โรคพิษสุนัขบ้า เด็กพม่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
เหตุการณ์ เด็กพม่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ถูกส่งข้ามฝั่งมาที่โรงพยาบาลใน อ.พบพระ จ.ตาก โดยมีภาพเคลื่อนไหว หรือคลิปโพสต์ลงในเว็บไซต์ไทยรัฐ ในคลิปจะเห็นว่า เด็กน้อยดิ้นทุรนทุราย มีอาการคล้ายชักกระตุก คาดว่า เด็กพม่าที่น่าสงสารรายนี้ ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือเป็น โรคพิษสุนัขบ้า
สุดสงสารเด็กพม่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
เด็กชายชาวเมียนมาหรือเด็กชายชาวพม่า ได้ข้ามจากฝั่งบ้านวาเล่ย์ใหม่ อำเภอซูการี จังหวัดเมียวดี เพื่อเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยะพอ อ.พบพระ จ.ตาก
อาการของเด็กพม่ารายนี้ คล้ายกับการติดเชื้อเป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีอาการดิ้นทุรนทุราย พอถูกเรียกแสดงอาการฉุนเฉียวดิ้นกระโดด ต้องมัดเท้าไว้ เรียกได้ว่า อาการหนักเลยทีเดียว
ขณะนี้เด็กชายคนดังกล่าว ถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลพบพระ และแพทย์กำลังประเมินอาการของโรคอย่างใกล้ชิดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทางสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานท้องถิ่นได้แจ้งเตือนราษฎรไทยที่ข้ามไปทำไร่ฝั่งเมียนมา ให้ระมัดระวัง เพราะอาจถูกสุนัขจรจัดที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดเอาได้ ซึ่งจังหวัดตากมีพื้นที่สีแดงคือ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก และตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด
คลิกชมคลิป https://www.thairath.co.th
หมอแล็บแพนด้าเตือนเมื่อถูกหมากัดอย่าประมาท
เพจหมอแล็บแพนด้า เตือนว่า ถ้าไม่อยากตาย เมื่อถูกหมากัดอย่าประมาทน
- ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ย้ำว่าทันที
- ฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง
- ทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ฯ เพื่อให้เชื้อมันถูกเจือจางและให้มีเชื้อน้อยที่สุด
- รีบไปหาหมอหรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนและอาจฉีดเซรุ่มให้ด้วย
สำหรับหมาให้กักขังไว้ซัก 15 วัน ถ้าไม่ขังเผื่อมันมีเชื้อมันก็จะไปกัดหมาแมวตัวอื่นและกัดลูกหลานเราอีก ก็ให้อาหารให้น้ำมันตามปกตินี่แหละครับ ถ้ามันมีเชื้อพิษสุนัขบ้าจริงๆ ไม่เกิน 15 วันมันก็ตายแล้ว โรคนี้ไม่มียารักษา ถ้าเป็นแล้วตาย 100% เลยนะ
โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาด
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2561 กรมปศุสัตว์ประกาศให้ 13 จังหวัดเป็นเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า หรือ “พื้นที่สีแดง” ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ และ อีก 42 จังหวัดเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าหรือ “พื้นที่สีเหลือง” เรื่องของโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคกลัวน้ำ” (Hydrophobia) ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ จะพบโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดในสุนัขและแมว ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยมากกว่า 60% คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้า “รักษาหาย” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคนี้จริงๆแล้ว หากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แล้วไม่มี การทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ โอกาสที่จะป่วยและเสียชีวิตคือ 100% หมายความว่า โรคนี้ถ้าอาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว นั่นคือสัญญาณบอกว่าสายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน หรือพูดง่าย ๆ ภาษาชาวบ้าน ก็คือโรคพิษสุนัขบ้าเป็นแล้ว “ตายทุกราย”
สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ มาจากการชะล่าใจของผู้ป่วยในการป้องกันและรักษาโรค ไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า น่ากลัวกว่าที่คิด
ช่วงเด็กปิดภาคเรียน เป็นช่วงที่เด็กมีโอกาสสัมผัสคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว เด็กจึงมีโอกาสถูกสุนัขกัดได้มากกว่าช่วงอื่นๆ เรามาทำความรู้จักโรคพิษสุนัขบ้ากันค่ะว่ามันน่ากลัวขนาดไหน
โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร ?
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส (Rabies) โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ในปัจจุบันยังไม่มียาอะไรที่จะรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย
โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดกับสุนัขเท่านั้น
ชื่อของโรคทำให้เข้าใจกันผิดคิดว่าโรคนี้เกิดกับสุนัขเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้เกิดกับสัตว์เลือดอุ่นด้วย โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต กระต่าย หนู ค้างคาว แม้แต่สัตว์เศรษฐกิจอย่าง วัว ควาย ม้า สุกร โดยสุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุด กว่า 95% ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองมาคือ แมว
คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง?
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเนื่องจากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ที่เป็นโรค คนสามารถติดโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้ 2 ทางคือ
- ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
- ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์เหล่านั้น นอกเสียจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอกหรือรอยขีดข่วน โดยคนนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้สามารถเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งถูกเลียที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตา
ระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้า
ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2 – 8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก
อาการของคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว
จากนั้นจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลากลืน เพราะการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง
ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
ข้อควรปฏิบัติเมื่อถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด
- ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาพิวิดีน (เบตาดีน) หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ ไอโอดีน แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
- ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 10 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณไม่สามารถป้องกันโรคได้ ไม่ควรรอดูอาการสุนัข เพราะอาจสายเกินไปที่จะฉีดวัคซีน การฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุดอยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด
- ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่า สัตว์จรจัด สัตว์กัดแล้วหนีไป หรือจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ จำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน
- ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ มีบาดแผล ไม่ว่าจะเป็นรอยช้ำเขียวหรือมีเลือดไหล แผลถลอกหรือแผลลึก รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก และผิวหนังที่มีแผลถลอก ส่วนในกรณีที่ถูกเลียผิวหนังที่ไม่มีแผลหรือเพียงแต่อุ้มสุนัขไม่สามารถจะติดโรคได้
รู้หรือไม่? โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนล่วงหน้าก่อนได้รับเชื้อ ติดตามได้ในหน้าถัดไป>>
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- การฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสสัตว์ มักจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเช่นกัน
การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ: วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)
ทุกคนสามารถฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ โดยเฉพาะเด็กที่มักเล่นกับสัตว์และมีโอกาสถูกสัตว์กัด มักมีบาดแผลที่รุนแรง บริเวณใบหน้า ศีรษะ หรือถูกเลียมือที่มีแผลหรือที่ปาก โดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ หรือควรฉีดป้องกันในบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล
- การฉีดวัคซีนหลังการสัมผัสสัตว์ จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยเสมอ โดยอาจแบ่งเป็นกรณีได้ดังนี้
2.1 ไม่ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่สัมผัสกับสัตว์โดยที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น การให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด (ยกเว้น น้ำลายหรือเลือดของสัตว์กระเด็นเข้าทางตา หรือปากจะต้องรับการฉีดวัคซีน)
2.2 ต้องฉีดวัคซีนในกรณีที่
- ถูกงับเป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดออก
- ถูกเลีย หรือ น้ำลายถูกผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีแผล
- ถูกข่วนที่ผิวหนังโดยไม่มีเลือดออกหรือออกซิบๆ
- ถูกกัดหรือข่วนเป็นแผล (แผลเดียวหรือหลายแผล) และมีเลือดออก
- มีน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด) จากร่างกายสัตว์ ซากสัตว์ เนื้อสมองสัตว์ รวมถึงการชำแหละหรือลองผิวหนังสัตว์ ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือแผลตามผิวหนัง
หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่ ?
หญิงตั้งครรภ์ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย และอิมมูโนโกลบุลินก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์เช่นกัน
ลืมมาฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายไปเป็นอะไรไหม?
การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีหากลืมหรือไม่สามารถมาตามกำหนดวันนัดหมาย ก็ควรรีบมารับการฉีดวัคซีนต่อจนครบให้เร็วที่สุด (ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่าการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนดไป 2-3 วัน จะไม่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าช้าเกินกว่านี้ยังไม่พบข้อมูลการรับรองประสิทธิภาพ)
รู้อย่างนี้แล้ว หากลูกของคุณมีความเสี่ยงที่จะถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัยค่ะ
ที่มา https://www.ku.ac.th/, https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/
ระบบรายงานผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เช็คลิสต์ลูกเหมาะกับอนุบาลแนวไหน บูรณาการVSแนววิชาการ
5 พฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ควรทำลายคุณค่าของลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!