อีกหนึ่งภาวะเด็กแรกเกิดที่มักพบได้บ่อยก็คือ สะดือจุ่น นับเป็นอาการที่พ่อแม่หลายคนกังวล และยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นอันตรายต่อลูกเราหรือเปล่านะ ควรพาไปหาหมอดีไหม หรือจริง ๆ แล้วมันหายไปเองได้ วันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับสะดือจุ่นของทารกแรกเกิดมาฝากเรียบร้อยแล้วค่ะ
สะดือจุ่น สะดือโป่ง คืออะไร ?
สะดือจุ่น สะดือโป่ง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้บางส่วนของทารกเคลื่อนตัวออกมาอยู่ที่สะดือ จึงทำให้สะดือยื่นหรือบวมออกมา หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า ไส้เลื่อนที่สะดือก็ได้ และอาการสะดือจุ่นสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด และอาจมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดเมื่อเด็กร้องไห้ หัวเราะ ไอ หรือขับถ่าย และมันสามารถหดตัวลงได้เมื่อลูกรู้สึกผ่อนคลาย เช่น การนอน เป็นต้น
ลูกสะดือจุ่นเป็นอันตรายไหม ?
เมื่อเห็นลูกน้อยมีภาวะสะดือจุ่น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะว่าเด็ก ๆ ในวัยแรกเกิด สามารถหายเองได้ตามปกติค่ะ แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อนมาด้วย ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที ซึ่งอาการที่แทรกซ้อนมีดังนี้
- สะดือของทารกมีอาการบวม
- ปวดท้อง
- มีน้ำสีเหลืองหรือเขียวหยดออกจากสะดือของลูก
- มีเลือดออกซิบ ๆ บริเวณสะดือ
- คลื่นไส้อาเจียน
- กดเจ็บบริเวณสะดือจุ่น
ถ้าสะดือจุ่นไม่หายเอง ควรพาลูกไปหาหมอไหม ?
หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินความเชื่อโบราณที่ว่า หากสะดือลูกน้อยจุ่นให้ใช้เหรียญปิดสะดือไว้เพราะมันรักษาสะดือจุ่นได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การทำแบบนี้ไม่ได้ทำให้มันหายไปได้นะคะ แต่เป็นเพราะว่าอาการมันค่อย ๆ ดีขึ้นแล้วต่างหาก โดยส่วนใหญ่จะหายเองตามธรรมชาติก่อนอายุประมาณ 2 – 3 ปี แต่ถ้าหากคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกยังมีอาการสะดือจุ่นอยู่หลังจากอายุได้ 2 ปีแล้ว และก้อนที่สะดือทำให้ลูกมีอาการเจ็บ ตึง บวมหรือแดง รวมถึงอาเจียนร่วมด้วย แบบนี้อย่ามองข้ามเชียวนะคะ ควรพาไปหาคุณหมอทันทีค่ะ
การรักษาเมื่อลูกสะดือจุ่น หรือภาวะไส้เลื่อน
ภาวะไส้เลื่อนที่สะดือไม่ต้องทำการรักษาอะไร แค่รอเวลาให้หายได้เองภายในอายุ 2-3 ปี อาจทำการรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อความสวยงาม ถ้าอายุ 3-5 ปีแล้วยังไม่หาย หรือขนาดรูของไส้เลื่อนใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้เข้าไปติดในช่องท้องแล้วไม่ยุบกลับเป็นปกติ หรือ มีการบิดขั้วของลำไส้ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความเชื่อที่อาจไม่เคยรู้ ทำไมโบราณถึงต้องเก็บสายสะดือลูก
สะดือจุ่นจำเป็นต้องรักษาหรือไม่ ?
หากสะดือจุ่นหากเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งก็จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนในเด็กยังไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัดก็ได้ เพราะส่วนใหญ่จะหายได้เอง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะรอดูอาการก่อน เพื่อตัดสินใจว่าควรผ่าตัดหรือไม่ ดังนี้
- มีอาการเจ็บตรงสะดือ
- มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าครึ่งนิ้วหรือประมาณ 1.5 เซนติเมตร
- ขนาดยังไม่เล็กลง
- ไม่หายไปเองตามปกติ ซึ่งปกติเด็กจะเริ่มหายเมื่ออายุได้ 2-3 ปี
- มีภาวะไส้เลื่อนติดค้าง หรือภาวะลำไส้อุดกั้นค่ะ
วิธีทำความสะอาดสะดือทารก
แม้ว่าสะดือจะเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อย แต่เมื่อคลอดออกมาแล้วก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย และสิ่งที่ต้องดูแลต่อไปก็คือการทำความสะอาดสะดือของทารก เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณสะดือของลูกติดเชื้อ มาดูกันว่าวิธีดูแลสะดือของลูกน้อยต้องทำอะไรบ้าง
- เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดสะดือลูกให้พร้อม ได้แก่ คอตตอนบัดหรือสำลี น้ำยาสำหรับเช็ดสะดือที่ทางโรงพยาบาลเตรียมมาให้ หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำสะอาด และล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะดือทารก
- เทน้ำยาสำหรับเช็ดสะดือลงบนปลายคอตตอนบัดพอชุ่ม
- จับที่ปลายสะดือลูก และใช้คอตตอนบัดรูดเช็ดบริเวณโคนสะดือ ถึงปลายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งอาจมีเศษเนื้อเยื่อรอบสะดือยังติดอยู่ให้สะอาด และเปลี่ยนคอตตอนบัดก้านใหม่มาเช็ดซ้ำ
- เวลาเช็ดให้ใช้สำลีเช็ดวนรอบ ๆ สะดือ เริ่มตั้งแต่บริเวณโคนสะดือ และบริเวณผิวหนังรอบ ๆ ของสะดือ โดยให้เช็ดจากด้านในออกมาด้านนอก และไม่เช็ดย้อนไปย้อนมาค่ะ เช็ดเที่ยวเดียวแล้วเปลี่ยนสำลีใหม่เช็ดทันที
- หลังเช็ดควรปล่อยสะดือแห้งทุกครั้ง ไม่ใช้แป้ง หรือยาโรยสะดือทุกชนิดกับทารก และไม่ควรให้เสื้อผ้า หรือผ้าอ้อมทับบริเวณสะดือ หากเป็นไปได้ พยายามใส่ผ้าอ้อมให้ต่ำกว่าสะดือของลูกน้อย เพราะหากสะดือไม่แห้งและอับชื้น จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและติดเชื้อง่าย
การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ ?
แม้ว่าความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดจะพบได้น้อย แต่มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
- แผลผ่าตัดติดเชื้อ และอาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- เกิดการกลับมาเป็นซ้ำ ๆ
- รู้สึกไม่สบาย และมีอาการปวดศีรษะ หรือมีอาการชาที่บริเวณขา หลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดเสร็จแล้ว
- เมื่อผ่าตัดแล้ว ส่วนใหญ่แผลจะหายจนดูเป็นปกติดี แต่ในบางรายอาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามแต่ละบุคคลค่ะ
ทางการแพทย์วินิจฉัยสะดือจุ่นอย่างไร ?
ปกติแพทย์จะวินิจฉัยการตรวจดูที่สะดือ และอาจทดสอบดูว่าสามารถผลักกลับเข้าไปในโพรงช่องท้องได้ไหม หรือไม่ก็อาจตรวจสอบว่ามีภาวะไส้เลื่อนติดค้างหรือเปล่า เพราะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างเป็นอันตราย และอาจทำให้ลำไส้ส่วนที่ติดค้างขาดเลือดได้ค่ะ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์ที่ช่องท้องเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจการติดเชื้อร่วมด้วย โดยเฉพาะกรณีภาวะไส้เลื่อนติดค้างค่ะ
คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้แล้วนะคะว่า ภาวะสะดือจุ่นของลูกน้อยที่เราเห็นนั้น จริง ๆ แล้วมันสามารถหายเองได้ตามธรรมชาติค่ะ แค่ต้องรอเวลาและห้ามใช้เหรียญกดทับตามคำโบราณเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ๆ และที่สำคัญอย่าลืมเฝ้าระวังและดูแลเช็ดทำความสะอาดสะดือลูกน้อยอยู่เสมอ แต่หากลูกน้อยมีอาการที่ดูไม่ปกติ หรืออาการแทรกซ้อน ให้พาไปหาคุณหมอดีที่สุดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เตือนใจพ่อแม่ ห้ามทำแบบนี้ กับสะดือทารก
อย่าเพิ่งคิดว่าทำได้ 5 สิ่งที่ห้ามทำกับ สะดือทารก เด็ดขาด!
สะดือลูกติดเชื้อ ระวังโรคสะพั้นโรคที่คนโบราณมักบอกว่าไม่รอด
ที่มา : cottonbaby, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!