“น้ำพริกกะปิ” เป็นน้ำพริกพื้นที่บ้าน ที่เชื่อเลยว่าครัวไทยแต่ละบ้านนิยมรับประทานกันมากที่สุด และสามารถประยุกต์สูตรเด็ดได้ตามวัตถุดิบที่มีอยู่ในครัว แต่การทำน้ำพริกกะปิให้อร่อยนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเตรียม “กะปิอย่างดี” เลือกกระเทียมกลีบเล็ก ๆ วัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาปรุงควรเป็นของสด มาดู สูตรน้ำพริกกะปิ กันเลย
วิธีทำน้ำพริกกะปิสูตรเด็ด ฉบับแม่ครัวมือใหม่
วิธีทำน้ำพริกกะปิ เครื่องปรุง
- กะปิห่อใส่ใบตองเผาไฟพอหอม 300 กรัม
- กุ้งแห้งป่น 200 กรัม
- กระเทียมสดแกะเปลือก 100 กรัม
- พริกขี้หนูสวน 50 – 70 กรัม
- มะเขือเปราะเอาเมล็ดออกซอยเป็นเสี้ยว ๆ 50 กรัม
- มะอึกซอยละเอียด 50 กรัม
- น้ำมะนาว 6 – 8 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 2 – 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปีบ 3 – 5 ช้อนโต๊ะ
วิธีปรุง
- นำกะปิโขลกกับกระเทียม พริกขี้หนู พอเริ่มละเอียดใส่กุ้งแห้งป่นโขลกต่อให้เข้ากัน
- ใส่มะเขือเปราะ มะอึก ใช้สากค่อย ๆ โขลกเบา ๆ ให้เข้ากัน
- ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปีบให้ทั้งสามรสกลมกลืนกัน แต่มีส่วนของหวานตามหลังนิดหน่อย เป็นอันเสร็จ
- นำน้ำพริกกะปิมารับประทานคู่ปลาทู หรือปลาทอดชนิดอื่น ๆ แนมด้วยผักสด ผักลวก หรือผักต้ม กินกับข้าวสวย ๆ ร้อน ๆ รับรองอร่อยเหาะ
Tips :
- หากใส่ผิวมะนาวซอยละเอียดลงไป ก็จะได้กลิ่นหอมของผิวมะนาว และได้รสชาติออกขมฝาดนิด ๆ แต่ก็กลมกลืนกับกะปิ และรสชาติรวม ๆ ของน้ำพริก
- สามารถใส่มะม่วงสับ หรือมะขามอ่อนแล้วแต่ฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงมะนาวแพงก็สามารถใช้ความเปรี้ยวแทนได้ โดยซอยสับแบบมะละกอส้มตำ
รับประทานปลาทู เพิ่มโอเมก้า 3 ให้กับร่างกาย
โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจะได้จากการรับประทานปลา และอาหารทะเล มีการวิจัยเรื่องประโยชน์ของโอเมก้า 3 ต่อพัฒนาการ และสุขภาพของทารก โดยพบว่า หากแม่ท้อง หรือแม่ที่ให้นมบุตรเลือกรับประทานปลา หรืออาหารที่มีกรดไขมัน EPA และกรดไขมัน DHA ซึ่งเป็นโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของทารก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวของทารก และทำให้ทารกอยู่ในครรภ์ได้นานขึ้น ลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
ปลาที่มีโอเมก้า 3 มาก ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ รวมถึงปลาทูในบ้านเราด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง 20 อาหารเสริมโอเมก้าสูง ต้องกินอะไร ดีต่อสุขภาพอย่างไร
ปริมาณโอเมก้า 3 ที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงอายุ
- สำหรับเด็กแรกคลอด – 12 เดือน ปริมาณที่เหมาะสมคือ 0.5 กรัม
- เด็กอายุ1 – 3 ปี ควรได้รับ 0.7 กรัม
- เด็กอายุ4 – 8 ปี ควรได้รับ 0.9 กรัม
- เด็กอายุ9 – 13 ปี ควรได้รับ 1.0 – 1.2 กรัม
- เด็กอายุ14 – 18 ปี ควรได้รับ 1.1 – 1.6 กรัม
- สำหรับแม่ท้อง ควรได้รับ 1.4 กรัม
- แม่ที่ให้นมบุตร ควรได้รับ 1.3 กรัม
การได้รับปริมาณโอเมก้า 3 อย่างเหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสมอง พัฒนาการด้านการเรียนรู้ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มีประโยชน์ต่อเด็ก ในเรื่องของการลดภูมิแพ้ในเด็ก และโรคซิสติกไฟโบรซิส เป็นต้น
แม้ว่าประโยชน์ของโอเมก้า 3 ยังอยู่ในขั้นตอนของการค้นคว้าวิจัยอีกมากมาย แต่ก็เป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้ และควรได้รับอย่างเพียงพอ
บทความที่เกี่ยวข้อง ทารกกินปลาได้ไหม ลูกเริ่มกินปลาได้เมื่อไหร่ พร้อมเมนูปลาสำหรับทารก
ประโยชน์อื่น ๆ ของปลาทู
ปลาทูช่วยบำรุงครรภ์
การรับประทานกรดไขมันDHA ในปริมาณ 600 – 800 มิลลิกรัม ต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดให้กับแม่ท้องได้ อีกทั้งยังดีต่อสมองของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
ปลาทูช่วยบำรุงหัวใจ
กรดไขมันโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยในการลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อีกทั้งยังช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง และสุขภาพดีอีกด้วย
ปลาทูช่วยบำรุงสายตา
ในปลาทูมีวิตามินบี 12 ที่ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา อีกทั้งกรดไขมันDHA และ EPA ที่พบในปลาทู ยังช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา และการมองเห็นอีกด้วย
ปลาทูช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ปลาทู 100 กรัม มีเซเลเนียมอยู่มากถึง 40 – 50 ไมโครกรัม ซึ่งจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยผู้ที่อายุ 14 ปีขึ้นใน ควรได้รับเซเลเนียมในปริมาณ 55 ไมโครกรัมต่อวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง เมนูปลาพัฒนาสมอง เมนูอาหารเด็ก 1 ขวบเพิ่มพัฒนาการสมอง ฉลาดยิ่งขึ้น
แม้ว่าปลาทูจะมีประโยชน์มากมาย แต่ในการบริโภคปลาทูรวมถึงปลาทะเลอื่น ๆ นั้น ก็จำเป็นจะต้องระวังเรื่องสารปนเปื้อนต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่ไม่ปลอดภัยสำหรับแม่ท้องได้ จึงมีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้
ข้อควรระวังในการบริโภคปลาทู และปลาทะเลอื่น ๆ
ระวังสารปรอทที่อาจปนเปื้อน
การรับประทานปลาทู รวมทั้งปลาทะเลชนิดอื่น ๆ นั้น สิ่งที่ต้องระวังคือการปนเปื้อนของสารปรอท ที่อาจเป็นอันตรายสำหรับแม่ตั้งครรภ์ และแม่ให้นมลูกได้
พยาธิในปลาทะเล
ในปลาทะเลอาจจะมีพยาธิที่มีชื่อว่า อะนิซาคิส (Anisakis Simplex) ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคลำไส้ ปวดท้อง อาเจียนได้ การบริโภคปลาทะเล หรือปลาทูจึงควรปรุงให้สุก โดยใช้วิธีการย่าง อบ ต้ม และนึ่ง เพื่อทำลายพยาธิ และเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจจะสะสมในปลาทะเล อีกทั้งควรเลือกซื้อจากหลาย ๆ แหล่งที่มา และรับประทานปลาหลากหลายชนิด เพื่อป้องกันการสะสมของสารปรอทโลหะหนัก และสารเคมีอื่น ๆ
Credit : แม่บ้าน น้ำพริก โดย ทวีศักดิ์ เกษปทุม. นิตยสารแม่บ้าน , pobpad.com