ดูแลอย่างไรเมื่อลูกเป็นโรคลมชัก

เวลาที่ลูกตัวร้อนมีไข้ ไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ย่อมวิตกกังวลเป็นห่วงเป็นใยเจ้าหนูเกรงถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าลูกมีอาการเป็นโรคลมชักนี่สิ จะทำอย่างไร มาดูกันว่าโรคลมชักคืออะไร สามารถรักษาได้หรือไม่ ติดตามอ่าน
เรื่องน่ารู้ : โรคลมชัก (Epilepsy)
พ.ญ.พวงทอง บุณยธรรมา กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กล่าวถึง โรคลมชัก ไว้ว่า ประเทศไทยมีผู้เป็นโรคลมชัก พบว่า ประชากรจำนวน 100 คน จะพบโรคลมชักประมาณ 1-2 คน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็ก พบว่า เด็ก 14 คน มี 1 คน ที่เคยมีอาการชักอย่างน้อย 1 ครั้ง ในชีวิต
โรคลมชัก (Epilepsy) คือ ภาวะที่สมองทำงานผิดปกติชั่วขณะ และมีแนวโน้มที่จะเป็นซ้ำ ๆ ได้บ่อย อาการแสดงขณะชัก ขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่ทำงานมากผิดปกติว่า เป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานของสมองส่วนใดของร่างกาย เช่น การเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ การเห็นภาพผิดปกติ การได้กลิ่นผิดปกติที่เป็นชั่วครู่ ส่วนใหญ่อาการชักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ หลังจากการชักแล้ว เด็กจะมีอาการอ่อนเพลียมาก
คุณหมอ กล่าวว่า โรคลมชักในเด็กส่วนใหญ่หากได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ และถูกวิธี สามารถรักษาให้หายได้
1. โรคลมชักแบ่งออกเป็น ชนิดชักทั้งสมอง (generalized seizure)
2. ชักเฉพาะบางส่วนของสมอง (partial seizure) แบ่งตามบริเวณของสมองที่มีการทำงานผิดปกติขณะชัก
สาเหตุ
พญ.ณัฐลดา ลิโมทัย อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึง สาเหตุของโรคลมชักนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งพบว่ามีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ รวมถึงการที่สมองเคยได้รับอันตรายต่าง ๆ มาก่อน เช่น ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดสมองผิดปกติ การติดเชื้อของระบบประสาท ความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้ อาจจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคลมชัก
อาศัยจากสังเกตอาการผิดปกติ ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วขณะร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่นอน ในบางรายอาจต้องมีการตรวจโดยวิธีพิเศษ เช่น CT-SCAN, MRI ขึ้นอยู่กับคุณหมอพิจารณาค่ะ
การปฏิบัติเมื่อรับการรักษาโรคลมชัก
1. คุณแม่ต้องให้ลูกทานยากันชักตามคำแนะนำของคุณหมอทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
2. ทานยากันชักตามเวลาที่แนะนำ
3. สังเกตอาการข้างเคียงของยากันชัก ถ้ามีตามคำแนะนำของคุณหมอ หากมีอาการข้างเคียงต้องรีบปรึกษาคุณหมอโดยด่วน และห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด อาจเกิดอาการชักจากการขาดยาได้
4. คุณแม่ควรจดบันทึกลักษณะอาการชักทุกครั้งที่มี ตลอดจนวันและเวลาที่มีอาการชัก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณหมอในการปรับยารักษาอาการชัก หรือช่วงเวลาที่จะให้ยาแก่ผู้ป่วย
5. หลีกเลี่ยงอาการที่เสี่ยงต่อการชักซ้ำ เช่น อดนอน เล่นหรือออกกำลังกายหักโหมมาก, พักผ่อนไม่เพียงพอ, ขาดยากันชัก, การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ และการอดอาหาร เป็นต้น
การปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐานหากมีอาการชัก
1. คุณแม่ต้องตั้งสติให้ดีก่อนนะคะ หลังจากนั้นจับลูกนอนตะแคงบนพื้นราบ ที่ไม่มีของแข็งเพราะอาจกระแทกตัวลูกทำให้เกิดอันตรายได้
2. ใช้ลูกสูบยางแดงดูดน้ำลาย เสมหะออกจากปากเพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง
3. ห้ามเอาช้อนหรือไม้กดลิ้นงัดปากขณะลูกชัก เพราะอาจทำให้ให้ฟันหักได้ ที่สำคัญเศษฟันอาจจะหลุดลงไปในหลอดลมทำให้หายใจไม่ออก
4. ไม่ควรจับยึดตัวลูกขณะกำลังชัก หรือพยายามฝืนอาการชักเพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ไหล่หลุด แขนหัก เป็นต้น
5. ถ้าลูกมีอาการชักอยู่นานจะหยุดหายใจ และริมฝีปากเขียว ควรทำการช่วยหายใจ ด้วยวิธีการเป่าปาก
6. อาการชักส่วนใหญ่เกิดขึ้นไม่นานเกิน 3 นาที โอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายถาวรต่อสมองมีน้อยมาก แต่ถ้าลูกมีอาการชักแต่ละครั้งแล้วสติไม่คืนกลับสู่ภาวะปกติต้องปรึกษาคุณหมอโดยด่วนเพราะอาจมีปัญหาทางด้านระบบประสาทได้
หากลูกมีอาการชัก สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำที่คุณหมอให้ไว้ตามบทความนี้ได้นะคะ ที่สำคัญห้ามลืมทานยาหรือหยุดยาเองเด็ดขาด ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่นะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
แผ่นพับ “โรคลมชัก...ในเด็ก” แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
Credit ภาพ : http://www.pathfindersforautism.org, http://www.slideshare.net
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข่าวดี! มีหน่วยงานยื่นมือช่วยเหลือน้องไอซ์ ป่วยลมชักแล้ว!!
แม่ร้องเรียนบริษัทขนส่ง หลังไม่ยอมให้บริการลูกสาวเพราะป่วยเป็นโรคลมชัก