สัญญาณอันตรายใกล้คลอด
ช่วงโค้งสุดท้ายมี สัญญาณอันตรายใกล้คลอด อะไรที่คุณแม่ต้องระวังบ้างนะ
#เจ็บท้อง
คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวหรือหดตัวเป็นระยะๆ ในช่วงหลังจากเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์ ยิ่งใกล้คลอดเท่าไหร่ การหดตัวของมดลูกก็จะถี่และรุนแรงขึ้น อาการแบบนี้อาจทำให้คุณแม่มือใหม่หลายท่านสับสน และอาจจะนึกว่าเป็นการเจ็บท้องคลอดจริงๆ การเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอกนั้นเป็นสัญญาณว่า ขณะนี้มดลูกเตรียมพร้อมที่จะมีการคลอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคลอดวันนี้พรุ่งนี้ แม่ท้องบางท่านอาจจะต้องรออีกนานเป็นเดือนเลยก็มี เรามาดูกันว่าอาการแบบไหนคืออาการเจ็บท้องจริง หรืออาการเจ็บท้องหลอกกันแน่เพื่อจะได้เตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้อย่างถูกต้อง
อาการเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องเตือน
- ปวดท้องมากบ้างน้อยบ้าง เดี๋ยวถี่เดี๋ยวห่าง ไม่สม่ำเสมอ แม่ท้องบางท่านก็ปวดติดๆ กันหลายครั้งแล้วก็หายปวด
- อาการจะดีขึ้นหากได้นอนพัก หรือเปลี่ยนท่าทาง
- ความเจ็บปวดจะคล้ายๆ กับการปวดประจำเดือน
- ไม่มีเลือดหรือมูกเลือดปนออกมาจากช่องคลอด
- มักมีอาการเจ็บบริเวณท้องน้อย
อาการเจ็บท้องจริง
- มีอาการปวดอย่างสม่ำเสมอ และปวดถี่ขึ้นเรื่องๆ
- แม่ท้องจะรู้สึกเริ่มเจ็บบริเวณส่วนบนของมดลูกก่อนแล้วจึงเจ็บร้าวลามไปที่หลัง
- หากเดินหรือเคลื่อนไหวจะมีอาการเจ็บมากขึ้น
- อาจมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดร่วมด้วย
หากคุณแม่ท้องมีอาการเจ็บทุกๆ 10 นาที ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อเข้าพบคุณหมอทันทีนะครับ
#มีมูกไหลออกมาทางช่องคลอด
มูกที่ว่านี่จะมีลักษณะเหนียวข้น มีสีขาว และมักจะหลุดออกมาในช่วงราวๆ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการคลอด เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการคลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดและบางลง และเปิดตัวขยายมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด และอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกฉีกขาด ดังนั้นหากแม่ท้องมีมูกเลือดหลุดผสมออกมาก็ควรไปพบคุณหมอทันทีนะครับ เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าใกล้คลอดแล้ว
#ท้องเสีย
อาการท้องเสีย ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าใกล้ที่จะคลอดแล้ว และเมื่อใกล้คลอด ร่างกายจะปล่อยสารโพรสตาแกลนดิน ซึ่งจะทำให้มดลูกหดตัว และหากแม่ท้องมีอาการท้องเสีย ก็จะทำให้ร่างกายแม่ท้องเกิดภาวะขาดน้ำ หากมีอาการท้องเสียมาก ก็จะทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก อันนำไปสู่การคลอดได้
สัญญาณอันตรายใกล้คลอด มีอะไรอีกบ้าง ติดตามต่อหน้าถัดไป>>
#ท้องลด
ในช่วงตั้งครรภ์นั้นมดลูกของแม่ท้องจะขยายขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 20 สัปดาห์ จะสามารถคลำยอดมดลูกได้ที่ระดับสะดือ พอตั้งท้องไปได้ประมาณ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่ในระดับกึ่งกลางสะดือกับกระดูกลิ้นปี่ จนแม่ท้องมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกก็จะถึงลิ้นปี่ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของการท้องลด
สำหรับคุณแม่ท้องแรกนั้น หลังจากตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ไปแล้ว ท้องอาจมีขนาดเล็กลง เพราะทารกเริ่มเคลื่อนต่ำลงไปในช่องเชิงกราน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ส่วนแม่ท้องที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วก็อาจจะมีอาการท้องลดช้ากว่าในท้องแรก อาการท้องลดอาจเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนคลอด หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด หรือในคุณแม่บางคนจวบจนใกล้คลอดแล้วท้องยังไม่ลดเลยก็มี
#ลูกดิ้นน้อยลง
สาเหตุที่ทำให้แม่ท้องบางคนรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เกิดจากการที่ทารกตัวโตขึ้น แต่กลับต้องอยู่ในโพรงมดลูกที่ดูเหมือนจะคับแคบลงจนทำให้ทารกในครรภ์นั้นเคลื่อนไหวได้ลำบาก ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ทารกมีการเจริญเติบโตที่เร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับโพรงมดลูกที่มีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย อีกทั้งน้ำคร่ำที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นก็มีปริมาณที่จำกัดนั่นเอง
#ปากมดลูกเปิด
เมื่อปากมดลูกเริ่มเปิด นั่นคือสัญญาณเตือนของคุณแม่ว่าลูกน้อยพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกแล้ว โดยปกติปากมดลูกของแม่ท้องจะมีลักษณะกลมหนา ปิดสนิทตลอดเวลาและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด ปากมดลูกของแม่ท้องจะเริ่มบางตัวและอ่อนนุ่มลงจากฮอร์โมนที่สูงขึ้นในตัวของคุณแม่ และจะค่อยๆเปิดกว้างจนถึง 10 เซนติเมตร เพื่อให้ศีรษะของทารกเคลื่อนผ่านได้ระหว่างที่ทำการคลอด
#น้ำเดิน
ภาวะน้ำเดินนั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้คลอด แต่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าอายุครรภ์จะยังไม่ถึงกำหนดคลอดก็ตาม โดยเกิดจากการแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ ทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา
อาการน้ำเดินที่แม่ท้องจะรู้สึกได้คือ มีน้ำใสๆคล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดในปริมาณมาก แม่ท้องที่มีอาการน้ำเดินมีโอกาสมากถึง 80 % ที่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมง หากแม่ท้องมีอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และควรนอนราบเพื่อไม่ให้น้ำคร่ำไหลออกมามากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำคร่ำในโพรงมดลูกแห้งจนเป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตได้
หากมีสัญญาณดังที่กล่าวมา แม่ท้องควรรีบไปโรงพยาบาลทันที แต่ก่อนหน้านั้นแม่ท้องควรทำใจให้สบายเพื่อที่จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและรับมือกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น อีกทั้งเมื่อคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ลูกในท้องก็จะรู้สึกผ่อนคลายตามไปด้วย ที่สำคัญ คุณแม่ควรเตรียมจัดกระเป๋า หรือเรื่องการเดินทางไปโรงพยาบาลให้พร้อม เพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกนะครับ
ที่มา momjunction.com, phyathai.com, whattoexpect.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!