น้องตินแอดมิดที่โรงพยาบาลเพราะป่วยเป็น โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
น้องติน ลูกชายวัย 5 เดือน ป่วยเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาการเริ่มแรกน้องมีไข้ต่ำ 37.3 องศาเซลเซียสและตัวร้อน คุณแม่เลยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้
พอตกกลางดึกน้องร้องไห้งอแงหลายรอบ ไม่ยอมนอน ตื่นมาตาแป๋ว สลับกับร้องงอแงเหมือนเจ็บอะไรบางอย่าง เลยลองถอดแพมเพิสดู ก็พบว่าปัสสาวะของน้องมีกลิ่นฉุน สีขุ่นเข้ม ก็เลยเปิดเน็ตดูว่าเป็นอะไรได้บ้าง ก็เข้าข่ายปัสสาวะอักเสบ พอเช้าวันจันทร์น้องตินไม่มีไข้ ลักษณะปัสสาวะของลูกเป็นปกติ ไม่มีกลิ่น น้องร่าเริงปกติดี แต่น้องนอนเยอะ วันนั้นนอนทั้งวัน ซึ่งคงเพลียจากเมื่อคืน ตกเย็นน้องตินกลับมามีไข้อีกครั้ง อุณหภูมิของน้องวัดได้ 37.9 เลยตัดสินใจพาไปหาหมอ พร้อมจัดกระเป๋าเผื่อต้องนอนโรงพยาบาล
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล น้องไข้ขึ้นเป็น 38.5 องศาเซลเซียสระหว่างช่วงรอหมอตรวจ ซึ่งเด็กป่วยเยอะมาก พยาบาลพาไปเช็ดตัว กินยาลดไข้ เพื่อให้ร่างกายเย็นลง กว่าจะได้ตรวจก็สามทุ่มกว่า คุณหมอให้ตรวจฉี่กับเลือด ปรากฏว่า พบเม็ดเลือดขาวถึง 30-50 ตัวในปัสสาวะของน้องติน เด็กปกติจะมีเม็ดเลือดขาวแค่ 5 ตัวในปัสสาวะ น้องตินเลยต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อเช็คระบบทางเดินปัสสาวะครั้งใหญ่ และเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป คุณหมออธิบายอย่างละเอียด ดังนี้ค่ะ
- พบว่าปลายจู๋ตีบ ต้องค่อย ๆ เปิดปลายจู๋ เพราะอาจจะฉี่ไม่สุด มีฉี่ค้าง มันเลยไหลย้อนกลับทำให้อักเสบได้ น้องเจ็บนิดหน่อย แต่ได้ยาทา เลยไม่น่าห่วง
- ทำการอัลตร้าซาวน์ไต เพื่อดูว่าไตอักเสบแต่กำเนิด หรือมีสิ่งตกค้างทำให้เกิดการอักเสบ
- หมอให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด และเมื่อกลับบ้านต้องกินยาต่ออีก 1 อาทิตย์
- เมื่อครบโดส กลับมาฉีดสีทางเดินปัสสาวะเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง
คุณหมอแจ้งว่าต้องรักษาตามสเต็ป ค่อนข้างใช้เวลา เนื่องจากเด็กเล็กต้องหาสาเหตุที่ต้นตอ การที่ปลายจู๋ตีบ ไม่ได้หมายความว่าก่อให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ แต่เราก็ต้องหมั่นทำความสะอาดจนกว่าจะถึงเวลาที่ปลายมันเปิดเองคะ
คุณแม่ ๆ ที่มีลูกชาย หมั่นตรวจดูปลายจู๋ของน้องด้วยนะคะ เพราะน้องบางคนไม่ได้ขลิบ มันอาจมีการอุดตันได้คะ น้องตินต้องโดนเจาะเลือดน่าสงสารมาก เด็กวัยแค่ 5 เดือน มาเจ็บปวดขนาดนี้ คนเป็นแม่แทบขาดใจค่ะ สงสารลูก แต่น้องแข็งแรง ร่าเริง สดใส ดีมากคะ เพราะเป็นเด็กนมแม่ 100%
*อัพเดทอาการน้องตินติน เรื่อง โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไม่มีอาการอะไรแล้ว หายสนิทแล้วค่ะ ปัจจุบันน้องสุขภาพแข็งแรงดี ขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจ ให้คำแนะนำมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
รู้จักกับระบบทางเดินปัสสาวะ
ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วนที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตและขับปัสสาวะออกจากร่างกาย โดยปัสสาวะจะถูกผลิตในไตแล้วไหลผ่านท่อไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะจากนั้นจึงถูกขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ อวัยวะหลักๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะจึงประกอบไปด้วย
- ไต เป็นอวัยวะขนาดเท่ากำปั้นอยู่ในช่องท้องสองด้านของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว มีหน้าที่หลักคือกรองของเสียที่อยู่ในเลือด ดูดซึมกลับสารที่มีประโยชน์ รักษาสมดุลของเหลว ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมความดันโลหิต และผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นต้น ปัสสาวะที่ผลิตในไตจะไหลผ่านไปยังท่อไตผ่านทางกรวยไต
- ท่อไต เป็นกล้ามเนื้อลักษณะท่อบางๆ ต่อจากไตทั้งสองข้างเพื่อนำปัสสาวะจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะสำหรับพักปัสสาวะไว้ชั่วคราวก่อนขับออกจากร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ
- ท่อปัสสาวะ เป็นท่อต่อจากกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่นอกร่างกาย ท่อปัสสาวะของผู้ชายจะยาวกว่าผู้หญิงและไม่แยกจากอวัยวะเพศ ดังนั้นระบบทางเดินปัสสาวะจึงมักเกี่ยวพันและครอบคลุมไปถึงระบบสืบพันธุ์เพศชายด้วย
โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย
โรคของระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อย มักเป็นโรคที่เกิดกับไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะนั่นเอง อาทิ
- โรคนิ่วในไตและท่อไต เป็นการตกตะกอนของสารต่างๆ ในปัสสาวะที่สะสมจนกลายเป็นก้อนแข็งลักษณะคล้ายก้อนกรวดที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยอย่างยิ่ง นิ่วเกิดในไตและอาจหลุดลงมายังท่อไตได้ ซึ่งก้อนนิ่วนี้หากมีขนาดเล็กมากจะสามารถหลุดออกมากับปัสสาวะได้ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ แพทย์จำเป็นต้องเอานิ่วออก อาจด้วย การสลายด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ หรือการผ่าตัด สำหรับการตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น CT Scan หรือ Ultrasound
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection หรือ UTI) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ แล้วเกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ เกิดเป็นโรค เช่น
- โรคท่อปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบของเซลล์เยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะ มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะได้โดยง่ายกว่าผู้ชายซึ่งมีท่อปัสสาวะยาวกว่าและอยู่ห่างจากทวารหนัก
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อต่อเนื่องมาจากท่อปัสสาวะ
- โรคกรวยไตอักเสบ เป็นการอักเสบของส่วนต่อระหว่างไตกับท่อไตที่ต่อเนื่องมาจากกระเพาะปัสสาวะ
- โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- โรคไตเรื้อรัง เป็นสภาวะที่ไตถูกทำลายโดยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และอาจรวมถึงสภาวะอื่นๆ เช่น ไตอักเสบ โรคถุงน้ำในไต เป็นต้น ทำให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง โรคไตเรื้อรังมักรักษาไม่หาย แต่อาจชะลอความรุนแรงของโรคได้
- โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจเป็นนิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ หรือเป็นนิ่วที่เกิดขึ้นเองในกระเพาะปัสสาวะก็ได้ โดยมักเกิดจากการที่มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างอยู่จากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด ทำให้เกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว การเอานิ่วในกระเพาะปัสสาวะออกสามารถทำได้โดย การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitholapaxy) หรือการผ่าตัด
- โรคมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย
- มะเร็งไต เป็นมะเร็งที่เกิดได้ทั้งบริเวณเนื้อเยื่อไตและกรวยไต โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน และการสัมผัสกับสารเคมีบางอย่าง เช่น แร่ใยหิน แคดเมียม ยาฆ่าแมลง
- มะเร็งท่อไต เป็นชนิดของมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีอาการร่วมเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะ
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ การสัมผัสสารเคมีบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การติดเชื้อและระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง เช่น มีการติดเชื้อ หรือมีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้อย่างแม่นยำโดย การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) ส่วนการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ยังอยู่ในระยะแรก ทำได้โดยการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ และการใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็ง กรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อหรือตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องใช้วิธี การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) ร่วมกับการทำเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา
- มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคมะเร็งที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักเกิดกับผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไปและอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านเชื้อชาติ พันธุกรรม รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารจำพวกเนื้อแดง โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกในการรักษาได้แก่ การผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy) หรือการผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยผ่าตัด ( robotic–assisted da Vinci surgery) รังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด
- โรคต่อมลูกหมากโต เป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และไปกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะติดขัด รวมถึงทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้นจนกักเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงต้องปัสสาวะบ่อย และอาจถูกกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะกะทันหันได้ โรคต่อมลูกหมากโตสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์พีวีพี หรือการผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีส่องกล้อง
- การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นภาวะที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้สมบูรณ์ในขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจเกิดจากปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ สภาวะที่มีผลกระทบต่อสมองและการลดลงของแรงขับทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน เป็นต้น
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโอเอบี (OAB) เป็นโรคที่พบมากในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลันไม่สามารถรอได้ และปัสสาวะเล็ดราด ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทบริเวณกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะส่งผลให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่าปกติ
อาการของโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่มักมีอาการเบื้องต้นร่วมกันที่สามารถสังเกตได้ คือ
- ปวดหลังหรือปวดบริเวณข้างลำตัว
- ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่สุด น้ำปัสสาวะน้อยผิดปกติ
- ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีน้ำตาล สีชมพู หรือสีขาวขุ่น
- ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ
ดังนั้น หากคุณมีอาการดังกล่าว ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะอาจเป็นอาการที่นำไปสู่โรคทางเดินปัสสาวะที่รุนแรงกว่าที่คิด การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคจึงเป็นวิธีที่ดีสุด เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้องตรงกับโรคและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ที่มา:bumrungrad.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการที่พบบ่อยในทารก
คีมทำคลอดทำทารกเสียชีวิต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!