คุณแม่ที่กินไม่ดีพอหรือละเลยเรื่องสุขภาพครรภ์ในระหว่างตั้งท้อง มีผลให้ ทารกในครรภ์ขาดสารอาหาร ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในท้อง บางรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ทารกในครรภ์ขาดสารอาหาร
- การรับประทานที่ไม่ดีพอของคุณแม่ ซึ่งอาจเกิดได้จากภาวะยากจน การแพ้ท้องรุนแรง ท้องอืดแน่น การไม่ใส่ใจในการเลือกทานอาหารที่ประโยชน์ การรับประทานไม่ครบ 5 หมู่ ไม่กินผัก ผลไม้ เป็นต้น
- คุณแม่ที่ขาดสารอาหารก่อนการตั้งครรภ์ มีร่างกายไม่แข็งแรงหรือน้ำหนักตัวน้อย หรือมีพฤติกรรมกินอาหารที่น้อยกว่าปกติอยู่เสมอ
- มีโรคประจำตัว เจ็บป่วยสม่ำเสมอ มีโรคที่ต้องคอยรับการรักษาอยู่ต่อเรื่อง เช่น โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคพยาธิลำไส้ แพ้อาหาร โรคไต โรคถุงน้ำดี เบาหวาน โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ติดเหล้า บุหรี่ สารเสพติดต่าง ๆ เป็นต้น
- กลัวอ้วน กลัวการลดน้ำหนักหลังคลอดทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิม จึงเลือกที่จะบริโภคอาหารในปริมาณน้อย
- ความเชื่อผิด ๆ เช่น กลัวลูกโตคลอดยากจึงเลี่ยงที่จะไม่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ กินน้อยเพราะคิดว่าจะทำให้ลูกตัวไม่ใหญ่มาก ช่วยให้คลอดง่าย
- ทำงานหนักขณะตั้งครรภ์หรือมีภาวะเครียด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กินน้อย ส่งผลให้ลูกในท้องขาดสารอาหาร
- ดื่มน้ำน้อย เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การดื่มน้ำไม่เพียงพอก็ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
- แม่ตั้งครรภ์แฝด ที่หากรับประทานน้อยก็จะทำให้ลูกแฝดไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ
- แม่ที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 18 ปี เนื่องจากร่างกายคุณแม่ก็ยังอยู่ในวัยที่ต้องการสารอาหารที่จำเป็นมากอยู่แล้ว หากตั้งครรภ์จึงควรบำรุงและเพิ่มคุณค่าทางอาหารมากกว่าปกติ
ถ้าแม่กินไม่ดีพอสงผลต่อลูกน้อยในครรภ์อย่างไร อ่านหน้าถัดไปกันค่ะ >>
สงสารลูกเถอะ! ถ้าแม่กินไม่ดีพอ
ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไร หากขณะตั้งครรภ์คุณแม่รับประทานอาหารไม่เพียงพอ ละเลยเรื่องโภชนาการที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ถูกเลย เพราะโภชนาการอาหารในช่วงตั้งครรภ์นั้นสำคัญมาก ๆ ทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย ซึ่งเรารู้กันดีว่าอะไรที่คุณแม่กินเข้าไปนั้นลูกในท้องก็จะได้รับสารอาหารนั่น ๆ ด้วย ถ้าหากคุณแม่เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสม สารอาหารเหล่านี้ก็จะช่วยไปบำรุงร่างกายและเสริมสร้างสมองให้ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี แต่ในทางกลับกัน หากคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์น้อย หรือเลือกกินแต่น้อย ลูกในท้องก็จะได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย เกิดปัญหาต่อสุขภาพของเจ้าตัวน้อยในท้อง และร้ายแรงจนก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทารกในครรภ์ขาดสารอาหาร จะเกิดผลร้ายอะไรบ้าง?
ภาวะขาดสารอาหาร คือภาวะที่เกิดจากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ ครบถ้วน รวมถึงวิตามิน และเกลือแร่ หากแม่ท้องขาดสารอาหารที่ควรจะได้รับระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะมีปัญหาต่าง ๆ เช่น แม่ท้องมีอาการปากแห้ง เจ็บปาก เป็นแผลมุมปากหรือแผลในปากและลิ้น เกิดโรคโลหิตจาง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย หน้ามืด ใจสั่น นอนไม่ค่อยหลับ มีความเครียด เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล มีปัญหาการย่อย การดูดซึมอาหาร หรือปัญหาจากโรคต่าง ๆ ท่ี่อาจเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้ลูกในครรภ์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก มีโอกาสที่จะทำให้คลอดก่อนกำหนดสูงหรือเสี่ยงแท้ง หรือทารกที่คลอดออกมาอาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีปัญหาด้านการพัฒนาสมองของทารก โดยเฉพาะการขาดสารอาหารในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก นอกจากนี้คุณแม่ที่ทานน้อย ยังส่งผลทำให้รกมีขนาดเล็กและเติบโตไม่ดีพอ เมื่อรกทำหน้าที่ไม่ดี โอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ก็สูงยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดที่สมองและร่างกายของทารกในครรภ์กำลังเติบโตเต็มที่ หากเด็กมีภาวะขาดสารอาหารก็จะเป็นปัญหาต่อพัฒนาการและการเติบโตได้
โดยข้อสังเกตของแพทย์ที่พิจารณาเบื้องต้นว่าลูกในท้องขาดสารอาหาร จะเริ่มสังเกตจากอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป เช็กจากขนาดท้องกับอายุครรภ์ว่ามีขนาดที่เหมาะสมหรือไม่ น้ำหนักของแม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ คุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจพบว่าลูกในท้องมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร คุณแม่ควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหาร 5 หมู่ เน้นอาหารประเภทโปรตีน แคลเซียม ผัก ผลไม้ที่ทำให้ได้รับวิตามินมากขึ้น ดื่มน้ำให้มาก นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมไม่ได้ทำให้ร่างกายคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าเกณฑ์ แต่จะได้คุณค่าสารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่และส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ให้สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมกับพัฒนาการดี ๆ ของลูกนะคะ.
อ้างอิงข้อมูลจาก :
kaijeaw.com
todayhealth.org
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ลูกป่วยบ่อย ทำไงดี เดี๋ยวหวัด เดี๋ยวไอ เดี๋ยวท้องเสีย สงสารลูกมาก
สงสารลูกเถอะ! แม่ท้องเครียด ส่งผลถึงพัฒนาการลูก ถ้ารักลูกอย่าเครียดเลยนะจ๊ะแม่!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!