พัฒนาการเด็ก 14 เดือน คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมว่าลูกรัก จะมีพัฒนาการอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง แล้วอยากรู้ไหมว่า ต้องเสริมพัฒนาการลูกอย่างไร ตามไปดูกันเลย
พัฒนาการเด็ก 14 เดือน ทางร่างกายและการเคลื่อนไหว
- เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนที่14 เด็กบางคนก็เริ่มที่จะเดินเตาะแตะได้บ้างแล้ว ในขณะที่เด็กอีกหลาย ๆ คนก็เริ่มที่จะลุกขึ้นยืนเองได้ด้วย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือลูกยังทรงตัวได้ไม่ดีนัก ทำให้อาจจะหกล้มได้เสมอ
- เมื่อได้ยินเสียงเพลง แม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะยังจับจังหวะไม่ถูก แต่เขาก็จะเต้นได้อย่างสนุกสนาน และบางครั้งเจ้าตัวน้อยก็อาจจะชอบยืนหมุนตัว จนคุณพ่อคุณแม่เองยังเวียนหัวแทนเลย
- ในขณะที่คุณแม่จับเจ้าตัวน้อยมานั่งตัก แล้วอ่านหนังสือให้เขาฟัง เจ้าตัวน้อยก็มักจะเอามือเปิดหนังสือหน้าต่อไปอย่างใจร้อน แต่ด้วยความที่เขายังไม่สามารถควบคุมการใช้แรงได้ จึงทำให้หนังสือที่คุณแม่เอามาอ่านให้ลูกฟังนั้นขาดวิ่นอยู่บ่อย ๆ
- สิ่งที่เด็กในวัยนี้ชอบที่สุดเห็นทีจะเป็นการทำบ้านรก ไม่ว่าจะเป็นการขว้างปาของเล่น หรือแม้แต่ในเวลาทานอาหารเขาก็สามารถทำให้พื้นที่รอบ ๆ เลอะเทอะได้ตลอด
พัฒนาการทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้ ของลูกอายุ 14เดือน
- เด็กในวัยนี้เป็นวัยช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น เป็นนักสำรวจที่พร้อมจะเปิดโลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ชอบทดสอบสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น ลองกดของเล่นที่มีเสียง กดแล้วมีไฟ เปิด-ปิดลิ้นชัก แม้แต่กระทั่งการดึงทิชชู่จนหมดม้วนด้วยความอยากรู้
- ยังมีการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่อยู่ เช่น ทำท่าไหว้ ทำท่ากวาดบ้านเลียนแบบคุณแม่
- เด็กเริ่มที่จะทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองได้แล้ว เช่น เริ่มตักอาหารกินเองได้ แม้อาจจะเลอะเทอะไปบ้าง แต่คุณแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ทำ หรือเริ่มหัดใส่เสื้อผ้า ซึ่งคุณแม่อาจะหาเสื้อที่สวมใส่ง่าย ให้ลูกได้หัดใส่เองเพิ่มเสริมพัฒนาการของลูก
พัฒนาการทางอารมณ์ และสังคม ของเด็กวัย 14เดือน
- เด็กในวัยนี้ยังมีอาการติดแม่อยู่ อย่าลืมว่าเวลานั้นผ่านไปเร็วเสมอ เผลอแปบเดียวลูกก็โตแล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงควรจะใช้ช่วงเวลานี้อยู่กับลูก เล่นกับลูกให้มาก ๆ
- ลูกน้อยมักจะใช้เวลาเล่นของเล่นคนเดียวอยู่พักใหญ่ ๆ ซึ่งหลายครั้งก็มักจะเล่นจนเกินเวลา ไม่ยอมนอนหรือทานอาหาร ซึ่งด้วยความที่เด็กในวัยนี้เริ่มจะมีอาการต่อต้าน ดังนั้น วิธีที่จะรับมือกับอาการดื้อรั้นของลูกในวัยนี้ก็คือ มีตารางเวลาที่ชัดเจนว่าแต่ละวันลูกต้องทำอะไร เวลาไหน เพื่อเป็นการสร้างวินัยให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก โดยคุณแม่อาจจะให้เวลาลูกได้เตรียมใจสัก 3-5 นาที และควรเลี่ยงคำถามที่จะได้คำตอบกลับมาว่า “ไม่” อย่างเช่น ควรบอกกับลูกว่า “ได้เวลานอนแล้ว” แทนคำว่า “ง่วงหรือยัง” เป็นต้น
พัฒนาการด้านภาษา และการสื่อสาร ของเด็กวัย 14เดือน
- ลูกเริ่มที่จะตอบสนองกับคำพูดของคุณบางประโยคได้แล้ว อย่างเช่น หากคุณแม่พูดว่า “ส่งลูกบอลมาให้คุณแม่หน่อย” ในขณะที่ลูกกำลังถือลูกบอลอยู่ เมื่อลูกได้ยินลูกก็จะส่งบอลมาที่คุณแม่ โดยการสื่อสารกับลูกในช่วงนี้คุณควรใช้ท่าทางประกอบการสื่อสารเพื่อให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นทำมือขอลูกบอล เป็นต้น
- ช่วงนี้ พัฒนาด้านภาษาของเด็กนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เริ่มที่จะพูดตามคำที่สอนได้ แต่อาจยังไม่เข้าใจความหมายนัก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำ เขาก็จะเข้าใจได้เร็วและเริ่มที่จะออกเสียงตามได้
เคล็ดลับเลี้ยงลูกในวัย 14เดือน
- ด้วยความที่เด็กในวัยนี้เป็นวัยช่างสำรวจ ซุกซนไปทั่ว ชอบมุดโต๊ะ มุดเก้าอี้ ซึ่งอาจจะทำให้หัวลูกไปโขกกับโต๊ะหรือเก้าอี้ หรืออาจจะล้มใส่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยระวังเรื่องความปลอดภัยของลูกเป็นพิเศษ ไม่ควรให้ลูกอยู่คลาดสายตา และควรหายางกันกระแทกมาติดตามขอบโต๊ะหรือเก้าอี้ที่อาจจะเป็นอันตรายกับลูกได้
- อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคน ต่างก็มีลักษณะพัฒนาการที่อาจจะแตกต่างกันไปได้ เด็กบางคนอาจเดินได้เร็วกว่าพูด บางคนอาจจะพูดได้เร็วกว่าเดิน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ก็คือ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก คอยอยู่ใกล้ชิดลูก เพื่อเสริมสร้างทั้งความสัมพันธ์และพัฒนาการที่ดีต่อไป
ของเล่นสำหรับเด็ก 1 – 2 ขวบ
บทความ : รีวิว ของเล่น ส่งเสริมพัฒนาการ 1-2 ขวบ มีแบบไหนบ้าง
- ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อและการประสานสัมพันธ์ ได้แก่ ของเล่นประเภทดันหรือลากจูง(Push Toys & Pull Toys) ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อแขนขาในการทรงตัวและฝึกการบังคับทิศทางการเดินของเล่นประเภททุบตอกหรือตี เช่นระนาดหรือกลองที่มีเสียงต่างๆซึ่งนอกจากทำให้เด็กเรียนรู้ความแตกต่างของเสียงแล้วยังฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือนิ้วมือและการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตาและมือ
- ของเล่นเสริมความคิดและสติปัญญาได้แก่ บล็อกใส่หลักรูปทรงเรขาคณิต โดนัทใส่หลักเรียนรู้เรื่องสี เพื่อฝึกการสังเกตและเรียนรู้สีรูปทรงเลขาคณิตต่างๆ หนังสือภาพเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและช่วยให้เด็กเรียนรู้
- ของเล่นฝึกภาษา ได้แก่ บัตรภาพ flash card,โมเดลสัตว์ ผักผลไม้, หนังสือนิทาน, Tom cat
- ของเล่นที่มีเชือกลากจูง ฝึกการทรงตัวเดิน เช่น ระนาดรถสุนัข
- ของเล่นบล็อคเรียงซ้อน เช่น บล็อคผ้าลูกเต๋านุ่มนิ่ม, ถ้วยเรียงซ้อน
- อุปกรณ์ขีดเขียน เช่น กระดานน้ำ, การะดานเขียนลบ, สีเทียนเด็กเล็ก
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง : www.thebump.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 13 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
ลูกเป็นแผลในปาก ร้อนใน แม่จะรู้ได้ไงว่าลูกเป็นแค่ร้อนใน หรือป่วยร้ายแรงกว่านั้น
ลูกเป็นหวัด ทำอย่างไรให้หายป่วยเร็ว แม่สงสารจับใจ ตัวเล็กแค่นี้ป่วยบ่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะหาย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!