คุณแม่หลายคนอาจมีประสบการณ์ลูกเป็นผื่นลมพิษบ่อย ๆ และไม่รู้ว่าอาการลมพิษเกิดจากอะไร สามารถติดกันได้ไหม อันตรายหรือเปล่า เป็นกี่วันจึงจะหาย วันนี้ theAsianparent Thailand จะพาคุณแม่ทุกคนมาไขคำตอบว่า ลมพิษเกิดจากอะไร พร้อมบอกวิธีแก้ลมพิษเบื้องต้นกันค่ะ
ลมพิษ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ลมพิษ กี่วันหาย
ผื่นลมพิษ คือผื่นที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ โดยการหลั่งสารเคมีที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีของเหลวรั่วซึมออกมานอกหลอดเลือด และเกิดการบวมน้ำของชั้นผิวหนัง ทำให้เห็นผิวหนังเป็นวง นูนแดง และมีอาการคัน ผื่นมักจะอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วก็หายไปโดยไม่ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ และไม่เป็นโรคติดต่อ
ผื่นลมพิษแบ่งได้เป็นกี่ชนิด?
ผื่นลมพิษ สามารถแบ่งตามระยะเวลาการดำเนินของโรคได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
ลมพิษกี่วันจึงหาย
ผื่นลมพิษเฉียบพลัน เป็นชนิดที่พบได้บ่อย มักมีอาการประมาณ 1 – 2 วัน แล้วก็หายไปได้เอง ส่วนผื่นลมพิษเรื้อรัง คือผื่นลมพิษที่มีอาการติดต่อกันทุกวัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ เกือบทุกวัน ติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลมพิษคืออะไร ? ประเภทของลมพิษ อาการของโรคลมพิษ และวิธีรักษา
สาเหตุของผื่นลมพิษ เกิดจากอะไร?
สาเหตุของผื่นลมพิษที่พบบ่อย สามารถแบ่งได้ตามชนิดของผื่นลมพิษดังนี้ ผื่นลมพิษเฉียบพลัน สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผื่นลมพิษเฉียบพลันในเด็ก โดยส่วนใหญ่ มักเป็นการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ
- อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วลิสง แป้งสาลี และอาหารทะเล
- ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้สูง
- แมลง เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มด กัดต่อย
- สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรหญ้า ที่สูดดม หรือสัมผัส ก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเช่นกัน
สำหรับผื่นลมพิษเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็มีการศึกษาที่พบว่า ผื่นลมพิษเรื้อรัง อาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นทางกายภาพ เช่น
- ความเย็น
- น้ำหนักกดทับ
- การถูไถ
- แสงแดด
นอกจากนี้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ รวมทั้งโรคติดเชื้อที่ค่อนข้างยืดเยื้อ เช่น พยาธิ เชื้อรา ไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C การติดเชื้อ Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร ก็มักทำให้เกิดผื่นลมพิษชนิดเรื้อรัง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มากกว่าลมพิษเฉียบพลัน
วิธีแก้ลมพิษเบื้องต้น ลูกมีอาการผื่นลมพิษควรทำอย่างไร ?
- ถ้าลูกมีอาการผื่นลมพิษเฉียบพลันโดยอาการไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่สามารถให้รับประทานยาต้านฮิสตามีน และสังเกตอาการที่บ้านได้
- แต่ถ้าอาการไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยน หรือให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยยากดภูมิคุ้มกันตามความเหมาะสม
- สิ่งที่สำคัญมาก คือควรพยายามหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการในครั้งต่อไป
แต่ถ้ามีอาการนานมากกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งจัดว่าเป็นผื่นลมพิษเรื้อรังแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษา และหาสาเหตุของโรคต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นลมพิษ ผื่นขึ้นตามตัวเป็นๆ หายๆ พ่อแม่ควรทำอย่างไร กี่วันถึงจะหาย
ผื่นแพ้อื่น ๆ บอกโรคอะไรได้บ้าง ?
อาการลูกมีไข้ และมีผื่นแดงเกิดขึ้นที่แก้มทั้งสองข้าง อาจเป็นอาการของโรคฟิฟธ์ หรือ Slapped Cheek Syndrome ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Parvovirus B19 ลักษณะอาการจะมีไข้ต่ำ ๆ รู้สึกหนักศีรษะ มีน้ำมูก คัดจมูก และเจ็บคอเล็กน้อย ผื่นแก้มที่แดงขึ้นทั้งสองข้าง จะมีความร้อน และอาจจะลามลงไปตามลำตัว แขน และขาได้
โดยปกติอาการเหล่านี้จะหายไปภายในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ วิธีการรักษาเบื้องต้น สามารถทำได้โดยดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลสำหรับเด็ก เพื่อลดไข้
-
ตุ่มขึ้นที่มือ เท้า และในปาก
โรคมือ เท้า และปากมักเกิดขึ้นในเด็กทารก หรือเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เด็กจะมีตุ่มขึ้นที่มือ เท้า และมีแผลเปื่อย หรือร้อนในเกิดขึ้นในปาก รวมทั้งมีอาการไข้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 – 7 วันร่วมด้วย
โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีน หรือการรักษาที่จำเพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อบรรเทาอาการขาดน้ำ รับประทานอาหารอ่อน และรับประทานยาลดไข้ เป็นต้น แต่หากมีอาการแทรกซ้อน ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ลูกมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดศีรษะมาก มือสั่น หายใจเร็ว หน้าซีด มีอาการสับสน และอาเจียน พ่อแม่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคผื่นลมพิษ แม่ตั้งครรภ์ โรคผื่นลมพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์ พบบ่อย! ผื่น PUPPP
-
ผื่นสีชมพู – แดง ขึ้นตามตัว
เป็นสาเหตุของโรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet Fever ลักษณะของผื่นจะคล้าย ๆ ผิวไหม้ และมีผิวสัมผัสคล้ายกระดาษทราย บางคนจะมีตุ่มขึ้นที่ลิ้น เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีไข้สูง และหนาวสั่น เป็นอาการเริ่มต้น ก่อนจะมีผื่นขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และลามลงมาที่ลำตัว กระจายไปอย่างรวดเร็ว
โรคไข้อีดำอีแดง มักเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 5 – 15 ปี และอาจมีโรคแทรกซ้อนคือ โรคไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน วิธีการรักษาทำได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ผื่นสีน้ำตาลแดงเกิดขึ้นบริเวณศีรษะ ลำคอ และกระจายไปตามตัว เป็นอาการของโรคหัด โดยอาการจะเริ่มต้นจากมีไข้สูง เจ็บตา ตามีความอ่อนไหวต่อแสง ปวดกล้ามเนื้อ และมีจุดสีเทาขึ้นบริเวณกระพุ้งแก้ม โรคหัด (Measles) เกิดจากเชื้อไวรัสคนละชนิดกับโรคหัดเยอรมัน แต่ทั้งสองโรคนี้มักจะแพร่ระบาดในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น และสามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่ง และการสัมผัส
โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่ระบุของกระทรวงสาธารณสุข โดยเด็กทุกคนจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด เมื่ออายุระหว่าง 9 – 12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 – 6 ปี ก็จะสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 เคล็ดลับ แก้ปัญหา “ลูกผิวแพ้ง่าย” วิธีทำให้ผิวลูกเนียนนุ่ม ไม่มีผดผื่นคัน
ฉีดวัคซีนเด็ก ต้องฉีดอะไรบ้างที่สำคัญต่อทารกแรกเกิด เพื่อภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
ทำไม? ลูกเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง วิธีรักษาลูกเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง ลูกเป็นผื่นคันทั้งตัว
ที่มา : NHS, bumrungrad, thaichildcare, thaichildcare
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!