เรียนรู้ท่าทางลูกน้อย เป็นเรื่องที่แม่ต้องใส่ใจ เพราะถึงลูกยังพูดไม่ได้ แต่ท่าทางต่าง ๆ ที่แสดงออกมานั้น ล้วนแล้วแต่มีสิ่งที่ต้องการบอกกับคุณพ่อคุณแม่ การสื่อสารโดยใช้ท่าทางเป็นพัฒนาการด้านการสื่อสารของทารก หากได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะต่อยอดให้ทารกเกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องต่อไป
เรียนรู้ท่าทางลูกน้อย
- เมื่อลูกเตะขา
- เมื่อลูกเอามือปิดหู หรือปิดตา
- เมื่อลูกเบือนหน้า
- เมื่อลูกเอามือม้วนผม
- เมื่อลูกดึงหู
- เมื่อลูกเหยียดแขน
# เมื่อลูกเตะขา หมายความว่าไง
ลูกกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สบาย ๆ เป็นเวลาแห่งความสุข เมื่อเขาเหลือบไปเห็นอะไรที่แปลกตาสำหรับเขา เจ้าหนูอาจกำลังคิดว่านั่นคือสิ่งมหัศจรรย์ เช่น เมื่อคุณแม่เปิดก๊อกน้ำ มีน้ำไหลออกมาจากก๊อก การเตะขาของเขาแสดงถึงความน่าตื่นเต้นในแบบของทารกนั่นเอง การเตะขาช่วยเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อของทารกเพื่อเตรียมความพร้อมในการหัดคลานต่อไป ดังนั้น หากคุณแม่เห็นว่า การกระทำอะไรก็ตามที่ทำให้เจ้าหนูรู้สึกตื่นเต้น เช่น ให้ดูน้องแมว น้องหมา เจ้าหนูเตะขาเสียสูงเชียว นั่นแสดงว่าเขากำลังตื่นเต้นสุด ๆ ไปเลยค่ะ
# เมื่อเอามือปิดหูหรือปิดตา หมายความว่าไง
ลูกอยากชวนคุณพ่อคุณแม่เล่นจ๊ะเอ๋นะสิคะ เพราะทารกจะเรียนรู้ได้ไวว่า เกมนี้เล่นยังไงที่สำคัญมันสนุกมากสำหรับหนู โดยเฉพาะเมื่ออายุได้ 8 – 9 เดือน เกมนี้ลูกจะเป็นฝ่ายเริ่มชวนคุณแม่เล่นก่อนด้วยซ้ำเอาผ้าห่มบาง ๆ มาคลุมศีรษะลูกเพื่อให้ลูกดึงผ้าออก แล้วโผล่หน้ามาหัวเราะเฮฮากับคุณแม่ที่จะรอ “จ๊ะเอ๋” จากนั้นสลับกันบ้างให้คุณแม่เอาผ้ามาคลุมศีรษะตัวเองและให้ลูกเป็นคนดึงผ้าออก พร้อมกับบอก “จ๊ะเอ๋” ลูก รับรองหัวเราะเอิ๊กอ๊ากแน่นอนค่ะ
# เมื่อลูกเบือนหน้า หมายความว่าอย่างไร
ลูกอาจกำลังต้องการให้คุณหันไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออีกเหตุผลนึง คือ เขาต้องการบอกว่าขอหนูเคี้ยวคำนี้ให้หมดก่อนนะ แล้วแม่ค่อยป้อนต่อ ปล่อยให้ลูกสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวสักพักแต่ถ้าลูกยังไม่ยอมหันมาเสียที แบบนี้ต้องเบี่ยงเบนความสนใจให้หันกลับมาแล้วค่ะ คุณแม่กำลังทำให้เจ้าหนูไม่สบอารมณ์แล้วสิคะ เป็นไปได้ว่าอาจไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัว บางทีทารกก็มีโลกส่วนตัวเหมือนกันนะ ประมาณว่า ตอนนี้อยากอยู่คนเดียวค่ะแม่! แม้ว่าคุณแม่อยากจะอุ้ม กอดเจ้าหนู แต่ช่วงเวลานี้ปล่อยเขาไปสักพักกับของเล่นชิ้นโปรดที่จดจ่ออยู่ ปล่อยเขาเล่นสัก 10 – 20 นาที เวลานี้คุณแม่จะได้มีเวลาจัดเตรียมหรือทำอะไรตามต้องการแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม เดี๋ยวลูกก็ร้องหาแล้วค่ะ
# เมื่อลูกเอามือม้วนผม หมายความว่าอย่างไร
เจ้าตัวน้อยรู้จักวิธีที่จะทำให้ตัวเองผ่อนคลายแล้วหละ เพราะการทำอะไรซ้ำ ๆ อย่างเอามือจับผมม้วนเล่น จะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางของลูกทำงานช้าลง ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ หากลูกไม่ถึงกับทึ้งผมตัวเอง ก็ปล่อยเจ้าหนูทำตามสบายเลยค่ะ หรือลูกกำลังรู้สึกกังวลกับสิ่งรอบตัว อาจจะเป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ แขกแปลกหน้าที่มาเยี่ยมเยียนหรือมารุมล้อมหรือเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็ก ๆ ข้างบ้าน ปลอบลูก และบอกว่าไม่เป็นไรแม่อยู่ตรงนี้ใกล้ ๆ หนู เสียงที่อ่อนโยนของคุณแม่จะช่วยให้ลูกคลายความกังวลไปได้ค่ะ
# เมื่อลูกดึงหู หมายความว่าอย่างไร
อาการนี้บ่งบอกว่าหนูกลังไม่สบอารมณ์แล้วนะ หรือบ่งบอกว่ากำลังเกิดควาไม่พอดีขึ้นกับลูก เช่น นมที่ให้หนูมันร้อนเกินไป หรือหนูมีแก๊สในท้องอยากเรอจังแม่คุณแม่ต้องหาสาเหตุแล้วแก้ปัญหาไปตามนั้นค่ะ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น เรอแล้วแต่ก็ยังไม่สงบลง ยังดึงหูอยู่ คุณแม่ลองสร้างบรรยากาศแห่งความสงบขึ้นมาเองนะคะ อาจจะปิดมู่ลี่หรือปิดโทรทัศน์ หรือพาไปเปลี่ยนบรรยากาศข้างนอกห้องก็จะดีไม่น้อย หรือลูกกำลังไม่สบายตัว เช่น ปวดท้อง เจ็บคอ คัดจมูก ฯลฯ แต่แทนที่เจ้าหนูจะจับส่วนนั้น ๆ กลายเป็นไปจับหูแทนเสียนี่ สังเกตอาการหรือตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ลูกเกิดความไม่สบายตัว หากลูกยังร้องไห้แสดงอาการหงุดหงิดมาก ๆ แล้วยังหาสาเหตุไม่เจอต้องไปพบคุณหมอแล้วค่ะ
# เมื่อลูกเหยียดแขน หมายความว่าอย่างไร
การเหยียดแขนพร้อมกับกางไม้กางมือเป็นสัญญาณว่า ตอนนี้หนูอารมณ์ดีจังแม่ !! ใช้นาทีทองให้คุ้มค่าค่ะ เช่น เมื่อลูกเคยเบื่อหรืองอแงเมื่อนั่งรถออกไปเลือกซื้อของกับคุณแม่ ตอนนี้อารมณ์ดีก็พาเจ้าหนูออกไปชอปปิ้งได้เลย ลูกจะรู้สึกสนุกมากขึ้นแล้วล่ะ หรือลูกกำลังหัดลุกขึ้นนั่ง การยื่นแขนออกมาเพื่อเป็นการทรงตัวนั่นเอง ให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ อาจจะเอาหมอนวางไว้รอบ ๆ ตัวลูกจะได้ไม่เกิดอันตราย หากลูกทรงตัวอยู่จะได้ไม่ล้มหัวฟาดพื้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : หนังสือ คุณพร้อมหรือยังเพื่อลูกรัก แปลโดย ศศิวรรณ
เรียนรู้ภาษาทารก เบบี๋ร้องแบบนี้ แปลว่าอะไร
บทความ : เบบี๋ก็มี ภาษาทารก ฟังดีๆนะแม่ เสียงร้องแบบนี้ ลูกพยายามบอกอะไร
# เสียง “เฮะ”
เสียงนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้ยินลูกน้อยร้องออกมาบ่อยที่สุด เสียง “เฮะๆๆๆ” ที่แม่ได้ยินตอนลูกร้องจะเป็นเสียงสั้น เป็นเสียงที่ลมออกมาจากปอด ลูกจะร้องอ้าปากกว้าง เป็นเสียงที่ลูกพยายามจะบอกแม่ว่า ตอนนี้หนูรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวอันเกิดจากความเปียกชื้น ร้อน เหนียวตัว อยู่นะ เมื่อลูกร้องแบบนี้คุณแม่ลองเช็กดูที่ผ้าอ้อมหรือร่างกายของลูกมีเหงื่อกแตกเพราะอากาศร้อน ควรปรับอุณหภูมิภายในห้องหรือพาลูกไปนอนที่อากาศถ่ายเท เช็กผ้าอ้อมว่าเฉอะแฉะเต็มไปด้วยฉี่หรือลูกอึ้ออกมา ก็สามารถทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ให้เจ้าหนูสบายใจหยุดร้องได้แล้ว
# เสียง “เอะ”
ลูกจะอ้าปากกว้างและปล่อยลมร้องเสียงออกมาคล้ายเสียงสระแอในภาษาไทย บอกถึงอาการที่ลูกน้อยมีลมในท้อง เป็นเสียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างวันได้เรื่อย ๆ นะคะ ไม่ใช่เฉพาะแค่หลังทานนมเท่านั้น เมื่อลูกส่งเสียงร้องแบบนี้ให้คุณแม่สามารถทำให้ลูกเรอ ด้วยวิธี…
เมื่อลูกส่งเสียงร้องแบบนี้ให้คุณแม่สามารถทำให้ลูกเรอด้วยวิธี
- อุ้มลูกให้นอนคว่ำให้ช่วงหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ของลูกอยู่บนหน้าขา โดยคุณแม่นั่งบนเก้าอี้ท่าชันเข่า ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงไหล่ลูก ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเบา ๆ หน้าขาคุณแม่จะช่วยนวดเบา ๆ ที่ท้องลูก เพื่อช่วยไล่ลมให้ลูกได้เช่นกัน
- อุ้มทารกขึ้นพาดบ่า โดยคุณแม่อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาตัว ประคองศีรษะลูกวางบนบ่าหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้มือข้างที่ถนัดประคองต้นคอลูกไว้ ส่วนมืออีกข้างประคองก้นลูกไว้ ท่านี้ไหล่ของคุณแม่จะช่วยนวดลิ้นปี่ของลูกไปในตัวอย่างเบา ๆ ทำให้ลูกเรอได้
- ให้ลูกนั่งตัก ท่านี้ให้คุณแม่จับลูกนั่งตักใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงคางลูกเอาไว้จากนั้นโน้มตัวทารกเล็กน้อย หลังตรง อุ้งมือของคุณแม่จะอยู่บริเวณลิ้นปี่ของลูก ให้ทิ้งน้ำหนักตัวลูกมากดทับที่มือของคุณแม่ จะช่วยคลึงท้องลูกเพื่อช่วยไล่ลมออก ส่วนมืออีกข้างให้ลูบหลังเบา ๆ ทำสักพัก 5-10 นาที เจ้าตัวน้อยก็จะเรอออกมาค่ะ
# เสียง “อาว”
เมื่อได้ยินลูกร้อง “อาว” ออกมา นี่นก็หมายความว่าทารกน้อยกำลังง่วงนอนแล้วล่ะ ลูกจะออกเสียงอาวด้วยลักษณะอ้าปากและห่อปากลงเหมือนการดูดงับเอาออกซิเจนเข้าไปในปากคล้ายกับการหาว เมื่อลูกร้องเสียงแบบนี้คุณแม่พาลูกเข้านอนได้เลย ด้วยการอุ้มลูกแนบอกและโยกตัวช้า ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ และสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เงียบสงบ เท่านี้เจ้าตัวน้อยก็นอนหลับและมีเวลาให้คุณแม่ได้พักผ่อนตามไปด้วยค่ะ
# เสียง “อึนเนะ”
ลักษณะของเสียงอึนเนะลูกจะร้องออกมา เหมือนเสียงขึ้นจมูกนิดหน่อยร่วมกับเสียงของการดูดตรงเพดานปาก หมายความว่า หนูหิว หนูอยากกินนมแม่แล้วนะ ดังนั้นอย่ารอช้าเลยค่ะ อุ้มเจ้าตัวน้อยขึ้นมากอดเพื่อให้นมกินได้เลย ในขณะที่คุณแม่ให้นมลูกก็พยายามสบตามองลูกน้อยเพื่อถ่ายทอดความรัก ความผูกพันที่มีในตัวให้ลูกได้รับรู้ จะส่งผลให้ลูกมีความสุขและเป็นเด็กที่อารมณ์ดี
source : parents.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ช่วยแม่มือใหม่ถอดรหัส 10 สาเหตุที่ทารกร้องไห้ ที่มาที่ไปของเสียงร้องอยู่ตรงนี้!!
ดูแลฟันลูกทำยังไง? ผู้ปกครองควรจะดูแลสุขภาพฟันเจ้าตัวน้อยอย่างไรบ้าง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!