เมื่อไหร่ลูกจะได้ออกจาก NICU
แม้จะไม่มีกฎตายตัวว่าทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะได้ออกจากห้อง NICU เมื่อไหร่ เด็กบางคนอาจใช้เวลาใน NICU สั้นกว่า ในขณะที่เด็กบางคนอาจใช้เวลานานกว่า แต่ก่อนที่ทารกจะได้ออกจากห้อง NICU และได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ทารกจำเป็นต้องผ่านระยะสำคัญทางพัฒนาการ ดังต่อไปนี้เสียก่อน
- ร่างกายอบอุ่นโดยไม่ต้องอยู่ในตู้อบ : ทารกยังไม่สามารถกลับบ้านได้ หากลูกยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตในตู้อบเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่น และสมบูรณ์แข็งแรงตามเกณฑ์ ดังนั้น ก่อนที่ลูกจะกลับบ้านได้ เขาต้องสามารถรักษาความอบอุ่นของร่างกายตัวเองได้ภายนอกตู้อบเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ลูกคลอดก่อนกำหนดนานแค่ไหนด้วย
- กินอาหารทางปากได้ ในบางกรณีทารกอาจได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้พร้อมกับสายให้อาหาร แต่ส่วนใหญ่แล้ว ทารกต้องสามารถกินอาหารทางปากได้เสียก่อนจึงจะออกจาก NICU ได้
- หายใจได้โดยไม่ต้องให้ออกซิเจน ทารกส่วนใหญ่ต้องสามารถหายได้ดีโดยไม่ต้องให้ออกซิเจนจึงจะกลับบ้านได้ ยกเว้นทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากๆ หรือทารกที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะต้องกลับบ้านไปพร้อมกับ nasal cannula หรือ ท่อออกซิเจนขนาดเล็กที่ปลายเปิดในรูจมูก เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่มักจะสามารถผ่านระยะสำคัญข้างต้นได้ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด 2-4 สัปดาห์ ในกรณีทารกที่มีปัญหาสุขภาพ หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนนานหลายสัปดาห์อาจยังคงต้องอยู่ใน NICU หลังกำหนดคลอดจริงต่อไปจนกว่าจะแข็งแรงมากพอ
และเมื่อลูกกลับบ้านได้แล้ว ควรจัดสภาพแวดล้อมให้สงบ สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังดังนี้
การดูแลลูกน้อยคลอดก่อนกำหนดที่บ้าน
- ไม่ควรพาลูกออกไปตามที่สาธารณะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพาลูกน้อยออกนอกบ้าน นอกจากพาไปพบคุณหมอตามนัดเท่านั้น
- จำกัดการเข้าเยี่ยม แน่นอนว่าต้องมีคนอยากมาร่วมแสดงความยินดีกับคุณเป็นจำนวนมาก แต่คุณไม่ควรอนุญาตให้คนที่กำลังไม่สบายเข้ามาในบ้าน ส่วนคนที่เข้ามาเยี่ยมได้ควรล้างมือก่อนสัมผัสลูกน้อยของคุณ
- ให้ลูกนอนหงาย เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มที่จะนอนหลับมากกว่าเด็กที่คลอดครบกำหนด แต่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และที่สำคัญสำหรับเด็กทุกคนควรนอนหงานเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตเฉียบพลันในทารก sudden infant death syndrome (SIDS)
- ฝึกการดูแลลูกน้อยแบบ Kangaroo care หรือการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับลูกน้อยบนอกของคุณโดยให้ลูกใส่เพียงผ้าอ้อม และนอนหันข้างใดข้างหนึ่งเพื่อจะได้ยินเสียงหัวใจของคุณ วิธีนี้ช่วยเพิ่มสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ช่วยให้ลูกได้กินนมจากอกแม่ และยังช่วยให้ลูกที่คลอดก่อนกำหนดมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
ที่มา www.verywell.com, kidshealth.org
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
5 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดที่ต้องระวัง!!
งานวิจัยเผย เสียงของแม่ ช่วยให้ทารกคลอดก่อนกำหนดแข็งแรงเร็วขึ้น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!