โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถ้าลูกนอนดึกมากๆ ร่างกายไม่หลั่งโกรทฮอร์โมนจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก
โกรทฮอร์โมนคืออะไร
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone/GH) เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้าง และซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต โกรทฮอร์โมนจึงสำคัญมากในวัยเด็ก ช่วยให้ลูกเจริญเติบโตสูงสมวัย ไม่แคระแกร็น ช่วยเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายแข็งแรง กล้ามเนื้อแน่น เสริมสร้างภูมิต้านทาน พัฒนาการด้านสมอง ทั้งยังมีผลด้านจิตใจ เมื่อร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกสดชื่น แจ่มใส ร่างกายมีความพร้อมในการทำกิจกรรมต่างๆ มีสมาธิดี ความจำดี
ระดับของโกรทฮอร์โมนจะลดลงเรื่อยมาตามอายุที่มากขึ้น โดยจะมีระดับสูงมากที่สุดในครรภ์แม่ ลดลงเรื่อยมาเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก แต่พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนนี้จะกลับมามากขึ้นอีกครั้ง หลังจากอายุ 25 ปีแล้ว ฮอร์โมนนี้จะลดลง 15% ทุกๆ 10 ปี จนเมื่ออายุ 60 ปี โกรทฮอร์โมนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 10% ของวัยหนุ่มสาว
โกรทฮอร์โมน หลั่งตอนไหน
โกรทฮอร์โมนนั้นจะผลิตในขณะที่เรานอนหลับ มีการหลั่งในชั่วโมงแรกหลังจากที่หลับสนิท ระหว่าง 5 ทุ่ม ถึงตีสาม การหลั่งโกรทฮอร์โมนในช่วงนี้มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายมากที่สุด หากลูกหลับไม่สนิท หรือนอนดึก โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน ร่างกายก็จะไม่สร้างโกรทฮอร์โมน
โกรทฮอร์โมน สำคัญต่อพัฒนาการลูกอย่างไร?
โกรทฮอร์โมน มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อย ดังนี้
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ โกรทฮอร์โมนกระตุ้นให้เซลล์กระดูกและกล้ามเนื้อเจริญเติบโต ทำให้ลูกมีความสูง และน้ำหนัก ที่เหมาะสม
- กระตุ้นระบบเผาผลาญ โกรทฮอร์โมนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเผาผลาญไขมัน
- เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโกรทฮอร์โมนช่วยกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น
- พัฒนาการทางสมองโกรทฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อความจำ การเรียนรู้ และอารมณ์
- เสริมสร้างสุขภาพหัวใจโกรทฮอร์โมนช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกขาดโกรทฮอร์โมน
Growth Hormone จะผลิตได้ดีหากลูกมีการนอนหลับพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เมื่อโกรทฮอร์โมนของลูกทำงานผิดปกติ นอกจากอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่าค่าปกติแล้ว ลูกยังอาจมีอาการ เสียงเล็กแหลม รูปร่างเตี้ยแต่จ้ำม่ำ ในเพศชายอาจพบว่ามีอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วๆ ไป เด็กบางคนที่ขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตชนิดรุนแรงจะพบว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเป็นเหตุให้ลูกชักจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อีกด้วย
คุณแม่ควรสังเกตการเจริญเติบโตของลูกอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ แสดงว่ามีการเจริญเติบโตผิดปกติ คุณแม่ควรพาลูกมาหาหมอโดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยว่าเกิดจากการขาดโกรธฮอร์โมนหรือไม่ ทั้งนี้การรักษาตั้งแต่เล็กจะยิ่งได้ผลดี
- ลูกตัวเล็กกว่ามาตรฐานมาโดยตลอด
- ช่วงอายุ 4-9 ปี การเพิ่มของส่วนสูงน้อยมากกว่า 5 ซม./ปี
- พล็อตกราฟความสูงแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงอายุนั้นๆ
- อัตราการเพิ่มส่วนสูงภายใน 4 ปีน้อยกว่าปีละ 5 ซม.
- เมื่ออายุ 1 ปีครึ่งขึ้นไป ขนาดร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ และตอนคลอดมีภาวะคลอดยาก คลอดแล้วต้องให้ออกซิเจน
- คลอดออกมาแล้วตัวเล็ก เช่น หนักน้อยกว่า 2.5 กก. ความยาวแรกเกิดต่ำกว่า 50 ซม.
- 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเปลี่ยนไซส์รองเท้าเลย
วิธีเพิ่มโกรทฮอร์โมนในเด็ก
คุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลลูกให้ร่างกายสามารถสร้างโกรทฮอร์โมนได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย
- ใส่ใจชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกอยู่เสมอ ตั้งแต่หลังคลอด วัยเตาะแตะ วัยเรียน จนถึงวัยรุ่น
- พาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบเพื่อป้องกันโรคต่างๆ
- ระวังอย่าให้ลูกเจ็บป่วยเรื้อรัง และอย่าให้ลูกได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะอย่างแรง เช่น หกล้ม ศีรษะกระแทกพื้น เป็นต้น
- ในช่วงที่ลูกกำลังเจริญเติบโตควรเลือกสรรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และรับประทานให้ครบทั้งห้าหมู่ เน้นอาหารที่ให้วิตามินและแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกด้วย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กควรนอนหลับอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง ต่อวันเพราะการนอนหลับสนิท หลับลึก เป็นช่วงที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งได้ดี และห้ามนอนดึกเด็ดขาด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นการสร้างโกรทฮอร์โมนได้ดี เด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ต่อวัน
- ทุกครั้งที่พาลูกไปหาหมอให้บันทึกน้ำหนักตัวและส่วนสูงของลูกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพของลูก เพราะข้อมูลที่เราบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องมีประโยชน์อย่างมากต่อกุมารแพทย์ที่ดูแลปัญหาด้านการเจริญเติบโตของเด็ก
- ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีปัญหากังวลใจเกี่ยวกับความสูงของลูกต้องรีบพามาปรึกษาคุณหมอก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น
ป้องกันลูกขาดโกรทฮอร์โมนได้ตั้งแต่ในครรภ์
เนื่องจากโกรทฮอร์โมนของลูกผลิตได้ตั้งแต่ในครรภ์แม่ การปฏิบัติตัวของแม่ท้องจึงมีผลต่อน้ำหนักและความสูงของลูกตั้งแต่แรกคลอด
- แม่ท้องควรงดเว้นการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเล็ก สมองก็จะเล็กจำนวนเซลล์ในสมองก็เล็กตามไปอีกด้วย
- ระมัดระวังการกินยาบางชนิด เช่น ยากันชัก
- แม่ควรไปรับวัคซีนป้องกันให้มีภูมิต้านทานโรคต่างๆ ก่อนตั้งครรภ์ให้ครบถ้วน เช่น หัดเยอรมัน
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดภัยจากโรคต่างๆ เช่น เชื้อซิฟิลิส รกเกาะต่ำ โรคเบาหวาน คลอดก่อนกำหนด ที่อาจทำให้ลูกน้ำหนักน้อย ตัวสั้น เล็กไปหมด
- หากรูปร่างของทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยสูงนัก แต่อยากให้ลูกมีความสูงอยู่ในเกณฑ์ ควรบำรุงสุขภาพของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-2 ปี
ที่มา : นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.137 March 2007 , ไทยรัฐ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
กลัวลูกเตี้ย แม่ต้องทำไง แต่ละปีลูกควรสูงขึ้นกี่เซน นอนดึกมีผลต่อความสูงจริงไหม
วิธีเพิ่มความสูงให้ลูก ด้วยการออกกำลัง โดยไม่ต้องผ่าตัด
5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของลูก มีอะไรบ้างที่ต้องสังเกต ?