น้องอุ๊บ อายุ 1 ปี มีอาการกระสับ กระส่าย มาครึ่งวัน ลูกถ่ายมีเลือดสีแดงสดปน เลือดออกเวลาถ่าย ปริมาณมาก อุจจาระปนเลือด ลักษณะคล้ายเยลลี่ปน คุณแม่เกรงว่าน้องจะถ่ายมีเลือดปนจากการแพ้อาหาร จึงมาพบหมอ
ลูกน้อยถ่ายมีเลือดสีเเดงสดปนมาด้วย เลือดออกเวลาถ่าย ควรทำอย่างไรดี
หลังจากที่หมอได้ทราบประวัติอาการ ลูกถ่ายมีเลือดสีแดงสดปน และตรวจร่างกายแล้ว ก็สงสัยว่าจะมีเลือดออกจากทางเดินอาหารจากสาเหตุอื่นมากกว่า จึงได้ส่งตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องด่วน ก็พบว่าน้องอุ๊บเป็นโรคลำไส้กลืนกัน ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด จึงได้ปรึกษาคุณหมอศัลยกรรมเด็กต่อไป
โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception)
โรคลำไส้กลืนกัน คือ ภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรง ของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว เพราะถ้าลำไส้กลืนกันอยู่เป็นเวลานาน จะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจจะเสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กวัย 3 เดือน ถึง 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงที่สุด จะเป็นชนิดกลืนกันแบบมีการมุดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายเข้าสู่โพรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น Ileocolic Type
ข้อสังเกตลำไส้กลืนกัน
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกมีภาวะลำไส้กลืนกันจาก
- อาการปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง
- ร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15 – 30 นาทีก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง Colicky ain
- ท้องอืด และอาเจียน ช่วงแรกมักจะเป็นนม หรืออาหารที่ลูกกินเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลือง หรือเขียวของน้ำดีปนออกมา
- อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก
- เด็กบางคนอาจจะมีอาการซึม หรือชักร่วมด้วย
การรักษาโรคลำไส้กลืนกันมี 2 วิธี
- วิธีที่ 1 คือ การดันลำไส้ส่วนที่ถูกกลืนให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารของเหลวที่เป็นสารทึบรังสี Barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ถ้ากระบวนการสวนลำไส้ใหญ่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1 – 2 วัน
- วิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดเปิดช่องท้อง ในการผ่าตัดนั้นศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการเน่า หรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้ว ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออก และทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน กลุ่มนี้จะรุนแรง และให้การดูแลรักษาแบบกลุ่มลำไส้อุดตัน นอนในโรงพยาบาลนาน และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า
ไม่ต้องรอเวลา…ให้รีบมารักษาดีที่สุด
เพราะเมื่อเป็นลำไส้กลืนกันต้องหาทางรักษาเป็นการด่วน โดยแนวทางการรักษาจะมี 2 อย่างคือ
- การดันลำไส้โดยใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ทำให้ลำไส้ที่กลืนกันเคลื่อนตัวออกจากลำไส้ส่วนปลาย วิธีนี้จะทำได้โดยไม่ต้องใช้การผ่าตัด
- การผ่าตัด เพื่อให้คุณหมอดันลำไส้ส่วนที่กลืนกันให้คลายตัวออกจากกัน ในกรณีที่การดันลำไส้ไม่ได้ผล หรือบางกรณีที่อาการค่อนข้างหนัก มีลำไส้บางส่วนตาย และติดเชื้อแทรกซ้อนแล้ว ต้องรีบรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการด่วน
ซึ่งก่อนจะทำการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง คุณหมอจะต้องทำการตรวจร่างกายเพื่อหาตำแหน่งของลำไส้ที่กลืนกันนี้เสียก่อน โดยอาจจะใช้การคลำช่วงช่องท้อง แล้วส่งตรวจทำอัลตร้าซาวน์และสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสีทางเอ็กซ์เรย์หรือใช้ลม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากขึ้น
อุจจาระปนเลือด หากปล่อยทิ้งไว้อาจอันตรายกว่าที่คิด
เพราะหากเด็กมีอาการลำไส้กลืนกันที่ค่อนข้างหนัก นอกจากลำไส้บางส่วนเน่าเสียแล้ว ที่แย่ที่สุดก็คือลำไส้นั้นอาจเกิดการแตกได้ ทางที่ดีคือควรรีบนำส่งแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้องให้เร็วที่สุด
การที่ลูกถ่ายเป็นเลือดสด ๆ ซึ่งเป็นอาการของเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่าง และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนั้น อาจจะไม่ได้มีสาเหตุจากการแพ้อาหาร ยิ่งถ้าเลือดออก ปริมาณมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุอื่น ๆ ที่ต้องรีบให้คุณหมอรักษาโดยด่วนได้
เลือดออกเวลาถ่าย ลูกน้อยถ่ายมีเลือดสีเเดงสดปนมาด้วย ควรทำอย่างไรดี
เรามาดูกันว่าเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างในเด็กวัยทารกแบบน้องอุ๊บ มีอาการอย่างไร และเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน และส่วนล่างต่างกันอย่างไร?
อาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ที่เราเห็น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดนั้น แบ่งได้เป็น เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน และส่วนล่าง ซึ่งแบ่งกันที่ตำแหน่งซึ่งมีเลือดออก ทางการแพทย์จะแบ่งเลือดออกทางเดินอาหารเป็น 2 ระดับคือ
1. เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน
คือ ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกในตำแหน่งของอวัยวะของระบบย่อยอาหารส่วนบน ซึ่งได้แก่ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น อาการสำคัญคืออาเจียนเป็นเลือดสด อาเจียนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ถ่ายดำ หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสดได้ถ้าเลือดออกอย่างรวดเร็ว
2. เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง
คือ ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกที่ในตำแหน่งของระบบย่อยอาหารส่วนล่าง ได้แก่ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ จนถึงทวารหนัก อาการสำคัญคือถ่ายเป็นเลือดสด หรือถ่ายดำ หากเลือดออกมาก ๆ จะมีอาการซีดได้
อาการเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างในทารก เกิดจากอะไรบ้าง?
สาเหตุของอาการเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างของวัยทารกแรกเกิด – 1 ปี ที่พบบ่อย ยกตัวอย่างเช่น
1. รอยปริขอบทวาร
ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการถ่ายอุจจาระมีสีแดงสดเคลือบ หรือถ่ายเป็นเลือดสด ๆ หยดตามหลังการถ่ายอุจจาระ จากการที่ท้องผูก อุจจาระแข็ง ร้องงอแงเวลาถ่ายอุจจาระ มีรอยฉีกขาดบริเวณขอบทวารหนัก
2. ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ
ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว มีมูกเลือดปนกับอุจจาระ มีไข้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ หากถ่ายปริมาณมาก จะมีอาการขาดน้ำร่วมด้วย
3. ลำไส้อักเสบจากการแพ้อาหาร
ผู้ป่วยมักเป็นเด็กที่ดูแข็งแรงดี มาด้วยอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด แต่ปริมาณเลือดมักจะไม่มาก เป็น ๆ หาย ๆ เนื้ออุจจาระปกติ ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาหารที่เป็นสาเหตุของอาการนี้บ่อยที่สุดคือ นมวัว
4. ลำไส้บิดขั้ว
เกิดจากลำไส้มีการหมุนตัว และการยึดตัวผิดปกติจนเกิดการอุดตัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระปนเลือด ท้องอืดมาก อาเจียน ซึมลง ช็อค หากเป็นมาก ๆ อาจมีภาวะลำไส้เน่าได้
5. ลำไส้กลืนกัน
ผู้ป่วยวัยทารกจะมีอาการร้องไห้งอแงกระสับ กระส่าย ตัวงอ เกร็งตามปลายมือ ปลายเท้า เป็นพัก ๆ ตลอด เนื่องจากปวดท้องมาก อาเจียนมีสีน้ำดีปน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก อาการท้องอืด มีไข้ ซึมลง
อาการถ่ายอุจจาระสีแดงคล้ายเลือดเกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากเลือดออกจากทางเดินอาหารได้หรือไม่?
นอกจากเลือดออกในระบบทางเดินอาหารแล้ว อาการถ่ายอุจจาระสีแดง อาจเกิดได้จากอาหารที่ทานเข้าไปบางอย่าง บีทรูท แครอท น้ำมะเขือเทศ หากทานในปริมาณมาก หรือเกิดจากการทานยาปฏิชีวนะบางอย่างได้
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าลูกถ่ายมีเลือดปน ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย หรือไม่ ก็ควรจะรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย ดูลักษณะอุจจาระ ส่งอุจจาระตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือส่งตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ
การถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ต่ำ อยู่ช่วงหนึ่ง ลักษณะอาการดังกล่าวไม่ปกติแน่นอน ตามลักษณะอาการแสดงว่ามีอุจจาระร่วง (ถ่ายบ่อย) และมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ (ถ่ายเป็นมูก) และน่าจะมีแผลเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ (มีมูกเลือด) น่าจะเป็นการติดเชื้อที่ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ เด็กจะปวดท้อง และจะถ่ายจำนวนครั้งบ่อยมากขึ้น แต่ปริมาณจะไม่เยอะ และการเสียเลือดที่ปนไปกับมูกเลือดจะไม่มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดเลือดจาง (ถ้าไม่ได้เป็นนานหลายวัน)
เลือดออกเวลาถ่าย ลูกน้อยถ่ายมีเลือดสีเเดงสดปนมาด้วย ควรทำอย่างไรดี
การติดเชื้อดังกล่าวน่าจะเป็นเชื้อในกลุ่มของแบคทีเรีย มีแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้มีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ได้ เช่น Salmonella, Ecoli ชนิดก่อโรคเชื้อบิด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้น่าจะตรวจอุจจาระส่องกล้องดูเซลล์อักเสบ (เม็ดเลือดขาว) และเพาะเชื้อหาแบคทีเรียลำไส้ก่อโรค การให้ยาปฏิชีวนะเราจะให้ยาที่จำเพาะ และที่จำเป็นเท่านั้น
ยาในกลุ่ม quinolone ได้แก่ Norfloxacin (Lexinor), Ciprofloxacin (Ciprobay) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นอันดับแรก หรือใช้ครั้งแรกต้องระวัง โดยเฉพาะการใช้ในเด็กเล็กไม่ควรใช้บ่อย และนาน เพราะอาจมีผลข้างเคียงระยะยาวได้ ควรคำนึงถึงผลได้ และผลเสีย ทางที่ดีน่าจะตรวจเพาะเชื้อให้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใด หรือมีสาเหตุจากอะไร เชื้อบางครั้ง เช่น Salmonella โอกาสที่จะยืดเยื้อหลบซ่อนในร่างกายเด็กเป็นไปได้ โดยที่ถ้าเด็กมีร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิต้านทานร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เอง
การเสียเลือดจากมูกเลือดไม่ได้เป็นนาน และมากพอที่จะทำให้สูญเสียการเจริญเติบโต การเบื่ออาหารช่วงนี้น่าจะมีผลจากอุจจาระร่วงมากกว่า การกินข้าวต้มใส่เกลือต้องระวังอย่าใส่เกลือมากไป เพราะการถ่ายเป็นมูกเลือดไม่ได้สูญเสียน้ำ และเกลือแร่จำนวนมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปชดเชยเกลือที่ใส่ไป การชงนมให้จางก็เช่นเดียวกัน อาจทำให้เด็กขาดอาหารได้
ขี้แล้วเลือดออก จุดเริ่มต้น 6 โรคอันตราย
เมื่อลูกน้อยถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ต้องออกแรงเบ่งมาก ขณะถ่ายออกมาก็รู้สึกเจ็บ หรือแสบบริเวณก้น มีแผลถลอก ต้องระวังให้มาก ๆ เมื่อลูกน้อยท้องผูก เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของโรคร้าย ดังต่อไปนี้
1. โรคริดสีดวงทวาร
คนที่ท้องผูกบ่อย ๆ จะมีความเสี่ยงกับโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ถ่ายปกติ เพราะเมื่อเกิดแผล เพราะพยายามที่จะเบ่งอุจจาระแข็ง ๆ อยู่บ่อย ๆ อาจทำให้มีก้อนริดสีดวงปลิ้นออกมา จนมีอาการอักเสบ ปวดแสบมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการของริดสีดวง มีอาการอย่างไร สาเหตุของการเป็นริดสีดวงคืออะไร?
2. เลือดออกในลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนมาก
ถ้ามีเลือดสด ๆ หรือลิ่มเลือดไหลออกมาพร้อมกับอุจจาระ แต่ไม่มีอาการปวดแสบที่ทวารหนัก เพราะไม่ได้มีอาการท้องผูก อาจเป็นเพราะมีเลือดที่ลำไส้ใหญ่ ถ้ามีเลือดออกมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
3.เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก
อาการอาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน หรืออาจไม่มีอาการอาเจียนก็ได้ จากนั้นจะตามมาด้วยถ่ายเป็นเลือด จะมีลักษณะสีเข้มจนเกือบดำ ถ้าถ่ายเป็นเลือดจำนวนมาก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
4.โรคบิด
ถ้าลูกน้อยมีอาการท้องเสีย แล้วมีอุจจาระเป็นมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อาจเสี่ยงเป็นโรคบิด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ จนทำให้ลำไส้อักเสบ เป็นแผล คุณพ่อ คุณแม่ ควรให้คุณหมอตรวจอุจจาระของลูกน้อย เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
5.โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็ง จะทำให้เกิดแผล โดยเฉพาะบริเวณทวารหนัก ทำให้มีความเสี่ยงให้ถ่ายแล้วมีเลือดปนออกมา โรคนี้มักเกิดกับผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 – 50 ปี แต่มีโอกาสเกิดขึ้นในวัยรุ่น วัยทำงานได้ ครอบครัวที่มีประวัติว่าเป็นโรคนี้ ยิ่งมีความเสี่ยง ฉะนั้น คุณพ่อ คุณแม่ควรลดเนื้อแดง อาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม
6.โรคลำไส้ขาดเลือด
โรคนี้เกิดจากหลายสาเหตุ อาการคือเลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนในลำไส้ได้ ทำให้เซลล์ลำไส้เริ่มไม่ทำงาน เซลล์ตาย และเริ่มเน่าจนมีแบคทีเรีย จะมีอาการปวดท้องเกร็ง อาจปวดมาจนหมดสติ และอาจติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต ถ้าระหว่างปวดท้องมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์
ที่มา: https://www.bangkokhospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
6 เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับอุจจาระลูก ที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้
สีอุจจาระของทารกบอกถึงสุขภาพได้อย่างไร ?
ลูกปวดท้อง แบบไหนเป็นสัญญาณของ 4 โรคร้าย ที่พ่อแม่ต้องระวัง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!