ลูกเล่นแท็บเล็ต มือถือ นานเกินไป
อุทาหรณ์คนเป็นพ่อเป็นแม่! ลูกเล่นแท็บเล็ต มือถือ นานเกินไป ผลกระทบต่อดวงตา สะสมจนเป็นอันตราย เกือบสายเกินแก้
อันตราย ลูกเล่นแท็บเล็ต มือถือ นานเกินไป
สมาชิกเฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้โพสต์ภาพลูกสาว ในภาพจะเห็นว่า เด็กสาวตัวน้อย มีก้อนเมือกคล้ายหนองติดอยู่ที่บริเวณดวงตา โดยคุณแม่ท่านนี้ ได้โพสต์อุทาหรณ์ แชร์ประสบการณ์ ถึงกรณีลูกเล่นแท็บเล็ต มือถือ นานเกินไป ไว้ว่า
ฝากแม่ ๆ ไว้ด้วยนะคะ คือแม่ปล่อยให้น้องดูการ์ตูนในแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์บ่อย ๆ ตอนแรกก็แค่น้ำตาไหลแต่วันต่อมาตื่นเช้ามาน้องลืมตาไม่ได้เลยค่ะ ต้องใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดให้ พาไปหาหมอคุณหมอบอกเส้นเลือดฝอยอาจจะแตกได้ อาจมีผลต่อการมองเห็น ฝากเตือนแม่ ๆ ไว้ด้วยนะคะ
ผู้โพสต์ยังได้อธิบายด้วยว่า ที่แม่โพสต์ก็คือฝากเตือนไว้เป็นอุทาหรณ์นะคะ เด็กบางคนอาจจะเป็นเพราะสาเหตุอื่น ไม่ใช่แม่ไม่มีเวลาเล่นกับลูก ข่าวแม่ก็เคยดูและเคยได้ยินว่าโทรศัพท์มีผลเสียกับลูกหลายอย่างแต่มันยังไม่เกิดขึ้นไงคะ เพราะบางทีเราก็คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ปล่อยให้เค้าดูไปเถอะ ส่วนใหญ่จะให้ดูสิ่งที่มีสาระ เช่น เสริมทักษะ พัฒนาสมองอะไรประมาณนี้ค่ะ บางคนอาจให้ดูนานกว่านี้เสียอีก แต่หากว่ายังไม่เกิดขึ้นกับลูกหรือยังไม่มีผลอะไรมากก็ปล่อยให้ดูไป แต่กับแม่คือเกิดขึ้นกับลูกเราแล้วไงคะ แม่เลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้แม่ ๆ ท่านอื่นได้รู้ถึงผลเสียของมัน บางคนเข้ามาติติงว่าแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่ดูข่าว คือจริง ๆ แม่มีเวลานะคะ แม่เล่นกับลูกทุกวันค่ะ ข่าวแม่ก็ดู เพียงแต่แม่ไม่คิดว่ามันจะเกิดไงคะ พอเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องแก้ไข แล้วเราก็ไม่อยากให้เด็กคนอื่น ๆ เป็นเหมือนลูกเราก็แค่นั้นค่ะ
ที่มา : khaosod.co.th
สำหรับผลกระทบของการเล่นโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตนาน ๆ นั้น ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยรศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ได้อธิบายไว้ ดังนี้
อันตรายจากการให้ลูกเล่นมือถือและแท็บเล็ตมากเกินไป
ในยุคปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากมายซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในแง่ของการสื่อสารเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนดาบสองคมเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กได้อย่างมาก โดยเฉพาะหากผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กใช้เทคโนโลยีสื่อสารอันได้แก่โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้ควบคุม เพราะอาจจะมีผลเสียที่ร้ายแรงต่อเด็กทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ข้อมูลล่าสุดจากชมรมจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กและวัยรุ่นไทย 15 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาติดอินเตอร์เน็ต ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และเปิดดูเว็บไซต์อนาจารต่าง ๆ
วันนี้เรามาคุยกันนะคะว่าอันตรายจากการให้เด็กใช้เทคโนโลยีสื่อสารนี้ นานเกินไป จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง และเราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
ผลกระทบของการเล่นโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตนานๆต่อเด็กมีอะไรบ้าง?
หากคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ลูกเล่นอุปกรณ์นี้นานจนเกินไป จะมีผลต่อเด็กทั้งในด้านสุขภาพร่างกาย อารมณ์และสังคมดังนี้
- ด้านสุขภาพร่างกาย : เด็กจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเพราะใช้เวลานั่งหน้าจอนาน จนไม่ได้ไปออกกำลังกายตามวัย เกิดปัญหาอดนอน ไม่ยอมทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะติดการเล่นหน้าจอ นอกจากนี้การนั่งจ้องหน้าจออุปกรณ์สื่อสารนานๆจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสายตาสั้นและปวดล้าตาได้ อีกทั้งมีการศึกษาที่พบว่าสัตว์ทดลองที่ได้สัมผัสกับคลื่นโทรศัพท์เป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมอง ถึงแม้ว่าข้อมูลการศึกษาในมนุษย์ยังไม่ชัดเจนนักแต่ก็เป็นสิ่งที่เราควรระวังไว้ค่ะ
- ด้านสุขภาพจิต : เด็กจะมีสุขภาพจิตแย่ลงและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เก็บตัว ซึมเศร้าได้ง่าย และอาจแสดงอาการต่อต้าน ก้าวร้าว หงุดหงิดง่ายหากผู้ปกครองไม่ยอมให้ใช้อุปกรณ์สื่อสาร และอาจกลายเป็นเด็กที่รอไม่เป็น ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทักษะของ EF (executive function) ในด้านการยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง และควบคุมอารมณ์ อันเป็นรากฐานความสำเร็จของเด็กในอนาคต อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสมาธิสั้นและออทิสติกเทียมในเด็กอีกด้วยนะคะ
นอกจากนี้ หากเด็ก ๆ ใช้โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตนานเกินไปจะทำให้เสียเวลาและโอกาสในการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญด้านอื่น ๆ เช่น การเล่นอิสระหรือเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ การคิดวิเคราะห์ การอ่าน การเขียน รวมทั้งทักษะทางสังคมและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในสำหรับเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
ผู้ปกครองสามารถอนุญาตให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตอย่างมีขอบเขตเมื่ออายุเท่าไร?
ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยแนะนำให้ผู้ปกครองจำกัดอายุการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ โดย ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทุกชนิด ไม่แนะนำให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีใช้อินเตอร์เน็ตตามลำพัง เด็กอายุ 6-12 ปีควรใช้อินเตอร์เน็ตภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง และเด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปีไม่ควรใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ไม่ควรให้เด็กใช้เวลากับอุปกรณ์เหล่านี้เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุดค่ะ
จะเห็นได้ว่าการอนุญาตให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกวินัยให้ลูกสามารถควบคุมตนเองได้และทราบถึงโทษของการใช้ก่อนจะอนุญาตให้เด็กได้สัมผัส นอกจากนั้นควรกำหนดกติกา และช่วงเวลาที่ชัดเจนในการใช้ และย้ำว่าจะต้องไม่รบกวนหน้าที่สำคัญของเด็กในการเรียนหนังสือ ช่วยงานบ้าน และความรับผิดชอบตนตัวเองในเรื่องต่างๆนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 เคล็ดลับจัดการอารมณ์ของเจ้าหนู วัยทอง 2 ขวบ ที่กำลังดื้อเข้าขั้นให้อยู่หมัด
5 วิธีสอนลูกให้รู้จักหน้าที่ กิจกรรมฝึกความรับผิดชอบ ทำได้ตั้งแต่เด็กเล็ก
เลี้ยงลูกด้วยจอ มือถือ แท็บเล็ต เลี้ยงอย่างไรให้เหมาะสม
แม่เจอกับตัว! เลี้ยงลูกด้วยมือถือ จ้องสมารท์โฟนนาน ทำลูก “กล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรง”