ เพื่อให้เห็นตัวอ่อน การอัลตราซาวนด์ไม่ได้เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ มีเพียงคุณแม่บางคนเท่านั้น ที่แพ้สารตัวกลาง ที่เป็นน้ำยาทาผิวหนังหน้าท้องเท่านั้น
อัลตราซาวนด์ ควรทำช่วงไหน?
การอัลตราซาวนด์สามารถทำได้เมื่ออายุครรภ์อยู่ในสัปดาห์ที่ 19 – 24 ของการตั้งครรภ์ ส่วนการอัลตราซาวนด์แบบ 4 มิติ นั้นสามารถทำได้เมื่ออายุครรภ์ 26 – 30 สัปดาห์ การตรวจอัลตราซาวนด์แบบ 4 มิติ จะช่วยให้เห็นรูปร่างของทารกได้ทั้งหมด เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็จะเห็นชัดขึ้น หากอัลตราซาวนด์ในช่วง 35 สัปดาห์อาจจะไม่เห็นใบหน้าทารกที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก เนื่องจากทารกเริ่มกลับหัว เพื่อรอคลอด
คุณแม่ดูแลตัวเองอย่างไร ขณะตั้งครรภ์
- นอกจากการเรียนรู้และรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม และดื่มน้ำสะอาดต่อวันอย่างน้อย 6 – 8 แก้ว ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึงคาเฟอีนด้วย
- งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่ควรใช้ยารับประทานเอง
- ทั้งนี้คุณแม่ยังควรดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายเป็นประจำ ระวังการใช้สารเคมี เช่น น้ำยาย้อมผม การใช้เครื่องสำอาง และน้ำหอม
- อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์ โดยไม่ควรให้มีแรงกระแทกบริเวณท้องมากเกินไป
อาหารที่คุณแม่ควรรับประทานลดลง
ด้วยการลดอาหารพวกแป้ง ข้าว เผือก มัน และหลีกเลี่ยงอาหารหวาน โดยเฉพาะผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน รวมถึงน้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะพร้าว และน้ำอัดลม เพราะนอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
เกิดจากการย่อยสลายของไขมันชนิดต่าง ๆ มี 2 ชนิด คือ กรดไขมันอิ่มตัว คุณแม่ควรกินกรดไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง เนื่องจากกรดไขมันอิ่มตัว อาจเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันในหลอดเลือด กรดไขมันชนิดนี้ สามารถพบได้ในไขมันสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว รวมถึงน้ำมันปาล์ม และคุณแม่ก็ควรเลือกดื่มนมที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน
แม่ท้องควรเฝ้าระวังอะไรบ้าง
โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องที่เจอบ่อย ๆ ก็คือ คลื่นไส้ อาเจียน และกินอาหารไม่ได้ ในช่วงไตรมาสแรก หากคุณแม่ไม่พยายามหรือฝืนใจกินอาหาร อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดมีความเสี่ยงต่อชีวิตของทารกในครรภ์และคุณแม่อย่างมาก ถือเป็นอันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ จึงควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
แม้คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดท้องน้อยเป็นปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวเพื่อรองรับตัวอ่อนในครรภ์ แต่หากอาการปวดมากขึ้นจนผิดสังเกต หรือปวดติดต่อกันยาวนาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์ 1-3 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์
อาการคนท้องเดือนแรก มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง คุณอาจจะยังไม่รู้ตัว
อาการคนท้องไตรมาสแรก ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการนับอายุครรภ์ ได้ที่นี่!
นับอายุครรภ์ มีวิธีนับอย่างไรคะ
ที่มา : Phyathai , bangkokhatyai , khonkaenram
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!