ลูกขาดวิตามิน
อันตราย ลูกขาดวิตามิน ลูกขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ลูกไม่กินข้าว อาหารเสริม ทารกขอกินแต่นม แม่อย่าตามใจ ทารกหรือเด็กในวัยเกิน 1 ปี จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
อาการอย่างไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรสงสัยว่าลูกขาดวิตามิน?
คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่าลูกน้อยอาจจะขาดวิตามินได้หากอายุเกินวัยทารก อายุมากกว่า 1 ปีแล้วยังทานแต่นมเป็นหลัก หรือทานแต่ขนมหวาน ไม่ค่อยยอมทานข้าว ไม่ทานผักและผลไม้ จึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบตามต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินและเกลือแร่ เรามาดูกันนะคะว่าเมื่อใดจึงจะควรสงสัยว่าลูกขาดวิตามิน
วิตามินแบ่งได้เป็นกี่ชนิด?
วิตามินเป็นสารจำเป็นที่ร่างกายใช้ในกระบวนการทำงานและเมตาบอลิซึมต่าง ๆ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
- วิตามินที่ละลาย ได้ในไขมัน ได้แก่ วิตามิน A, D, E, และ K
- วิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามิน B และวิตามิน C
เมื่อลูกขาดวิตามิน
สาเหตุของการขาดวิตามินมีอะไรบ้าง?
สาเหตุของการขาดวิตามินแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
- การขาดวิตามินแบบปฐมภูมิ คือการขาดวิตามินจากการที่รับประทานเข้าไปไม่เพียงพอ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
- การขาดวิตามินแบบทุติยภูมิ คือมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ขาดวิตามิน เช่น มีความผิดปกติในการย่อยและการดูดซึมอาหาร ร่างกายมีการขับถ่ายหรือทำลายวิตามินมากขึ้น รับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามิน โรคความผิดปกติทางพันธุกรรมบางโรค หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องการวิตามินมากกว่าปกติ
อาการของลูกขาดวิตามิน อาการของการขาดวิตามินเป็นอย่างไร ?
การขาดวิตามินจะทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ โดยช่วงแรกอาจไม่เกิดอาการใด แต่หากปล่อยให้ขาดมากขึ้นจนถึงระดับวิกฤตจึงจะแสดงอาการชัดเจน การขาดวิตามินในเด็กมักจะไม่ขาดเพียงตัวใดตัวหนึ่งแต่มักขาดวิตามินหลายชนิดร่วมกัน เพราะในอาหารชนิดหนึ่งจะมีวิตามินหลายตัว อาการของการขาดวิตามินในช่วงเริ่มแรกมักจะมีอาการไม่จำเพาะเจาะจง เช่น
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- นอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย
วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย จะมีมากในอาหารที่มีประโยชน์ต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ผักใบเขียวทุกชนิด และผลไม้ ในเด็กที่ไม่ทานข้าว ทานแต่นม จึงอาจขาดวิตามินเหล่านี้ได้
วิธีสังเกตว่าลูกขาดวิตามิน
อาการของการขาดวิตามินที่พบบ่อยมีดังนี้
1. วิตามินเอ: ตาแห้ง หากขาดรุนแรงอาจทำให้ตาบอดกลางคืนได้ การเจริญเติบโตช้า
2. วิตามินบี
- วิตามินบี 1: โรคเหน็บชา แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย และเกิดความรู้สึกสับสนได้
- วิตามินบี 2: แผลที่มุมปากหรือที่เรียกกันว่าโรคปากนกกระจอก
- วิตามินบี 3: โรคเพลลากรา (Pellagra) ทำให้มีอาการผิวหนังอักเสบคล้ายถูกแดดเผา ปากลิ้นอักเสบ เบื่ออาหาร หงุดหงิด กังวล
- วิตามินบี 5: ปวดท้อง อาเจียน ไม่มีแรง นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย เป็นลม ปวดตามแขนและขา การสร้างแอนติบอดี้ลดลง และติดโรคง่าย มีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย หรือซึมเศร้า
- วิตามินบี 6: อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ซึมและความคิดสับสน คลื่นไส้ อาเจียน
- วิตามินบี 7: เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ลิ้นอักเสบ ผิวหนังซีด แห้ง และหลุดออกเป็นหย่อมๆ มีอาการซึมเศร้า
- วิตามินบี 8: โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ผิวหนังอักเสบบวมแดง คัน และผิวหนังหลุดลอกเป็นขุย
- วิตามินบี 9: โรคโลหิตจาง
- วิตามินบี 11: อาจเกิดโรคอัลไซเมอร์ ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว ไขมันสะสมที่ตับ
- วิตามินบี 12: โลหิตจาง อ่อนเพลีย เกิดความบกพร่องของระบบประสาท ชาตามปลายมือปลายเท้า และความจำเสื่อมได้
3. วิตามินซี: เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวมแดง แผลหายช้า กล้ามเนื้อขาไม่มีแรง ถ้าขาดวิตามินซีรุนแรง ฟันจะโยกคลอนและหลุดง่าย มีเลือดออกเป็นจุดๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อน
เสียรูปร่าง
4. วิตามินดี: ปวดกระดูกและกดเจ็บบริเวณที่ปวด พบบ่อยที่กระดูกสันหลังตอนล่าง กระดูกเชิงกราน และกระดูกขา จึงมักส่งผลให้มีท่าเดินที่ผิดปกติ และล้มได้ง่าย ในเด็กกระดูกจะอ่อนกว่าปกติ แต่ในผู้ใหญ่จะมีกระดูกบาง กระดูกพรุน ปวดกล้ามเนื้อ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
5. วิตามินอี: บวม ผิวหนังเป็นผื่นแดง เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติและแตกได้ง่ายจนเกิดภาวะโลหิตจางได้
6. วิตามินเค: เลือดแข็งตัวได้ช้าเมื่อมีบาดแผล เลือดออกง่ายกว่าปกติ
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดวิตามินเหล่านี้ ก็ควรจะปรึกษาคุณหมอเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุก่อนนะคะ หากอาการเกิดจากลูกขาดวิตามิน คุณหมอจะแนะนำการทานวิตามินเพื่อการรักษา การทานอาหารที่มีวิตามินอย่างเหมาะสมให้มากขึ้น และการทานวิตามินเสริมเพื่อป้องกันการขาด ทั้งนี้หากต้องการซื้อวิตามินมาให้ลูกรับประทานก็ควรจะปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนเพื่อจะได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องและปลอดภัย และไม่ควรละเลยการฝึกให้ลูกรู้จักการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างหลากหลาย โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผักผลไม้วิตามินซีสูง ป้องกันหวัดลูก ดีต่อสุขภาพคนท้อง สร้างเนื้อเยื่อและกระดูกทารกในครรภ์
สารอาหารเด็กเล็ก อาหารที่เหมาะสมกับวัยทารก 1-3 ปี ลูกต้องการสารอาหารอะไรบ้าง
นอนแอร์ นอนพัดลม ทารกนอนห้องแอร์ หรือเปิดพัดลมนอน นอนแบบไหนหลับสบาย ไม่ป่วยไข้
ทารกติดโรค จากผู้ใหญ่ ทารกป่วยบ่อย ติดเชื้อจากพ่อแม่ ครอบครัว คนป่วยต้องอยู่ให้ห่างลูก