ทำความรู้จักจุลินทรีย์ตัว Y ที่ชื่อ บิฟิดัส
เริ่มจากในปี พ.ศ. 2432 Henry Tissier กุมารแพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้พบเชื้อที่มีลักษณะเป็นรูปตัว Y จึงเรียกว่า “bifidus” ต่อมาในปีพ.ศ. 2450 Elie นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียได้รายงานเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่หมักพวกคาร์โบไฮเดรตแล้วให้ผลผลิตเป็นกรด lactic (lactic acid bacteria,LAB) ทำให้กากอาหารในลำไส้ไม่เกิดการบูดเน่า (putrefaction) และได้นำ LAB มาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินอาหาร อุจจาระร่วงและอหิวาตกโรค งานของท่านได้รับรางวัลโนเบลด้วย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้อย่างกว้างขวาง พบว่าในสัตว์ทดลองที่เลี้ยงให้อยู่ในภาวะปลอดเชื้อ ผลปรากฏว่า ระบบการปกป้องการรุกล้ำของเชื้อโรคเสียไป โดยมีเยื่อบุลำไส้ฝ่อ เนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่ควบคุมระบบภูมิคุ้มกันพัฒนาน้อย มีการซึมผ่านได้มาก ชั้นเยื่อเมือกที่ปกป้องพื้นผิวของเซลล์เยื่อบุหายไป และการเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติด้วย ดังนั้นเมื่อได้รับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม สัตว์ทดลองเหล่านี้จะติดเชื้อในเลือดอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิต
บิฟิดัสช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ
มีหลักฐานพบว่าทารกได้รับ bifidus ตั้งแต่อยู่ในมดลูก จึงได้รับการกระตุ้นให้สร้างสารปกป้องผิวเยื่อบุลำไส้ให้แข็งแรงโดยมีชั้นเยื่อเมือกปกป้องผิวเยื่อบุลำไส้ มีสาร IgA ไว้จับเชื้อ ทำให้ช่องว่างระหว่างเซลล์ติดกันดี ไม่ให้มีการซึมผ่านได้ง่าย มีพัฒนาการของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้เกิดเซลล์ที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อที่ลำไส้แบบป้องกัน และการบีบตัวของลำไส้ปกติ
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันมีพัฒนาการปกติ ถ้าเกิดมีเชื้อเข้ามาและเกาะที่ผิวเยื่อบุลำไส้ จะมีการตอบสนองเพื่อกำจัดเชื้อตามขั้นตอนดังนี้
- ผิวเยื่อบุที่ชั้นเยื่อเมือกจะมีสารที่ลวงให้เชื้อโรคจับ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าถึงผิวเซลล์เยื่อ
- เนื้อเยื่อน้ำเหลืองจะส่งท่อขึ้นมาตรวจสอบว่าเชื้อปล่อยสารพิษอะไร แล้วจะตอบสนองโดยการปล่อยสารภูมิคุ้มกัน IgAชนิดไม่เฉพาะออกมาก่อนเพื่อทำลายเชื้อ ถ้าเป็นเชื้อที่เป็นมิตร ก็จะไม่ทำลาย โดยยอมให้อยู่ด้วย
- ต่อไปร่างกายจะสร้างคุ้มกันชนิดจำเพาะ specific IgA เข้าจับทำลายเชื้อที่อาจฉวยโอกาสก่อโรคให้ได้ผลยิ่งขึ้น
- Bifidus ทำหน้าที่สื่อสารกับเซลล์เนื้อเยื่อน้ำเหลืองเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ เช่น ทำให้เม็ดเลือดขาวเคลื่อนเข้าล้อมเชื้อที่รุกล้ำได้เร็วขึ้น และเซลล์เม็ดเลือดขาวทำการฆ่าเชื้อ และยังกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องเยื่อบุลำไส้ทั้งที่ลำไส้ ระบบทางเดินหายใจ
บิฟิดัส จุลินทรีย์มีประโยชน์ ต่อลูกน้อยอย่างไร
จุลินทรีย์บิฟิดัส ป้องกันโรคที่เด็กเป็นกันบ่อยๆได้แก่ โรคอุจจาระร่วงและโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กเล็กได้รับ บิฟิดัส ที่มีอยู่ในน้ำนม แล้วติดตามการเจ็บป่วยนาน 6 เดือน พบว่าอาการและความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม มีการศึกษาในฟินแลนด์เกี่ยวกับการป้องกันโรคทางเดินหายใจโดยการเสริม Bifidobacterium lactis + Lactobacillus GG. ในนมผงสำหรับเลี้ยงทารกแก่ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ โดยเริ่มกินตั้งแต่อายุก่อน 2 เดือน เปรียบเทียบกับทารกที่กินนมผงชนิดที่ไม่ได้เสริมจุลินทรีย์แล้วติดตามการรักษาไปนาน 12 เดือนพบว่า โรคการติดเชื้อทางเดินหายใจลดลงครึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ได้จุลินทรีย์เสริม (28%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับจุลินทรีย์ (55%) เมื่อเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจก็มีอาการรุนแรงน้อย ไม่ต้องการยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์สูงในการรักษา
ผู้วิจัยอธิบายว่า ที่พบเช่นนี้น่าจะเกิดจาก เซลล์เม็ดเลือดน้ำเหลืองได้รับการฝึกจาก บิฟิดัส ให้ต่อสู้กำจัดเชื้อที่เยื่อบุทางเดินหายใจ และจุลินทรีย์ป้องกันการเติบโตของเชื้อที่ฉวยโอกาสก่อโรคบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน จึงเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนน้อยกว่า และการที่ได้รับเชื้อ บิฟิดัส กินร่วมกับการให้วัคซีนทั้งชนิดฉีดและกิน เมื่อตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกันพบว่ามีระดับสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับบิฟิดัส เช่น วัคซีน Hib, คอตีบ ไวรัสโรต้า ซามัลเนลลา โปลิโอ
เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยเตาะแตะ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ การใส่ใจในเรื่องโภชนาการที่ดี ให้ลูกได้รับการเลี้ยงดูจากนมแม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์บิฟิดัส จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและปกป้องความเสี่ยงของการเกิดโรคต่อลูกน้อย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!