คนท้องห้ามทําอะไรบ้าง ตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และข้อห้ามตามความเชื่อสมัยโบราณ
ทุกครั้งที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ มักจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอมากมาย เกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเอง ข้อห้าม ข้อควรระวัง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ยินคำเตือนจากคนในครอบครัว คนรู้จัก คนเฒ่าคนแก่ ที่ฟังดูแล้วอาจจะขัดใจ ไม่เข้าใจ บทความนี้จะชวนคุณแม่มาดูกันว่า คนท้องห้ามทำอะไรบ้าง ตามความเชื่อโบราณ และข้อห้ามตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ
คนท้องห้ามทำอะไรบ้าง ตามความเชื่อโบราณ
- ห้ามคนท้องกินอาหารในหม้อขณะที่ยังไม่ได้ยกลงจากเตา
- ห้ามคนท้องลอดรั้ว
- ห้ามคนท้องผ่ามะพร้าว
- ห้ามคนท้องนอนหงาย
- ห้ามคนท้องข้ามเชือกวัวเชือกควาย
- ห้ามคนท้องใช้ไม้สอยผลไม้บนต้นไม้สูง
- ห้ามคนท้องจับถือยาทุกชนิด
- ห้ามคนท้องทักทายคนอื่นที่กำลังจะไปทำงาน
- ห้ามผู้เป็นสามีขุดหลุมฝังเสา หรือตอกตะปูในระหว่างที่ภรรยาตั้งท้อง
- ห้ามซ่อมแซมหรือก่อสร้างบ้านที่มีคนท้องอาศัยอยู่
- ห้ามคนท้องไปเยี่ยมคนป่วย
- ห้ามคนท้องเข้าพิธีสวดขับไล่สิ่งไม่ดี
- ห้ามคนท้องเย็บปักถักร้อย
ห้ามคนท้องกินอาหารในหม้อขณะที่ยังไม่ได้ยกลงจากเตา
เชื่อว่าจะทำให้เจ็บท้องคลอดเป็นเวลานาน ผุดลุกผุดนั่งเหมือนกับแกงในหม้อที่กำลังเดือด หรือเชื่อว่าจะทำให้ลูกเกิดยากเหมือนลักษณะที่หม้อแกงค้างอยู่บนเตา แต่ความจริงแล้ว การตักอาหารกินในขณะที่ยังไม่ได้ยกลงจากเตานั้น อาจจะหกเลอะเทอะ และอาหารที่กำลังร้อน ๆ อาจจะโดนผิวจนแสบร้อนได้ ที่สำคัญคือ ไม่เหมาะที่จะทำอยู่แล้วไม่ว่าจะคนท้องหรือคนทั่วไป ทางที่ดีควรตักอาหารใส่จานให้เรียบร้อย และยกมานั่งกินบนโต๊ะอาหารดีกว่า
ห้ามคนท้องลอดรั้ว
เหตุผลที่ห้ามแม่ท้องลอดรั้วเป็นเพราะในสมัยก่อน รั้วบางบ้านได้ปลูกต้นหนามต่าง ๆ รอบเอาไว้ อาจทำให้เกิดอันตรายแก่คนท้องได้ อีกความเชื่อหนึ่งคือหากแม่ท้องลอดรั้วจะทำให้คลอดลูกยาก ถือคติตามประวัติของพระองคุลีมาลขณะออกบิณฑบาต หญิงท้องรอตักบาตรแต่เมื่อเห็นหน้าว่าและจำได้ว่าเป็นองคุลีมาล อดีตโจรที่เคยตัดนิ้ว จึงตกใจวิ่งมุดลอดรั้วทำให้ท้องติดอยู่กับรั้วและได้คลอดลูก ณ ริมรั้วนั้นเอง
ห้ามคนท้องผ่ามะพร้าว
ความเชื่อว่าหากแม่ท้องผ่ามะพร้าวจะทำให้ลูกที่เกิดมามีหัวโตเหมือนลูกมะพร้าว แต่จริง ๆ ข้อห้ามนี้คงเป็นกุศโลบายที่ว่า หากแม่ท้องผ่ามะพร้าวเอง ถ้าไม่ระวังอาจเกิดอุบัติเหตุจากแรงเหวี่ยงของมีดที่ผ่าแฉลบ ทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้
ห้ามคนท้องนอนหงาย
โบราณว่าถ้าแม่ท้องนอนหงาย ลูกจะดิ้นแรงทำให้ท้องแตก แต่ความจริงที่ห้ามนอนหงายนั้น เป็นเพราะว่าเมื่อครรภ์เริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ การนอนง่ายจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด นอนไม่สบาย ความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้แม่ท้องมีอาการหน้ามืด เวียนหัว ตาลาย หรือจะเป็นลมได้ เมื่อนอนหงายเป็นเวลานาน ๆ หากต้องการนอนหงายควรหาหมอนมาหนุนเท้าเอาไว้ เพื่อให้อยู่ในท่านอนหงายที่เหมาะกับคนท้องมากที่สุด
ห้ามคนท้องข้ามเชือกวัวเชือกควาย
ในสมัยก่อนการห้ามไม่ให้แม่ท้องข้ามเชือกเส้นที่กำลังใช้ผูกวัวผูกควายอยู่ เพื่อเป็นการระวังภัยว่าหากวัวควาย ดึงเชือกในจังหวะที่กำลังข้าม จะทำให้สะดุดล้มเกิดอันตรายต่อแม่และลูกในท้องได้
ห้ามคนท้องใช้ไม้สอยผลไม้บนต้นไม้สูง
เพราะการใช้ไม้สอยที่มักจะต่อกันเป็น 2 ท่อนนั้น ถ้าผูกไม่ดีก็เกรงว่าไม้ท่อนบนที่ใช้สอยผลไม้ที่อยู่สูงนั้นอาจหลุดร่วงลงมาเป็นอันตรายต่อแม่ท้องได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยิ่งอายุครรภ์มาก นอนหงาย อันตราย!
ห้ามคนท้องจับถือยาทุกชนิด
เชื่อว่าถ้าคนท้องจับยาจะทำให้ยารักษาโรคเหล่านั้นหมดประสิทธิภาพ เพราะโดนคุณไสยที่เสกเป่าใส่ตัวยาไว้จะเสื่อมไป ใช้รักษาโรคต่าง ๆ ไม่ได้ผล
ห้ามคนท้องทักทายคนอื่นที่กำลังจะไปทำงาน
ทำงานในที่นี้หมายถึง ชาวบ้านที่กำลังออกไปทำมาหากิน ไปหาปูหาปลา ไปค้าขาย ไปเพื่อการเสี่ยงโชค เป็นต้น เพราะเชื่อว่าถ้าแม่ท้องไปทักจะทำให้อับโชค ค้าขายไม่ขึ้น หรือไม่ได้ปูปลาตามที่ตั้งใจไว้
ห้ามผู้เป็นสามีขุดหลุมฝังเสา หรือตอกตะปูในระหว่างที่ภรรยาตั้งท้อง
ไม่ว่าจะเป็นการขุดฝังเสาล้อมรั้วบ้าน หรือจะทำการตอกตะปูนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่ได้ เพราะเชื่อว่าลูกในท้องจะไม่ยอมออกจากท้องแม่ ไม่ยอมคลอดง่าย ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่จึงมักจะบอกว่า ให้สามีลองนึกดูว่าไปตอกหรือขุดฝังอะไรหรือเปล่า ถือตามความหมายของคำว่าที่ฝังเสา ตอกให้แน่น ก็เหมือนกับการติดยึดไว้ ถ้าเคยก็ให้ไปขุดหรืองัดตะปูออกให้หมด เพื่อที่จะทำให้ลูกคลอดง่ายนั่นเอง
ห้ามซ่อมแซมหรือก่อสร้างบ้านที่มีคนท้องอาศัยอยู่
เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจากการเผลอเหยียบกองวัสดุ ตะปู อุปกรณ์มีคมทั้งหลาย ไหนจะโครงสร้างที่ยังไม่เสร็จดี อาจมีชิ้นส่วนตกลงมาใส่ อีกทั้งฝุ่น เขม่า กลิ่นสีที่ทำมาจากสารเคมี และเสียงตอกตะปู เสียงเชื่อมเหล็ก ตัดกระเบื้อง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้แม่ท้องรู้สึกไม่สบาย เครียด อึดอัด และหงุดหงิดได้
ห้ามคนท้องไปเยี่ยมคนป่วย
เพราะที่โรงพยาบาลมีคนไข้และคนเยี่ยมผู้ป่วยจำนวนมาก อาจเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ ซึ่งไม่เหมาะกับคนท้องที่ร่างกายมีภูมิคุ้มลดลงในช่วงนี้
ห้ามคนท้องเข้าพิธีสวดขับไล่สิ่งไม่ดี
เพราะโบราณเชื่อว่า หากคนท้องเข้าพิธีสวดจะไปติดพลังหรือกระแสที่ไม่ดีส่งผลกระทบถึงเด็กในท้องได้ และเป็นพิธีที่มีคนหมู่มากอาจเกิดความโกลาหลได้ง่าย เกรงว่าคนท้องจะเคลื่อนไหวไม่สะดวก และเกิดอุบัติเหตุจากการชน ล้ม เจ็บได้
ห้ามคนท้องเย็บปักถักร้อย
เพราะว่าการใช้เข็มหรือของมีคมอาจพลาดทำให้เกิดอุบัติเหตุ เลือดออก และติดเชื้อบาดทะยักได้ รวมถึงการทำงานเย็บปักต้องใช้เวลาทำงานการที่จะนั่งอยู่ท่าเดียว จะทำให้แม่ท้องรู้สึกไม่สบายตัว และทำให้ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัวได้ง่ายนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายข้อห้ามที่โบราณว่าไว้ เช่น ห้ามกินหัวปลี ห้ามอาบน้ำตอนกลางคืน ห้ามซื้อของใช้เด็กอ่อนก่อนคลอด ฯลฯ ข้อห้ามคนท้องที่โบราณเขาว่า << คลิกอ่านเพิ่มเติมกันเลยค่ะ
ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1-3 เดือนแรก ที่คุณแม่ควรรู้
ระยะการตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก เป็นระยะของการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่จึงควรระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้มาก หากคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ได้รับยาบางอย่าง ฉายรังสี หรือแม้แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ มีสารเคมี ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ มาดูกันว่า ข้อห้ามสำหรับคนท้อง 1 – 3 เดือนแรก มีอะไรบ้าง
1. อาหารการกิน
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก
เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ ทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) ที่เกิดจากการติดเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) เมื่อคุณแม่กินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบ ๆ สุก ๆ เข้าไป เช่น สเต็ก ลาบดิบ โดยไม่ได้ทำให้สุกพอที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้ สามารถติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้
ถ้าคุณแม่ติดเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอเป็นครั้งแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่จะติดต่อสู่ลูกน้อยในครรภ์ผ่านทางรก โดยทารกที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสแท้ง หรือตายแรกคลอด หรืออาจมีอาการตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ ชัก น้ำคั่งในสมอง หัวบาตหรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน เป็นต้น
ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล
หลีกเลี่ยงการบริโภคปลาและหอยบางประเภทซึ่งอาจมีสารปรอทสูง สารปรอทจะทำลายระบบประสาท ของทารก ยิ่งปลามีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสารปรอทสูงเท่านั้น
- องค์การอาหารและยาของสหรัฐแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยง ปลาดาบ ปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลา Tile fish ปลากระโทงแทง
- หากคุณกังวลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารทะเล องค์การอาหารและยาระบุว่าคุณสามารถกิน ปลาดุก ปลาพอลล็อค ปลาแซลมอน กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ได้สัปดาห์ละ 12 ออนซ์ (ประมาณอาหารมื้อปกติ 2 มื้อ)
- หลีกเลี่ยงการกินปลาและหอยดิบ หรืออาหารทะเลรมควันแช่เย็น ซึ่งแปลว่า คนท้องควรงดซูชิตลอดช่วงตั้งครรภ์ พยายามปรุงอาหารทะเลด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส เนื้อปลาสุกจะล่อนเป็นชิ้นและมีสีขุ่น สำหรับกุ้ง ล็อบสเตอร์ และหอยเชลล์ ปรุงจนกลายเป็นสีขาวขุ่น หอยชนิดต่าง ๆ ควรปรุงจนฝาเปิด
2. การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์
การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่แม่ท้องต้องระวังให้มาก ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น และต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้งด้วยว่าตั้งครรภ์อยู่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์ เนื่องจากยาบางตัว หากคุณแม่ได้รับในช่วง 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กพิการ เจริญเติบโตช้า หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
หากคุณแม่รับประทานยามาก่อนหน้าที่จะรู้ตัวว่าท้อง เช่นยาแก้สิว ยาแก้ไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่าง ๆ คุณแม่ควรนำยานั้นไปปรึกษาคุณหมอว่ายังสามารถรับประทานต่อไปได้หรือไม่
แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิด ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ ซึ่งยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล ลดไข้ แก้ปวด ยาคลอเฟนิรามีน แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก ยาเพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน เป็นยาปฎิชีวนะที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับสตรีมีครรภ์ และผงเกลือแร่
3. สิ่งแวดล้อม
สถานที่ที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ บริเวณที่มีสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคอาศัยอยู่ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี รวมถึง งานบ้านที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี สีทาบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาล้างเล็บ ยาฉีดยุง ซึ่งมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายเมื่อสูดหายใจ หรือสัมผัสและดูดซึมผ่านผิวหนัง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้
จากการวิจัยพบว่า คุณแม่ท้องที่อยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น
แม้แต่ยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ในผักผลไม้ ยังมีความเชื่อมโยงไปสู่ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด และภาวะแขนขาพิการแต่กำเนิด ดังนั้น คุณแม่ไม่ควรมองข้ามการล้างผักให้สะอาดทุกครั้ง
หลีกเลี่ยงการรับรังสีจากการเอ็กซเรย์ หรือบริเวณที่มีการแผ่รังสี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเด็กทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับรังสีปริมาณมาก จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และจะผ่านจากรกไปสายสะดือ และเข้าสู่ทารก ทำให้พิการแต่กำเนิด เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการพัฒนาของสมอง และเสี่ยงต่อมะเร็ง
4. บุหรี่ สารเสพติด
เชื่อกันว่าสารนิโคตินในบุหรี่สามารถผ่านรกไปยังทารกได้ ซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ คุณแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
และถึงแม้ว่าคุณแม่จะคลอดครบกำหนด ลูกก็มักจะออกมาตัวเล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ ระบบการหายใจล้มเหลวอย่างฉับพลันในทารกแรกเกิด มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งอาจเกิดความพิการรุนแรง หรือมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า และอาจแสดงออกเหมือนเด็กปัญญาอ่อน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 ความเชื่อเกี่ยวกับทารกที่เกิดได้กับพ่อแม่ป้ายแดง
เปิดตำนานความเชื่อ “แม่ซื้อ” เทวดาคุ้มครองทารก
คนท้องห้ามกินไข่ไม่สุก จริงไหม กินแล้วจะเป็นอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า?
ที่มา: theasianparent, mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!