วิธีสังเกตลูกคอเอียง
สมมติคุณแม่เห็นว่าลูกคอเอียงทางซ้าย เบื้องต้นให้คุณแม่ลองสังเกตก่อนว่า เมื่อเรียกน้องโดยใช้ของเล่นเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้น้องหันมาทางขวา น้องสามารถเอียงคอหรือหันมาทางขวาได้หรือไม่ หากน้องหันได้ แต่สักพักก็จะหันกลับไปทางซ้ายเหมือนเดิม แสดงว่า น้องไม่ได้คอเอียง แต่เป็นเพราะน้องถนัดด้านซ้ายมากกว่า
แต่หากน้องไม่สามารถหันมาทางขวาได้เลย เมื่อลองจับให้น้องหัน น้องร้องเหมือนเจ็บ หรือต่อต้านมาก แสดงว่ามีความผิดปกติ คุณแม่ควรพาน้องไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
ลูกคอเอียงเกิดจากอะไร
โรคคอเอียงแต่กำเนิด (Congenital Muscular Torticollis) ส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อด้านข้างคอ (Sternocleidomastoid) ที่ยึดระหว่างกระดูกด้านหลังหู กับส่วนหน้าของกระดูกไหปลาร้าหดสั้นลง ทำให้ศีรษะเอียงไปด้านที่กล้ามเนื้อหดสั้น ในขณะที่ใบหน้าจะหันไปด้านตรงกันข้าม โดยสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหดสั้นลงนั้น เชื่อว่าอาจเป็นเพราะเนื้อเยื่อบริเวณคอถูกกดขณะคลอด หรือทารกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมในครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อที่คอเสียหาย กลายเป็นพังผืดและหดสั้นลง
อาการคอเอียงอาจพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 เดือนหลังคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะคลำพบก้อนที่คอด้านที่เอียง โดยบังเอิญ อาการนี้ไม่ใช่อาการร้ายแรง สามารถหายได้เอง เมื่อน้องอายุ 2 เดือน
แต่หากน้องอายุได้ 3 เดือนแล้วก้อนแข็งที่คอยังมีขนาดใหญ่เท่านิ้วโป้งของผู้ใหญ่ และแข็งมาก จะทำให้รูปหน้าเริ่มบิดเบี้ยว คุณหมออาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเมื่ออายุ 1-2 ขวบ
ทำอย่างไรเมื่อลูกคอเอียง
คุณแม่อาจช่วยบริหารคอให้น้องหายเร็วขึ้น ด้วยการฝึกให้น้องหันหน้ามาอีกด้านหนึ่งโดยวิธีการที่นิยมและใช้ได้ผลดีคือ
- เปลียนท่าให้นม โดยหากน้องคอเอียงด้านซ้าย ให้น้องนอนตะแคงด้านขวาขณะให้นมเพื่อให้กล้ามเนื้อที่คอด้านซ้ายได้ยืด
- เวลาอุ้มน้องก็เช่นเดียวกัน ควรอุ้มในท่าที่น้องจะพาดหรือหันหน้ามาทางด้านขวา
- ใช้ของเล่นในการกระตุ้นให้น้องมองตาม หรือหันมาทางขวาบ่อยๆ
- จัดตำแหน่งศีรษะของน้องขณะนอนหลับ ให้นอนหันศีรษะไปด้านตรงกันข้าม
- ในวันที่ไปฉีดวัคซีนแนะนำแจ้งแพทย์ให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยอีกครั้ง คุณหมออาจส่งตัวไปรักษากับนักกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อด้วยวิธีดัด ซึ่งคุณแม่สามารถนำกลับไปดัดน้องได้เองที่บ้านอย่างปลอดภัยค่ะ
หลังจากน้องอายุ 1 ปีแล้ว หากยังมีอาการคอเอียง ควรรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อให้สมดุลของศีรษะและใบหน้าดีขึ้น วิธีการผ่าตัดที่นิยมและได้ผลดีคือการผ่าตัดปลายยึดเกาะของกล้ามเนื้อด้านข้างคอทั้งสองปลาย (bipolar release) หลังผ่าตัดในบางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงต่างๆ ร่วมด้วย และยังต้องมีการยืดกล้ามเนื้อคออย่างต่อเนื่องเพื่อให้คอตรงมากขึ้น และป้องการการเป็นซ้ำ
ภาพประกอบ
www.webmd.com/children/congenital-torticollis
www.fprmed.com/Pages/Ortho/Torticollis.html
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อุทาหรณ์ ลูกนอนคว่ำแล้วหงายเองไม่ได้
อันตรายของทารกวัยคว่ำ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!