คุณพ่อคุณแม่หลายคนอยากได้ลูกแฝดเพื่อจะได้คลอดทีเดียว เลี้ยงดูเหนื่อยไปเลยทีเดียว จนหลายคู่ต้องไปขอคำปรึกษาคุณหมอว่าทําอย่างไรถึงจะได้ลูกแฝดกันเลยทีเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วการมีลูกแฝดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แถมยังอาจเกิด ภาวะแทรกซ้อนที่แม่ท้องแฝดต้องระวัง กันด้วยนะคะ
การตั้งครรภ์แฝดจัดเป็น ภาวะแทรกซ้อนที่แม่ท้องแฝดต้องระวัง !!
ทางการแพทย์ถือว่าการตั้งครรภ์แฝด หรือการตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ และอาจมีอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์แฝดสองสูงกว่าในครรภ์เดี่ยว 5 เท่า ซึ่งในสมัยก่อนการตั้งครรภ์แฝดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติที่สัมพันธ์กับกรรมพันธุ์เช่น ครอบครัวทางฝ่ายแม่หรือพ่อเป็นแฝด แต่ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์มีวิธีทำลูกแฝด เช่น การฉีดกระตุ้นให้ตกไข่หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ทำให้มีอัตราของการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้นมาก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่าปกติระหว่างตั้งครรภ์แฝด เช่น
- ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากจำนวนทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น ความต้องการสารอาหารจากแม่เพิ่มขึ้นมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว เมื่อท้องของแม่มีขนาดโตมากและต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยเฉพาะโครงสร้างกระดูกโค้งงอหรือลำตัวแอ่นมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อสันหลังต้องเกร็งตัวเพื่อรองรับน้ำหนักแทนกระดูกสันหลังมาก ส่งผลทำให้คุณแม่ปวดหลังมากขึ้น และการต้องมีปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้นในระบบการไหลเวียนโลหิต สำหรับทารกมากกว่าหนึ่งคนในท้องแม่ อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนนี้ขึ้นได้
- ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์ มือเท้าบวม
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์อ่อน ๆ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและภาวะน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์คลอดเพิ่มขึ้น
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้กับทารกแฝดในครรภ์ >>
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้กับทารกแฝดในครรภ์
- การตั้งครรภ์แฝด มีโอกาสที่ทารกจะเกิดความพิการแต่กำเนิดและเสี่ยงต่อการแท้งได้มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าปกติมาก
- คุณแม่ที่ตั้งท้องแฝดอาจมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น และท้องจะโตกว่าปกติ เพราะขนาดของมดลูกโตกว่าอายุครรภ์จริง เช่น ท้อง 3 เดือน แต่มดลูกจะโตเท่าอายุครรภ์ 4 เดือน
- ปัญหาการเจริญเติบโตของทารก ร้อยละ 59 ของแม่ท้องแฝด จะมีน้ำหนักทารกแรกคลอดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์เดี่ยว
- อาจพบภาวะเติบโตช้าในครรภ์ ทารกแฝดในครรภ์อาจมีการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากัน ทำให้มีขนาดต่างกันมาก หรือมีการถ่ายเทเลือดจากแฝดคนหนึ่งไปสู่แฝดอีกคนหนึ่ง ทำให้ทารกคนหนึ่งโตช้าผิดปกติ ส่วนทารกอีกคนหนึ่งตัวโตเกินไป และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะ Twin-twin transfusion syndrome
- หลังคลอดอาจมีโอกาสตกเลือดหรือติดเชื้อได้มากกว่าในครรภ์เดี่ยว
ภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจนำไปสู่การพัฒนาการของทารกทั้งทางร่างกายและสมองที่ช้ากว่าเมื่อเทียบกับทารกที่คลอดจากการตั้งครรภ์เดี่ยวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้สามารถวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้รวดเร็ว และก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์สามารถวินิจฉัยได้ว่า คุณแม่ตั้งท้องแฝดหรือไม่ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาดีขึ้นกว่าแต่ก่อน และไม่ค่อยพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่ท้องแฝดส่วนใหญ่นะคะ
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดว่าการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง จึงต้องมีกระบวนการดูแลครรภ์และตรวจครรภ์ที่แตกต่างกว่าครรภ์ปกติ เพื่อจะได้มีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเมื่อใกล้คลอด มีการประเมินและเตรียมตัวก่อนคลอดเพื่อลดอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แม่ท้องแฝดควรดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน >>
วิธีดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ท้องแฝด
- ควรที่จะไปฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ไปตามนัดคุณหมอเพื่อรับการดูแลเป็นพิเศษตลอดช่วงระยะการตั้งครรภ์
- อาหารการกินที่ส่งผลไปถึงลูกน้อยในท้องทั้ง 2 คนด้วย คุณแม่ท้องแฝดควรจะได้รับอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 200-300 กิโลแคลอรีต่อวัน และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม โปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ส่วนจำพวกแป้งและน้ำตาลไม่จำเป็นต้องมากขึ้นเพราะอาจทำให้อ้วนเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
- ควรควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ รวมตลอดการตั้งครรภ์ประมาณ 16 กิโลกรัม
- งดเครื่องดื่มประเภทคาแฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมถึงยาเสพติดทุกชนิด
- สำหรับยาบำรุงต่าง ๆ เช่น ธาตุเหล็กและกรดโฟลิก ควรเพิ่มขนาดการกินตามที่คุณหมอแนะนำเมื่อคุณแม่ไปฝากครรภ์นะคะ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
และที่สำคัญการตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเดี่ยวหรือแฝด ถือเป็นความสุขที่กำลังเกิดขึ้นกับคุณแม่ อย่าได้วิตกกังวลมากเกินไปนะคะ ควรดูแลสุขภาพ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่นั้นสมบูรณ์ในช่วงตั้งครรภ์ทั้งร่างกายและจิตใจให้มากที่สุด อันจะเป็นผลดีต่อลูกน้อยในท้องด้วย.
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
www.momadad.com
www.siamhealth.net
บทความอื่นที่น่่าสนใจ :
แม่ท้องจะรู้ตัวได้อย่างไรว่ากำลังมีเบบี๋ในท้องสองคน!!
ความเสี่ยงที่แม่ตั้งครรภ์แฝดควรระวัง เพื่อคลอดลูกแฝดอย่างปลอดภัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!