โรคโลหิตจาง ในคนท้อง เกิดจากภาวะแม่ท้องขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องรับประทานให้เพียงพอในทุกวัน เพราะร่างกายแม่ต้องการสารอาหารชนิดนี้ไปช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทารก และบำรุงรก ที่จะทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารไปสู่ลูกน้อย ทราบหรือไม่ว่า โรคโลหิตจาง นั้นเป็นโรคที่พบมากในเด็กและแม่ตั้งครรภ์ ถึงร้อยละ 50 ของผู้หญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ทั่วโลก วันนี้เรามาดูเกร็ดความรู้เรื่องของโรคโลหิตจาง ทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยกันเลยค่ะ
ภาวะ โรคโลหิตจาง เกิดจากที่แม่ท้องขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
โรคโลหิตจาง (Anemia) ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายของคนเราขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้มีการผลิตเม็ดเลือดแดงน้อยลง ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอาการป่วยที่ปรากฏได้ชัด แต่สำหรับแม่ท้องขาดธาตุเหล็กนั้น อันตรายอย่างมาก เพราะจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ มีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ภาวะน้ำคร่ำลดลง รกไม่แข็งแรง ซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตเด็กในท้องได้ ซึ่งภาวะโรคโลหิตจางอาจมาจากหลายสาเหตุเช่น
-
คุณแม่ท้องอาจเสียเลือดมาก
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้ปลอดภัย แข็งแรง สมบูรณ์ แต่หากคุณแม่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เสียเลือดมาก หรือป่วยบางโรคจนต้องเสียเลือด นี่ก็คือ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องเสี่ยงกับโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายสูญเสียเลือดและผลิตเฮโมโกลบินหรือเม็ดเลือดแดงไม่ทัน
-
มีแผลในกระเพาะอาหาร
ดูเป็นเรื่องไม่น่าเป็นไปได้ใช่ไหมคะ แต่หากคุณแม่เกิดมีแผลในกระเพาะอาหาร เช่น รับประทานอาหารรสจัดบ่อย หรือกินข้าวไม่ตรงเวลานี่ก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้ อีกทั้ง โรคริดสีดวงทวารหนักที่ทำให้คุณแม่อาจถ่ายเป็นเลือดบ่อย ๆ แม้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่อาจส่งผลกระทบไปถึงการสูญเสียเลือดและเกิดภาวะโลหิตจางได้
-
ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้
หากคุณแม่พยายามรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง แต่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ได้ ก็เหมือนสูญเปล่า ดังนั้น คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่เสริมการดูดซึมธาตุเหล็กเช่น วิตามินซี เช่น ร่างกายได้รับวิตามินซี 250 มิลลิกรัม จะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกายได้ร้อยละ 10 ดังนั้น คุณแม่สามารถรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กควบคู่กับน้ำส้ม ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงได้จะดีมาก แต่อาหารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น กาแฟ นม ยาลดกรด ผักผลไม้บางชนิด จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลงน้อยกว่า 10 %
-
อาการแพ้ท้อง
เชื่อหรือไม่ว่า อาการแพ้ท้องก็สามารถทำให้คุณแม่ขาดธาตุเหล็กได้ นั่นเป็นเพราะคุณแม่อาจจะอาเจียนธาตุเหล็กออกมา แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ต้องตกใจค่ะ คนเราสามารถมีภาวะขาดธาตุเหล็กได้ แต่เราจะมีวิธีเสริมบำรุงธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกายเพื่อต่อสู้กับโรคโลหิตจางได้อย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง: อาหารเพิ่มเม็ดเลือดแดงคนท้อง คนท้องเลือดจางควรกินอะไร ?
โรคโลหิตจาง ส่งผลอันตรายต่อแม่ท้องและทารกอย่างไร?
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับเฮโมโกลบินน้อยว่า 11 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีความเสี่ยงหรืออยู่ในภาวะโลหิตจาง
-
ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ คล้ายกับอาการแพ้ท้อง
- เบื่ออาหาร อาเจียน เป็นลมง่าย สมองมึนงง
- มีภาวะหายใจไม่อิ่ม หายใจถี่และเหนื่อยง่าย
- อาจเกิดภาวะบวมและเป็นความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- อาจทำให้ ตกเลือด เกิดภาวะแท้งบุตรเนื่องจากรกและน้ำคร่ำไม่สมบูรณ์
-
ผลกระทบต่อลูกน้อย
- ลูกน้อยในครรภ์จะเจริญเติบโตช้า ไม่ตามเกณฑ์แบบทารกปกติ
- อาจอยู่ในภาวะคลอดก่อนกำหนด และเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางร่วมด้วย
- เมื่อแรกคลอด อาจมีน้ำหนักทารกน้อยกว่าเกณฑ์
- จากภาวะโลหิตจางของแม่อาจทำให้ลูกมีพัฒนาการช้ามาก
- หากไม่รักษา ลูกอาจมีพัฒนาทางสติปัญหาช้ากว่าเพื่อนในวัยเรียน เช่น ร่างกายอ่อนแอ สมาธิสั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง: อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ที่คนท้องควรรับประทาน มีอะไรบ้าง ?
ทำไมคุณแม่ถึงต้องการธาตุเหล็กเพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการอาหารครบ 5 หมู่ค่ะ เพราะตอนตั้งท้อง คุณแม่จะต้องมีเลือดเพิ่มขึ้นถึง 45 % เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายและทารกในครรภ์ ที่สำคัญความต้องการธาตุเหล็กก็เพื่อสร้างรก เพื่อเลี้ยงทารกในมดลูก อีกทั้ง คุณแม่ยังต้องการธาตุเหล็กเพื่อเตรียมตัวคลอด เพราะไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด ย่อมมีการสูญเสียเลือดถึง 600-1,000 มิลลิลิตร ดังนั้น หากคุณแม่มีภาวะโลหิตจาง การทำให้เสียชีวิตขณะคลอดได้ ดังนั้น ปริมาณธาตุเหล็กที่คุณแม่ท้องต้องการคือ
- หลังไตรมาสแรกหรือ แม่ท้อง 3 เดือนเป็นต้นไป คุณแม่ต้องใส่ใจเรื่องธาตุเหล็ก ต้องได้รับถึง 6-7 มิลลิกรัม เข้าสู่ร่างกาย
- เมื่อร่างกายต้องได้รับดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย 6-7 มิลลิกรัม คุณแม่ควรรับประมาณอาหารที่มีธาตุเหล็กให้ได้วันละ 30 มิลลิกรัม สำหรับลูกแฝด คุณแม่ต้องกินมากถึง 60-100 มิลลิกรัม
วิธีป้องกันโรคโลหิตจาง
ก่อนตั้งครรภ์ หรือ ตอนฝากครรภ์ครั้งแรก ควรตรวจสุขภาพเพื่อทราบถึงความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง เพื่อระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะได้ดูแลร่างกายและเข้าใจในการรับสารอาหารที่จำเป็น
- ไม่ว่าจะก่อนตั้งครรภ์หรือระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อวัว เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ตับหมู ตับไก่ เครื่องในสัตว์ แต่อาหาร 3 ชนิดหลังนี้ต้องระวังเรื่องไขมัน
- ผักที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักใบเขียวเข้ม อย่างบล็อกโคลี ตำลึง คะน้า ผักโขม ถั่วฝักยาว พริกหวาน เห็ดฟาง ใบกะเพราแดง หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
- ธัญพืชและถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ลูกพรุน ซีเรียลต่าง ๆ ที่ไม่มีน้ำตาล
- หากคุณแม่เกิดอยู่ในภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ คุณหมออาจจ่ายวิตามินเสริม เช่น วิตามินบีรวม ยาบำรุงธาตุเหล็ก บำรุงเลือด แต่ก็ควรรับประทานควบคู่กับอาหารให้เหมาะสมเพื่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : แคลเซียมและยาบํารุงเลือด คุณแม่ตั้งครรภ์กินพร้อมกันได้ไหม มีวิธีกินอย่างไร
ไม่ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ในภาวะของโรคแทรกซ้อนใด ๆ ควรไปฝากครรภ์ และไปตามนัดของคุณหมอทุกครั้ง เพื่อเช็กสภาพร่างกาย อัลตร้าซาวด์เป็นระยะ เพื่อดูความแข็งแรงของทารกในครรภ์ หากเกิดอะไรขึ้นจะได้รักษาหรือเตรียมตัวได้ทันค่ะ อย่างไรก็ตามหากคุณแม่สังเกตว่าตัวเองมีอาการอ่อนล้า เพลียง่าย อย่าเพิ่งกังวลไปว่าจะมีอาการขาดธาตุเหล็กหรือเป็นโรคโลหิตจาง อาจเกิดจากการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือปัจจัยอื่น ๆ ถ้าหากว่ามั่นใจว่าได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี รับประทานยาเม็ดธาตุเหล็กที่ได้รับจากการตรวจครรภ์ ก็จะทำให้ร่างกายคุณแม่และลูกในท้องมีสุขภาพที่แข็งแรงได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สงสัยไหม ทำไมคนท้องต้องกิน โฟเลต ไอโอดีน ธาตุเหล็ก ทุกวัน
สังเกตและแก้ไข อย่าให้ลูกซีด เพราะขาดธาตุเหล็ก
ภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ ของแถมที่เกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง(อายุน้อย)
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้ที่นี่!
โลหิตจาง ในคนท้อง อันตรายไหมคะ จะส่งผลอะไรกับลูกไหมคะ
ที่มา: sanook , kabanghospital