คุณแม่ให้นมลูกหลายคนมีปัญหาน่าหนักอก ที่ต่างสงสัยว่า หากให้ลูกดูดนมข้างซ้ายและขวาไม่เท่ากัน หรือ ลูกดูดเต้าเดียว จะส่งผลให้ขนาดของหน้าอกสองข้างไม่เท่ากันหรือไม่ แล้วถ้าลูกยังดึงดันจะดูดนมแม่แค่ข้างเดียว แม่จะมีปัญหาหน้าอกใหญ่ข้างเล็กข้างไปตลอดเลยไหม แล้วถ้ามีผลให้หน้าอกไม่เท่ากันจะแก้ไขอย่างไร หน้าอกจะกลับมาเท่ากันหรือไม่ เรามาดูรายละเอียดกันค่ะ
เต้านมแม่ขนาดไม่เท่ากันเพราะ ลูกดูดเต้าเดียว
เรื่องน่าหนักใจของแม่ให้นม เมื่อลูกถนัดดูดนมข้างเดียว อาจเป็นเพราะความถนัดของเจ้าตัวเล็ก ความเคยชินที่เคยดูดข้างนี้เพราะแม่ชอบอุ้มเข้าข้างที่ถนัด แม่ถนัดขวาก็ให้ลูกดูดข้างซ้าย ลูกเลยติดดูดข้างซ้าย แต่ถ้าคิดให้ดี เป็นไปได้ว่า เต้านมอีกข้างที่ลูกไม่ชอบดูด มีอะไรบางอย่างที่รบกวนการดูดนมของทารก เช่น
- น้ำนมแม่ที่พุ่งแรงเกินไป เนื่องจากลูกไม่ค่อยดูด น้ำนมเต้านี้เลยมีเยอะ เมื่อผลิตน้ำนมออกมามาก ลูกดูดนิดเดียวก็พุ่งแล้ว พอลูกเริ่มงอแง แม่ก็จับเปลี่ยนมาข้างที่ถนัด เท่านี้เจ้าหนูก็เคยชินกับข้างเดิม
- น้ำนมน้อย ลูกดูดแล้วน้ำนมไม่ออก อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากการดูดแล้วน้ำนมพุ่งแรง จนทำให้ลูกไม่อยากดูดอีก เมื่อไม่ค่อยดูด น้ำนมจึงไม่ค่อยผลิต อาจทำให้ไม่มีน้ำนม หรือถ้าน้ำนมน้อย ก็จะข้นและไหลช้า ลูกก็จะดูดยาก
หน้าอกข้างไหนลูกชอบดูด ข้างนั้นก็ใหญ่ ข้างที่ลูกชอบดูดนมบ่อย ๆ จะผลิตน้ำนมมากกว่าอีกข้าง จึงทำให้ข้างที่ลูกดูดบ่อย ใหญ่กว่าอีกข้าง ทำให้คุณแม่รู้สึกเขินหรือไม่มั่นใจในตัวเอง ถ้าอย่างนั้น มาลองหาทางแก้ปัญหานี้กันค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูก ดูดนม ลูกไม่ยอมอ้าปากเข้าเต้า ทำอย่างไรให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธี?
1. อุ้มลูกเข้าเต้าข้างที่ไม่ถนัดก่อน
ให้ลูกดูดนมข้างที่ไม่ถนัด เพื่อกระตุ้นข้างนั้นให้สร้างน้ำนมแม่เพิ่มขึ้น แรก ๆ ลูกย่อมงอแง เพราะไม่คุ้นเคย แม่ต้องเลือกท่าให้นมเป็นท่าฟุตบอล เพราะถ้าลูกชอบดูดนมข้างซ้าย แก้มขวาจะชิดเต้า เมื่อเปลี่ยนข้างลูกจะไม่คุ้น แต่หากใช้ท่าฟุตบอล แก้มขวาจะติดเต้า ลูกจะคิดว่ายังดูดในข้างเดิมที่ชอบดูด
2. นำน้ำนมแม่หยดบนข้างที่เล็ก
ข้างที่เล็กเพราะลูกไม่ชอบดูด จนทำให้น้ำนมแม่ผลิตออกมาน้อย แม่จึงต้องหลอกล่อลูกว่า น้ำนมเยอะด้วยการหยดน้ำนมแม่บนข้างที่ลูกไม่ถนัด
3. แก้ปัญหาน้ำนมพุ่ง
หากลูกดูดข้างที่ไม่ถนัด แล้วเจอปัญหาน้ำนมพุ่งจนสำลัก ลูกก็ต้องร้องงอแงอยากกลับไปดูดข้างที่ถนัด แม่ต้องปั๊มน้ำนมออก และให้ลูกดูดท่านอนตะแคงหรือคุณแม่นอนหงายแล้วลูกนอนคว่ำบนตัวแม่ ไม่อย่างนั้น แม่ต้องกดเต้านมด้านล่างแล้วหัวนมจะชี้ลงพื้น ลูกจะได้ไม่สำลักน้ำนมขึ้นจมูก
4. ขยันปั๊มนม
ในขณะที่ให้นมลูกข้างที่น้ำนมไหลมาก ก็ให้ปั๊มนมข้างที่น้ำนมไหลน้อยไปพร้อมกันเลย ทำให้สามารถเก็บเป็นสต๊อกน้ำนมได้ด้วย หรือคุณแม่อาจจะปั๊มนมหลังจากที่ลูกกินนมเสร็จก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เพราะการปั๊มนมออกเป็นการกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมออกมามาก ๆ ลดปัญหาที่น้ำนมแต่ละข้างไหลเท่ากัน หลังจากที่เต้านมทั้ง 2 ข้างถูกกระตุ้นแล้ว ก็ลองสลับเต้าให้ลูกดูดค่ะ
5. ทำให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ
หลังจากที่สลับให้ลูกกินนมข้างที่เล็กกว่า ด้วยเต้านมที่ไม่ค่อยได้รับการกระตุ้น ทำให้น้ำนมออกน้อย คุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนม โดยการนำขวดนมมาหยดน้ำนมลงบนเนื้อนมของคุณแม่ใกล้ ๆ ริมฝีปากลูก น้ำนมเหล่านี้จะช่วยชวนเชิญให้ลูกกินนมข้างนี้อย่างต่อเนื่องไปได้ แต่ถ้าวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็อาจหาสายยางเล็ก (สาย NG) แปะไปที่หัวนม ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งให้หย่อนลงขวดนม และให้ลูกดูดนมไปพร้อมกับการดูดนมจากสายยาง เพื่อให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ
สาเหตุ ทำหนูติดดูดนมข้างเดียว
1. ให้นมข้างที่คุณแม่ถนัด
ช่วงแรก ๆ ที่คุณแม่ให้นมลูก มักจะให้ตามความถนัดของการอุ้มลูก เช่น คุณแม่ที่ถนัดขวา หรืออุ้มลูกมือขวาก็จะให้ลูกกินนมเต้าซ้าย จึงสังเกตได้ว่าคุณแม่ที่ถนัดขวา หน้าอกด้านซ้ายจะใหญ่กว่าเพราะเป็นเต้านมที่ลูกดูดบ่อย จึงมีการผลิตน้ำนมอยู่เป็นประจำ เต้านมข้างที่ไม่ได้ดูดก็จะผลิตน้ำนมน้อย ขนาดของเต้านมก็จะเล็กลงค่ะ
2. ลูกติดความเร็วของกระแสน้ำนม
เมื่อให้นมลูกไปประมาณ 1 เดือน นมข้างที่คุณแม่ให้ลูกกินประจำน้ำนมจะไหลแรงและเร็วกว่าอีกข้าง สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตของลูกที่เรียนรู้การดูดนมได้ดีขึ้น ซึ่งนมข้างที่เล็กกว่าจะผลิตน้ำนมได้น้อย ไหลช้ากว่าและเป็นน้ำนมข้น มีโซเดียมปริมาณมาก ทำให้มีรสชาติเค็ม แต่นมข้างที่ปริมาณน้ำนมมากกว่า น้ำนมจะใสและมีรสชาติหวานกว่า
เต้านมหย่อนคล้อย ความกังวลของแม่ให้นม
เต้านมหย่อนคล้อยไม่เต่งตึง เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คุณแม่ให้นมลูกมักกังวล จริง ๆ แล้วการที่ลูกดูดนมแม่ ไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหานี้ ต้นเหตุที่ทำให้เต้านมหย่อนคล้อยเกิดจากแรงโน้มถ่วง เพราะเต้าหนักมากขึ้น จากการมีน้ำนมแม่อยู่ในเต้านม เพื่อป้องกันปัญหานี้คุณแม่ที่ให้นมลูกควร
- ดูแลรักษาเต้านมให้คงรูป : ด้วยการใส่ยกทรงที่กระชับ มีสายใหญ่และมีเส้นช่วยโอบอุ้มด้านล่างของเต้านม เพื่อรองรับกับขนาดของเต้าที่โตขึ้น
- หมั่นบริหารหน้าอก หรือการออกกำลังกายในท่ากระชับหน้าอก : เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอก และเส้นยึดเต้านมแข็งแรงขึ้น เช่น ท่าง่าย ๆ ด้วยการประกบฝ่ามือทั้ง 2 ข้างเข้าหากันคล้ายกับท่าพนมมือ แต่เหยียดข้อศอกทั้ง 2 ข้างออกให้สุดเท่าที่จะทำได้ นับ 1-5 แล้วผ่อนคลาย ทำซ้ำสัก 5 ครั้ง หรือการว่ายน้ำโดยเฉพาะท่าผีเสื้อจะช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าอกแข็งแรง ช่วยกระชับกล้ามเนื้อหน้าอกได้
- การหายใจเข้าออกอย่างถูกต้อง : ขณะหายใจเข้าเต็มที่กล้ามเนื้อกะบังลมควรลดตัวลงไปในช่องท้อง ส่วนไหล่ควรยกขึ้น จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าอกไม่ให้หย่อนยาน
- กระตุ้นกล้ามเนื้อหน้าอกด้วยการฉีดน้ำ : ขณะอาบน้ำให้ใช้น้ำเย็นจากฝักบัว ฉีดวน ๆ รอบทรวงอกในลักษณะวนเข้า จะช่วยกระตุ้นให้เต้านมเต่งตึงขึ้นได้
- ใช้เปลือกมะนาวนวดสครับหน้าอก : เพราะในเปลือกมะนาว มีกรดธรรมชาติและสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งสามารถขจัดเซลล์ผิวเก่าออกและช่วยกระชับผิวพรรณให้เต่งตึงขึ้นได้ ให้คุณแม่นำเปลือกมะนาวที่ใช้แล้ว เอาด้านสีขาวมาถูและนวดเบา ๆ บริเวณหน้าอก โดยเว้นที่หัวนมและลานนม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาทีแล้วล้างออก จากนั้นใช้น้ำมันทาผิวหรือโลชั่นที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มาชโลมหน้าอกให้ชุ่มชื้น ประคบหน้าอกอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง หน้าอกที่หย่อนยานก็จะกลับมาดูกระชับและเต่งตึงขึ้นได้ การนวดหน้าอกด้วยเปลือกมะนาวจะทำให้เลือดลมบริเวณหน้าอกไหลเวียนดี เมื่อเลือดลมสูบฉีดดี หน้าอกก็จะค่อย ๆ กลับมากระชับเต่งตึงได้
ช่วงให้นม อาจมีปัญหาต่าง ๆ ให้คุณแม่กังวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหน้าอกไม่เท่ากัน เต้านมหย่อนคล้อย ฯลฯ แต่หากคุณแม่ตั้งใจมั่นที่จะให้นมแม่กับลูก ปัญหาต่าง ๆ ก็มีหนทางแก้ไขได้เสมอ ดังนั้นไม่ต้องเครียดเกินไป เข้าใจและอดทนเพื่อลูก คุณแม่จะผ่านทุกสิ่งไปได้แน่นอนค่ะ!
สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่คุ้นเคยกับท่าอุ้มให้นมในแบบต่าง ๆ ลองฝึกฝนไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ชำนาญเองค่ะ และถ้าลูกยังงอแงไม่ให้ความร่วมมือ แม่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เมื่อน้ำนมหมด ลูกหย่านม หน้าอกของคุณแม่ก็จะกลับมามีขนาดพอ ๆ กับก่อนมีลูก ไม่ใหญ่ข้างเล็กข้างแบบในตอนนี้
ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกชอบดูดนมเพียงข้างใดข้างหนึ่งควรรีบหาวิธีแก้ไขภายใน 3 เดือน เพราะถ้าหากปล่อยให้เลยช่วงนี้ไปแล้ว ลูกมักไม่ยอมดูดนมตามที่คุณแม่ต้องการแล้วค่ะ ยิ่งถ้าปล่อยไว้นานไปถึง 6 เดือน อาจจะแก้ไข้ไม่ทันแล้วเพราะหลัง 6 เดือน เป็นช่วงที่ลูกกินอาหารเสริม และอาจจะกินนมแม่น้อยลงค่ะ การที่จะไปกระตุ้นข้างที่เล็กให้กลับมาใหญ่เท่ากันนั้นเป็นเรื่องยากแน่นอนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำนมไหลขณะตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ นมแม่ผลิตออกมาตั้งแต่ยังไม่คลอด
อึลูกจากการให้นมแม่และนมผง ต่างกันอย่างไร?
วิธีห่อตัวทารก แบบที่ถูกต้องทำอย่างไร จำเป็นต้องห่อตัวลูกตอนนอนทุกวันไหม
ที่มา : Vejthani
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!