ฟันทารกแรกเกิด ภาวะฟันโผล่ในทารกแรกเกิด
ฟันทารกแรกเกิด …โดยทั่วไปทารกแรกเกิดจะยังไม่มีฟันโผล่ขึ้นมา จนกว่าจะมีการพัฒนาของฟันที่ต่อเนื่องไปอีกจนฟันแข็งแรงจึงเริ่มโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งสาเหตุของฟันโผล่ที่แท้จริงยังไม่ทราบ อาจจากที่มีฮอร์โมนมากระตุ้น การสัมผัสกับสารพิษบางอย่าง การติดเชื้อ การขาดสารอาหารบางอย่าง เป็นต้น
พบอุบัติการณ์ประมาณ 1: 2,000 ถึง 1: 3,500 ของการคลอด
อุบัติการณ์นี้จะแปรเปลี่ยนไปตามเชื้อชาติอีกด้วยโดยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับเพศของทารก เรามักพบบ่อยบริเวณฟันกัดของขากรรไกรล่างและขึ้นเป็นคู่สมมาตรกัน ที่พบรองลงมาได้แก่ฟันกัดด้านขากรรไกรบน และฟันกรามด้านล่างตามลำดับ
การที่มีฟันของทารกโผล่ขึ้นมาเร็วเกินไป
- ส่งผลให้มีปัญหาในการดูดนมแม่ได้
- ทารกอาจมีอาการเจ็บเหงือกขณะดูดนม
- เกิดแผลที่ใต้ลิ้นจนทำให้ไม่อยากดูดนมจากเต้าได้
- ทั้งยังมีโอกาสสำลักนมได้มากขึ้น
- แม่เองอาจมีอาการเจ็บหัวนมได้
- เด็กทารกเองจะเข้าเต้าได้ยาก ทำให้ดูดนมได้น้อย ขาดการสื่อสารสัมพันธ์แม่-ลูก
- และอาจส่งผลให้ลิ้นทารกผิดรูปได้
ทารกอาจขาดสารน้ำหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนทารกเติบโตช้าและตัวเล็กได้ ที่สำคัญอีกประการคือต้องปรึกษากุมารแพทย์เพื่อให้ตรวจหาความผิดปกติแต่กำเนิดอื่นๆ ที่อาจแฝงอยู่ได้ เนื่องจากภาวะที่มีฟันโผล่ขึ้นมาก่อนนี้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการโรคพันธุกรรมของเด็กบางชนิดด้วย เช่น Pierre- Robin syndrome , ปากแหว่ง-เพดานโหว่ , และกลุ่มอาการเด็กดาวน์ซินโดรมด้วย
อาการแสดงฟันทารกแรกเกิด
มักพบเป็นฟันสีเหลืองหรือขาว มีขนาดเล็กหรือขนาดเท่าฟันปกติก็ได้ รูปร่างต่างๆ กันไปขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของตัวฟัน โดยที่อาจจะมีรากฟันที่ไม่แข็งแรงส่งผลให้ฟันโยกได้ง่าย จึงมีความเสี่ยงที่ทารกจะกลืนฟัน หรือสำลักเข้าหลอดลมได้
แพทย์มักจะส่งเอกซเรย์ฟันเพื่อแยกว่าเป็นฟันน้ำนมที่ขึ้นเร็ว (พบได้ร้อยละ 90) หรือฟันที่เกินมาซึ่งพบเป็นส่วนน้อยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น เราสามารถจำแนกประเภทของฟันที่โผล่มาได้หลายแบบ เช่น ตามความลึกของการฝังตัวในเหงือก การปรากฏของรากฟัน และการขยับของตัวฟัน เป็นต้น บางรายอาจแค่คลำพบว่ามีฟันนูนอยู่ใต้เหงือกโดยที่ไม่เห็นโผล่พ้นเหงือกออกมา
การรักษาฟันทารกแรกเกิด
เราจำเป็นต้องถอนฟันดังกล่าวทิ้งโดยเฉพาะถ้ามีฟันโยกได้เกิน 2 มิลลิเมตร โดยทันตแพทย์มักจะนัดมาถอนฟันออกหลังจากทารกเกิดแล้วได้ 8- 10 วัน ทั้งนี้เพื่อให้ทารกได้มีโอกาสรับเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ที่มีประโยชน์เพื่อช่วยในการสร้างวิตามิน K ซึ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยหลักในการแข็งตัวของเลือดเสียก่อน เนื่องจากการถอนฟันดังกล่าวอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือเลือดออกจากเหงือกได้นั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คลิปในห้องคลอดหมอกระแทกท้องแม่ ทั้งกดทั้งดัน อยากรู้ไหมทำไปเพราะอะไร?
สิ่งที่หมอสูติอยากให้แม่รู้ก่อน ดูแลทารกแรกเกิด และการดูแลทารกแรกคลอดในห้องคลอด
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการเด็ก ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!