ช่วงท้อง 8 เดือนเป็นระยะเวลาที่ใกล้ถึงกำหนดคลอด นอกจากคุณแม่เตรียมทุกอย่างไว้รอแล้ว ทั้งร่างกายและจิตใจคุณแม่เอง รวมถึงสิ่งของที่เตรียมไว้ต้อนรับลูกน้อย อยากรู้ไหมคะว่า อาการคนท้อง 8 เดือน เป็นอย่างไร วันนี้ theAsianparent พามาดู 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 22 อาการคนตั้งครรภ์ 8 เดือน การตั้งครรภ์เดือนที่ 8
ร่างกายของคุณแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- คุณแม่จะเริ่มทำอะไรได้ช้าลง เพราะขนาดครรภ์ที่ใหญ่มากขึ้นส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก
- โคลอสตรัม ซึ่งเป็นหัวน้ำนมอาจมีไหลออกมาเล็กน้อยเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่จะถูกกระตุ้นด้วยการดูดหลังจากลูกคลอดออกมา
- คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บหน่วงๆ ที่ท้องด้านล่าง นั่นเพราะทารกจะเริ่มเคลื่อนศีรษะลงและลำตัวกับเท้าจะชี้ขึ้นไปกดตรงซี่โครง
- เท้าบวม อาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่ใกล้คลอด ซึ่งเกิดจากน้ำหนักของครรภ์ที่ไปกดบริเวณ หลอดเลือดดำใหญ่ด้านหลังลำตัว เป็นผลให้เลือดกลับขึ้นเข้าสู่หัวใจไม่สะดวก ทั้งนี้หากสังเกตว่ามีอาการเท้าบวมที่มากกว่าปกติและสังเกตว่า ใบหน้ามีอาการบวมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ที่ดูแลครรภ์โดยด่วน (เพราะอาจเป็น อาการแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษขึ้นได้)
- เจ็บครรภ์เตือน คุณแม่จะสังเกตได้ว่าในช่วงสัปดาห์ปลายเดือนนี้จะมีอาการมดลูกหดตัวเป็นระยะ เพื่อเตรียม เข้าสู่ระยะการเจ็บท้องคลอดจริง โดยที่มดลูกจะนูนแข็งขึ้นมาเป็นบางครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วินาที
พัฒนาการทารกในครรภ์ช่วง ตั้งครรภ์ 8 เดือน
- ทารก จะตื่นตัวมากขึ้น รู้สึกและมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อแรงหดรัดตัวของมดลูก
- เนื้อเยื่อในถุงลมปอดถูกพัฒนาขึ้นมา และหลั่งสารเคลือบผิวถุงลม ซึ่งสารนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมเกิดการแฟบตัวเมื่อทารกคลอดออกมา ทำให้ทารกสามารถสูดอากาศเข้าปอด และหายใจได้นั่นเอง
- อวัยวะภายใน มีการพัฒนาไปเกือบสมบูรณ์ ยกเว้นปอดที่ยังเจริญไม่เต็มที่ ซึ่งเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วปอดจะต้องถูกพัฒนาต่อให้แข็งแรงสมบูรณ์
- ทารกเริ่มกลับตัวให้อยู่ในท่าศีรษะลงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด
- ทารกจะรับรู้ความมืดและสว่างจากการสะท้อนของแสงผ่านทางผนังหน้าท้องของคุณแม่
- ทารกเริ่มที่จะเปิดปิดเปลือกตา และเริ่มกะพริบตาถี่ๆ ได้แล้ว รูม่านตาจะเริ่มขยาย และหรี่ได้แล้วด้วยเช่นกัน
- ทารกจะเหยียดแขน ขา เตะผนังหน้าท้องของคุณแม่จนนูนออกมา
อีกหนึ่งเดือนก่อนคลอด ท้อง 8 เดือนลูกอยู่ท่าไหน กลับหัวยัง?
ในระยะ 1 เดือนก่อนถึงกำหนดคลอด ช่วงนี้คุณแม่อาจจะต้องไปพบคุณหมอบ่อยซึ่งนัดตรวจอาการในช่วงใกล้คลอดถี่ขึ้น ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจปัสสาวะเพื่อดูอาการอย่างละเอียด รวมถึงเช็กร่างกายคุณแม่ที่อาจมีโอกาสเกิดอาการครรภ์เป็นพิษแทรกซ้อนขึ้นได้นะคะ
พัฒนาการของทารกในช่วงอายุครรภ์ตอน 8 เดือนนี้ เรียกได้ว่าสมบูรณ์แทบทั้งหมดแล้วทั้งผิวหนัง เล็บ ผม ที่งอกขึ้น อวัยวะในร่างกาย แขน ขา การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงการมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ที่มีความสมบูรณ์และมีความพร้อมแล้ว อวัยวะอย่างเดียวที่ไม่พร้อมสำหรับการคลอดของทารกในช่วงนี้ คือการทำงานของปอดยังไม่เต็มที่และยังมีน้ำคร่ำอยู่ในปอด หากคลอดออกมาในช่วงนี้ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถือว่าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทารกต้องอยู่ในตู้อบ และต้องดูแลเรื่องระบบหายใจเป็นพิเศษ
ส่วนท่าทางของลูกในท้องนั้น ส่วนใหญ่ในระยะนี้ ยังไม่กลับหัวลงนะคะ คุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อให้คุณแม่ได้มองเห็นว่าตอนนี้ลูกในท้องอยู่ท่าไหน มีพัฒนาการร่างกายเป็นอย่างไรให้คุณแม่หายห่วงอีกเปราะ ซึ่งในช่วงนี้ทารกในอายุครรภ์ 8 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณ 1500 กรัม หรือประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตอนคลอด คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะกลับหัวลำบาก แต่ถ้าอายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ไปแล้ว เจ้าตัวน้อยในท้องยังไม่ยอมกลับหัว ยังอยู่ในท่าเดิม เป็นไปได้ว่าทารกอาจจะตัวโตเกินกว่าจะกลับหัวลงแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดคลอดแทนการคลอดปกติ
สัญญาณใกล้คลอด ท้อง8เดือน อาการเจ็บท้องคลอดจริงเป็นอย่างไร?
- รู้สึกเจ็บท้อง เป็นระยะต่อเนื่องนานและถี่ขึ้น มีความรู้สึกปวดหน่วงๆ คล้ายกับการปวดท้องประจำเดือน การปวดระยะแรกจะนานประมาณ 1-2 นาที และจะเกิดในทุกๆ 10-15 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มปวดกระชั้นเข้ามาทุก 5 นาที
- มีอาการคล้ายท้องผูก ท้องเฟ้อ หรือรู้สึกปวดท้องหรือปวดหลัง อาจจะเริ่มปวดที่หลังแล้วร้าวมาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวและท้องน้อย
- มีมูกเลือดสีแดงสดไหลออกมาทางช่องคลอด
- น้ำคร่ำเดิน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เน้นชัด อาการเจ็บท้องเตือนก่อนคลอด แบบนี้คลอดชัวร์
ของบำรุงคนท้อง สำหรับแม่ท้อง 8 เดือน บำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 8
-
ปลาแซลมอน (Salmon)
สำหรับโค้งสุดท้าย ปลาแซลมอนจะช่วยบำรุงร่างกายของแม่และลูกในครรภ์มาก เพราะปลาแซลมอนมี DHA ซึ่ง DHA เป็นกรดไขมันที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาทาง สมองของเด็ก และ ระบบประสาท โดยถ้าคุณแม่ให้ท้องทานเข้าไป DHA ที่พบได้ในปลาแซลมอน ก็จะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของลูกน้อยนั่นเอง
-
ขนมปังธัญพืช (Whole wheat breads)
ขนมปัง ที่มีส่วนผสมของธัญพืชจะมีไฟเบอร์ที่มากกว่าในขนมปังขาว อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ได้แก่ วิตามินอี,แคลเซียม,ฟอสฟอรัส,ธาตุเหล็ก,โพแทสเซียม,สังกะสี,โฟลิก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ช่วยพัฒนาระบบประสาท และเซลล์เม็ดเลือดรวมทั้งยังช่วยในเรื่องการต่อต้านสารอนุมูลอิสระให้กับร่างกายอีก เหมาะกับการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 มาก ๆ
-
อัลมอนด์ (Almonds)
อัลมอนด์ อุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึง กรดไขมันโอเมก้า 3 ด้วยที่ช่วยกระตุ้นสมอง โดยแม่ท้องควรกินอัลมอนด์ทุกวันเพื่อให้ลูกนั้นฉลาด รวมถึงการกินถั่วลิสงก็ช่วยให้ลูกพัฒนาการฉลาดได้ เพราะ อุดมไปด้วยกรมโอเมก้า 3 เหมือนกัน
-
กล้วย (Banana)
กล้วยเป็นผลไม้ที่มี คุณประโยชน์มากมาย กล้วยมีสารอาหาร แร่ธาตุหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น โพแทสเซียม แคลเซียม ธาตุเหล็ก ทำให้กล้วย เป็นอาหารที่แม่ท้องจะขาดไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว กล้วยยังช่วยเรื่องช่วงท้องของแม่ตั้งครรภ์ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องอืด ถ้ามีอาการท้องอืด ท้องไม่ดี ระบบขับถ่ายมีปัญหา ไฟเบอร์ในกล้วย ช่วยคุณแม่ได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินกล้วยได้ไหม? คำถามที่แม่ท้องต้องการคำตอบ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินปลากระป๋องได้ไหม กินปลากระป๋อง อันตรายไหม แม่ท้องอยากกินยำปลากระป๋อง
ทารกกินปลาได้ไหม ลูกเริ่มกินปลาได้เมื่อไหร่ พร้อมเมนูปลาสำหรับทารก
คนท้องกินกล้วย แม่ท้องกินกล้วยยิ่งมีประโยชน์ ช่วยหลายด้าน