เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เคที่ ลูคัสเริ่มมีตุ่มแดงเป็นจ้ำๆ เหมือนถูกแมลงกัดต่อยบนผิวหนัง และในเดือนมกราคม เธอต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง นับจากนั้นมา เคที่ต้องถูกตรวจเลือดหลายต่อหลายครั้ง ถูกตัดเนื้อเยื่อไปตรวจสองครั้ง ถูกเจาะตรวจไขกระดูกสามครั้ง ถูกเอ็กซ์เรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) สองครั้ง ถูกทำอัลตราซาวด์สองครั้ง รวมถึงต้องมีการให้เลือดกับเกล็ดเลือด โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะสองเดือนเศษเท่านั้น หลังจากตัดความเป็นไปได้อื่นๆ ออกไป ในที่สุดแพทย์โรงพยาบาล National University Hospital ในสิงคโปร์ก็วินิจฉัยออกมาแล้วว่า เคที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด JMML ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบน้อยมาก
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิด JMML คืออะไร
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิด JMML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่พบได้น้อยมากอย่างยิ่ง โดยจะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งหมดในเด็ก การศึกษาทำความเข้าใจและวินิจฉัยโรคจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก
โรค JMML นี้ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเติบโตเร็วผิดปกติและสะสมในไขกระดูกจนไปกระทบและเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของไขกระดูกและอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
สาเหตุของโรค
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรค แต่พบว่าเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis Type 1- NF1) มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง
อาการของโรค
ในระยะแรกจะเห็นอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการเลย อาจใช้เวลาหลายเดือน หรือกระทั่งหลายปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น ซึ่งได้แก่
– ปวดท้อง
– ช่องท้องและม้ามบวมโต
– ต่อมน้ำเหลืองโต
– ติดเชื้อซ้ำๆ (เช่น หลอดลมอักเสบและทอนซิลอักเสบ)
– ปวดเสียดใต้ชายโครง
– ปวดกระดูกและข้อต่อ
– เขียวช้ำง่าย
– มีผื่นขึ้น
– อ่อนเพลีย
จะวินิจฉัยโรคได้อย่างไร
โรค JMML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและส่งผลกระทบต่อไขกระดูก แพทย์จึงอาจสั่งให้
– ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และอาจมีการตรวจการทำงานของตับ ไตและค่าเคมีเลือด เพื่อดูสภาพและจำนวนเซลล์เม็ดเลือดปกติในร่างกาย
– เจาะไขกระดูก เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากต้องสอดเข็มเข้าไปในกระดูกบริเวณด้านหลังของกระดูกสะโพกและดูดไขกระดูก กระดูกและเลือดออกมาตรวจ
– เอ็กซ์เรย์หรือสแกนร่างกาย
– เจาะน้ำไขสันหลัง
– ตรวจวัดขนาดและคุณสมบัติของเซลล์
– ตรวจโครโมโซม
การรักษา
วิธีรักษาโรค JMML ในปัจจุบันมีอยู่วิธีเดียวคือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (ไขกระดูก) โดยใช้เคมีบำบัดหรือกัมมันตรังสีกำจัดไขกระดูกที่เป็นมะเร็งให้หมดไปก่อนจะปลูกถ่ายไขกระดูกที่แข็งแรงดีเข้าไปแทนที่ พบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่รักษาด้วยวิธีนี้จะปลอดโรค JMML เป็นเวลานานหลายปี โอกาสหายจากโรคขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก ปริมาณเกล็ดเลือด และชนิดของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง
เคที่เริ่มทานยาเคมีบำบัดอาทิตย์นี้แล้ว ขณะที่แพทย์จากสหรัฐฯและญี่ปุ่นมีกำหนดจะมาตรวจเยี่ยมเธอเร็วๆ นี้
แม้ว่าครอบครัวลูคัสต้องฝ่าฟันความทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจกับโรคร้ายที่ลูกสาวกำลังเผชิญ แต่พวกเขาก็ยังเข้มแข็ง พร้อมจะสู้ต่อไป ทั้งยังกล่าวขอบคุณผู้คนมากมายที่ได้ส่งกำลังใจผ่านทางเฟสบุคไปถึงหนูน้อยเคที่ด้วย เราก็ขอให้เคที่หายป่วยในเร็ววันเช่นกันค่ะ
ที่มา www.mb.com.ph
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
กินไส้กรอกเสี่ยงมะเร็งจริงหรือ?
7 ความเสี่ยง “มะเร็งรังไข่” โรคร้ายที่พบมากในหญิงไทย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!