ช่วงการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ร่างกายคุณแม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ซึ่งบางทีแม้เราจะดูแลตัวเองอย่างดี แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้นได้ รกเกาะต่ำ ภาวะรกเกาะต่ำ หรือมดลูกต่ำกับการตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในปัญหาที่อาจเกิดกับคนที่ท้องบางคน วันนี้เราจะมาพูดถึงภาวะความผิดปกตินี้กันค่ะ
รกเกาะต่ำ คืออะไร
รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เป็นภาวะที่รกปิดขวาง หรือคลุมบริเวณปากมดลูก ซึ่งปกติรกจะอยู่ด้านบนของมดลูก และห่างจากปากมดลูก เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดขยายออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรก และมดลูก จะเกิดการฉีกขาด ทำให้มีเลือดออกมามาก ซึ่งอาการนี้เป็นได้ทั้งก่อน หรือในขณะที่คลอด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์
ภาวะรกเกาะต่ำนี้ อาจส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นหากแพทย์พบว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีภาวะรกเกาะต่ำอยู่ จะแนะนำให้ทำการผ่าคลอด (Caesarean Section) มากกว่าการคลอดธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ
สำหรับปัจจัยเสี่ยง หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่เราสามารถสันนิษฐาน ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดังนี้
- การมีแผลที่ผนังมดลูกซึ่งเกิดจากการทำแท้ง หรือการผ่าคลอด
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มดลูกมีขนาดใหญ่ หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ
- ตำแหน่งที่ผิดปกติของทารกในครรภ์
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
- มีการผ่าคลอดในการตั้งครรภ์ก่อนหน้า
- การตั้งครรภ์ตั้งแต่ครรภ์ที่ 2 เป็นต้นไป
- มีการขูดมดลูกจากสาเหตุการแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
- การตั้งครรภ์แฝด หรือมีจำนวนทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน
- เลือดไปเลี้ยงผนังมดลูกได้ไม่ดี เช่น ผลจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานเป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 39 ภาวะรกเกาะต่ำคืออะไร
อาการของภาวะรกเกาะต่ำ
สำหรับผู้ที่กังวลว่าตนเองเข้าข่ายการอยู่ในภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่ สามารถสังเกตจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
- รกเกาะต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 โดยอาการที่พบคือ มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทางช่องคลอดและมักไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ
- บางรายอาจมีอาการปวด เจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย
- หากเสียเลือดมาก อาจทำให้ทารกซีดและเสียชีวิตได้ ส่วนมารดาอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและมีโอกาสเสียชีวิตได้หากพบอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ผลกระทบจากภาวะรกเกาะต่ำในสตรีมีครรภ์
แน่นอนว่า หากมีภาวะรกเกาะต่ำในสตรีมีครรภ์ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เอง รวมถึงทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์อีกด้วย ซึ่งเราสามารถแยกผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
1. ผลกระทบต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์
- มีอาการตกเลือดในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
- ช็อกจากการเสียเลือดมาก
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- ติดเชื้อหลังคลอด เนื่องจากมีเส้นเลือดแตกใกล้ปากมดลูก (เป็นบริเวณที่ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย)
2. ผลต่อทารกในครรภ์
- พบว่ามีอัตราการตายของทารกปริกำเนิด โดยสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการคลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักตัวของทารกน้อยกว่าอายุครรภ์ และมีการเจริญเติบโตในครรภ์ที่ช้ากว่าปกติ
- มีความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำจะส่งผลต่อทั้งมารดา และ ทารกในครรภ์ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มาก คือ การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 2 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำรกที่ฉีกขาดหรือมีเลือดออก จะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางกับทารก และต้องผ่าคลอด (Cesarean Section) แบบฉุกเฉิน หากเสียเลือดมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ผิวซีด หายใจสั้น ชีพจรอ่อนหรือเต้นเร็วกว่าปกติ ความดันในเลือดลดต่ำลง โลหิตจาง เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รกเกาะต่ำ เป็นแบบไหน ทำไมใคร ๆ ก็เตือนให้คนท้องต้องระวัง
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น
คุณแม่จะต้องนอนพักผ่อนให้มาก ๆ และระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือนต่อทารกในครรภ์ และหลีกเลี่ยงการทำงานหนักทั้งนอกบ้าน และในบ้าน ทั้งนี้ หากพบว่าตัวเองมีเลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ที่ดูแลครรภ์ในทันที
สำหรับปัญหา สุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการ ตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องสามารถป้องกันในเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจสุขภาพก่อน การตั้งครรภ์ และเล่าถึงปัญหาสุขภาพที่เคยมี ประวัติการเจ็บป่วยให้คุณหมอทราบ ก็จะช่วยให้การตั้งครรภ์ราบรื่นปลอดภัย เป็นการตั้งครรภ์คุณภาพได้ตลอดทั้ง 40 สัปดาห์ค่ะ
เมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอดในสตรีตั้งครรภ์ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ภาวะเลือดออกจากรกเกาะต่ำ มีตั้งแต่เลือดออกกะปริดกะปรอย จนถึงเลือดออกมาก โดยทั่วไปเลือดที่ออกครั้งแรกมักไม่มาก แต่เลือดที่ออกครั้งต่อ ๆ มามักจะมาก หากไปพบแพทย์แล้ว เลือดที่เคยออกค่อย ๆ หยุดไป และอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด (ประมาณ 37 สัปดาห์) แพทย์สามารถให้กลับมาพักผ่อนที่บ้านได้ ซึ่งการดูแลตนเองสำคัญมาก
- ห้ามมีเพศสัมพันธ์เด็ดขาด
- ต้องไม่ทำงานหนัก
- ต้องนอนพักมาก ๆ
และต้องรีบกลับไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติผิดไปจากเดิม
ภาวะรกเกาะต่ำ ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถกำหนด หรือ ควบคุมการยึดเกาะของรกในมดลูกได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ เช่น การรักษาสุขภาพ งดการสูบบุหรี่ เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้แม่ถูกตัดข้อเท้าหลังผ่าคลอด
มดลูกต่ำ มีลูกได้หรือไม่ มีวิธีป้องกันและรักษามดลูกหย่อนอย่างไร?
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR) คืออะไร อันตรายมากแค่ไหน ป้องกันได้ไหม
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาวะรกเกาะต่ำ ได้ที่นี่!
รกเกาะต่ำคืออะไรคะ เกิดจากอะไร แล้วอันตรายมากไหมคะ
ภาวะรกเกาะต่ำ เกิดจากอะไรคะ จะส่งผลอะไรกับลูกรึเปล่าคะ
ที่มา : webmd, ajog, americanpregnancy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!