ลูกตัวเหลือง ทารกแรกเกิดจำนวนมากมีภาวะตัวเหลืองเนื่องจากมีระดับสารเหลือง หรือบิลิรูบินในเลือดสูง ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะมีภาวะตัวเหลืองแบบปกติ เนื่องจากตับยังทำงานไม่สมบูรณ์จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า ทำให้ระดับสารเหลืองเพิ่มขึ้นในวันที่ 2-3 และขึ้นสูงสุดในวันที่ 4-5 หลังคลอด จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเองภายใน 7 วันหรือไม่เกิน 10 วันในเด็กคลอดครบกำหนด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดอาการตัวเหลืองจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษาใดๆ
ในทารกบางรายที่มีอาการตัวเหลืองมาก สารเหลืองจะสามารถจากกระแสเลือดผ่านเข้าสู่สมอง และทำความเสียหายแก่สมองได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการตัวเหลืองของลูกน้อยนะคะ
สัญญาณและอาการตัวเหลืองที่เป็นอันตราย
สามารถสังเกตสัญญาณเตือนและอาการที่บอกว่าเจ้าตัวน้อยอาจมีภาวะตัวเหลืองที่เป็นอันตราย ดังนี้
- อาเจียน
- ซึม
- ดูดนมไม่ดี
- มีไข้
- ร้องไห้เสียงแหลม
- ปัสสาวะสีเข้มขึ้น หรือ อุจจาระสีขาวหรือเทา
- เกร็ง ชักหลังแอ่น
- ตาเหลือก
นอกจากนี้ หากครอบครัวมีประวัติตัวเหลืองรุนแรงมาก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่า ทารกตัวน้อยของคุณมีโอกาสเกิดภาวะตัวเหลืองที่เป็นอันตรายเช่นกันค่ะ
การรักษาภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด
การรักษาภาวะตัวเหลือง คือการรักษาระดับสารเหลืองในเลือดให้ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัว หากค่าสูงเกิน แพทย์จะรักษาด้วยการส่องไฟ โดยใช้แสงที่มีคลื่นแสง 420-460 นาโนเมตรเปลี่ยนบิลิรูบินที่ไม่ละลายน้ำให้เป็นบิริลูบินที่ละลายน้ำได้ และถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดีออกทางอุจจาระ และผ่านไตออกทางปัสสาวะ แต่หากไม่ได้ผลจะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารสีเหลืองออกไปให้มากที่สุดในเวลารวดเร็ว
วิธีการส่องไฟ
แพทย์จะทำการส่องไฟห่างจากตัวเด็กประมาณ 45 เซนติเมตร ถ้าเป็นเด็กป่วยหรือเด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่า 2500 กรัม ควรส่องไฟในสามวันแรก ปิดตาเด็ก ป้องกันการทำลายรากเส้นประสาทตา ถอดเสื้อ และผ้าอ้อมของเด็กออก สังเกตอาการขาดน้ำ อาการไข้ ลักษณะสีอุจาระ ปัสสาวะ ปิดไฟระยะสั้นๆ เช่น เวลาให้นม หรือคุณพ่อคุณแม่มาเยี่ยม เปลี่ยนท่านอนของเด็กให้สัมผัสกับไฟอย่างทั่วถึง ชั่งน้ำหนักทุกวัน วัดระดับสารเหลืองในเลือดทุก 12-24 ชม.
อาการข้างเคียงจากการส่องไฟ
อาการข้างเคียงจากการส่องไฟพบได้น้อยและไม่เป็นอันตราย เช่น เด็กอาจมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ดังนั้น ต้องให้นมหรือให้น้ำเด็กให้เพียงพอ อาจมีผื่นขึ้นตามตัวได้บ้าง แต่ไม่ต้องหยุดส่องไฟ อาจมีอุจจาระเหลวในเด็กที่ และอาจทำให้ผิวของเด็กดูเขียวๆ เหลืองๆ เป็นมัน เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเหลือง
- อาการตัวเหลืองเกิดจากนมแม่มีน้อย (Breast feeding jaundice) ทารกดูดนมได้น้อยในสัปดาห์แรก จึงนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและน้ำหนักลดมากผิดปกติ เนื่องจากลำไส้ของเด็กยังเคลื่อนตัวไม่ดี แต่จะดีขึ้นเมื่อให้ดูดนมแม่บ่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน
- อาการตัวเหลืองจากนมแม่ (Breast milk jaundice) ต่างจากอาการตัวเหลืองนมแม่มีน้อย เนื่องจากทารกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอ แต่เกิดจากสารประกอบบางอย่างในนมแม่ทำให้เห็นอาการตัวเหลืองมากขึ้นเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ เป็นภาวะตัวเหลืองที่ไม่เป็นอันตราย จึงไม่จำเป็นต้องหยุดนมแม่ เพราะเด็กจะไม่เหลืองมากไปกว่าเดิม และไม่เกิดภาวะสารบิลิรูบินเข้าสู่สมอง อาการของเด็กในภาวะนี้จะปกติไม่ซึม และอุจจาระของทารกยังคงสีเหลืองตามปกติไม่ซีดอ่อนลง
- Gilbert’s syndrome เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยมีความผิดปกติในการสังเคราะห์สารบิลิรูบิน
- การสร้างสารบิลิรูบินเพิ่มมากกว่าปกติ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากการไม่เข้ากันของกลุ่มเลือดโดยเฉพาะคุณแม่เลือดรุ๊ป O และทารกเลือดกรุ๊ป A หรือ B หรือ ภาวะมีเลือดออกใต้หนังศีรษะจากการคลอด เป็นต้น รวมถึง โรคจากภาวะเม็ดเลือดแดงผิดปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคขาดเอนไซม์ G6PD
- การทำงานของตับในการกำจัดสารบิลิรูบินผิดปกติ
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ป้องกันได้หรือไม่
แม้สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในเด็กหลายชนิดไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีภาวะตัวเหลืองในเด็กบางภาวะสามารถป้องกันได้ เช่น
- ภาวะติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ คุณควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์แรก ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทั้งการเจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และตรวจหาภาวะติดเชื้อในแม่ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคซิฟิลิส ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ ทำให้สามารถทราบว่าอาจมีการติดเชื้อในเด็กตั้งแต่ในครรภ์ โรคบางอย่างสามารถรักษาได้
- เมื่อใกล้คลอดหรือในระหว่างให้ลูกกินนมแม่ แม่ต้องระวังการใช้ยาบางอย่างเช่น ยา กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ทำให้บิลิรูบินจับกับอัลบูมินได้ไม่ดีหรือทำให้มีเม็ดเลือดแดงแตกในเด็กที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) อาจทำให้เกิดตัวเหลืองในเด็กแรกคลอด
- ในเด็กแรกเกิดแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่เร็วที่สุด ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ ให้ได้ 10 – 12 ครั้งต่อวัน เพราะจะทำให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี ช่วยขับสารสีเหลือง/บิลิรูบินออกไปได้ดี
- ไม่อบผ้าอ้อมด้วยลูกเหม็น ซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้เด็กที่ขาดเอนไซม์จีซิกพีดีเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกมากขึ้น ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ๆ ควรซักให้สะอาดก่อนใช้เพราะอาจถูกอบด้วยสารกันแมลง
ดูแลอย่างไรไม่ให้ลูกตัวเหลือง เมื่อกลับไปอยู่บ้าน
เมื่อค่าสารเหลืองลดลงแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้และนัดมาติดตามอาการในภายหลัง
เมื่อเด็กกลับบ้านแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ไม่ต้องป้องน้ำ เพราะการป้อนน้ำไม่ช่วยลดอาการตัวเหลือง การให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีและดูดบ่อยๆ ทำให้นมแม่มีมากพอให้ลูกกิน เพราะนมแม่คืออาหารดีที่สุดของเด็กทารก
หากลูกมีอาการตัวเหลืองอีก อย่ามัวเอาลูกตากแดด เพราะหลายครั้งที่พบว่าเด็กเหลืองมากและเหลืองมานานกว่าจะมาโรงพยาบาล เนื่องจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายบางครอบครัวยังเชื่อว่า ถ้าเหลืองให้เอาลูกตากแดดจะหายเหลือง ทำให้เสียโอกาสในการรีบรักษาให้ได้ผลดี
หากลูกซึม ไม่ดูดนม ไม่ค่อยร้อง มีไข้ หรือตัวเย็นกว่าปกติ เหลืองมากขึ้น ท้องอืด อาเจียน ท้องเสียเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกหรือเลือดปนแม้แต่ครั้งเดียว ตาลอย กระตุกหรือชักเกร็ง หอบ เขียว อาการหนึ่งอาการใดหรือหลายอาการร่วมกันต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดหรือพบแพทย์ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
ในเด็กที่อุจจาระสีซีดมาก บางคนซีดจนเหมือนกระดาษหรือแป้ง ร่วมกับอาการตัวเหลือง ปัสสาวะเข้ม ถือเป็นภาวะเร่งด่วนเพราะเป็นอาการของทางเดินท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) เป็นภาวะที่ต้องรีบวินิจฉัยและผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำดี
ที่มา www.verywell.com, haamor.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกหายใจครืดคราด เสียงดังเวลานอน ทำยังอย่างไรดี
สีอุจจาระของลูก ลูกถ่ายเป็นสีเขียว ขี้เขียว สีไหนปกติ สีไหนอันตรายกันนะ
ทารกไม่ยอมนอน ตื่นบ่อยตอนกลางคืน มีวิธีแก้ลูกร้องกวนอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!