ชานมไข่มุก หรือ ชานม นับเป็นเครื่องดื่มที่คุณแม่หลายท่านชอบกิน บางคนถึงขั้นเสพติดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นได้ แต่เมื่อมีเจ้าตัวน้อยแล้ว แม้รู้ทั้งรู้ว่าควรลด ละ เลิก แต่ก็ทำใจหักดิบได้ลำบาก แล้วที่สำคัญก็คงจะเกิดความสงสัยกันใช่ไหมละคะ ว่า คนท้องกินชานมได้ไหม คนท้องกินชานมไข่มุกได้ไหม กินชานมไข่มุกได้วันละกี่แก้ว อันตรายแค่ไหนหากคนท้องกินชานมไข่มุก
ซึ่งวันนี้ theAsianparent จึงขอรวบรวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับการกินชานมไข่มุกระหว่างตั้งครรภ์มาฝาก เพื่อเป็นแนวทางให้คุณแม่พิจารณาดูค่ะ ดังนั้นไปดูกันเลยดีกว่าว่ากินได้ไหม และจะมีผลเสียอะไรต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
ก่อนหน้านี้ เพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ ได้โพสต์ถึงเรื่องคนท้องกินกาแฟได้ไหม? พร้อมอธิบายถึงคาเฟอีนไว้ว่า คาเฟอีน สามารถผ่านรกไปยังลูกได้ และแม้คาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟ ชา โกโก้หรือช็อกโกแลต จะไม่ได้มีผลต่อการเกิดความพิการในลูก แต่ก็มีการทดลองในสัตว์พบว่า หากได้รับคาเฟอีนปริมาณมาก ๆ จะไปเสริมผลของการได้รับรังสีและสารเคมีบางชนิดต่อการกลายพันธุ์ ลดการไหลเวียนของเลือดที่มดลูก
โดยได้มีการระบุไว้ว่า “การได้รับคาเฟอีนมาก ๆ อาจส่งผลต่อการเกิดทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย”
ไขข้อสงสัย คนท้องกินชานมได้ไหม ?
ชานมไข่มุก เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณที่ค่อนข้างมาก เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของใครหลายคน ด้วยความอร่อยของชา บวกกับความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมกับไข่มุกหนึบ ๆ ทำให้แม้แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ยังยากที่จะอดใจไหว โดยมีคำตอบแล้วว่าคนท้อง สามารถกินชานม หรือชานมไข่มุกได้ปกติ เพียงแต่ต้องทานในปริมาณที่จำกัด เพราะหากกินมากเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียตามมาได้ แต่ถ้าให้ดีควรงดไปก่อนดีกว่า หลังคลอดแล้วค่อยกลับมากินอีกนั่นเอง
คาเฟอีนที่คนท้องสามารถกินได้ต่อวัน ไม่ใจสั่น ไม่ส่งผลกับลูก
ปริมาณของคาเฟอีนที่คนท้องควรบริโภคต่อวัน โดยองค์การด้านสูตินรีเวชแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Congress of Obste Trics and Gynecology, ACOG) แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเอาไว้ แต่หากจำเป็นต้องดื่มจริง ๆ ไม่ควรเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือราว ๆ 1 แก้ว
สำหรับชานมไข่มุกนั้นก็เป็นเมนูชาชนิดหนึ่ง การบริโภคชานมไข่มุกร่วมกับโกโก้ ช็อกโกแลต หรือกาแฟ ก็เท่ากับว่าไปเพิ่มปริมาณคาเฟอีน
สำหรับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งคนท้องควรระวัง และดื่มไม่เกินวันละ 1 แก้ว ได้แก่
- กาแฟร้อนหรือกาแฟเย็น ไม่ว่าจะเป็นกาแฟโบราณ โอเลี้ยง เอสเปรสโซ่ มอคค่า ลาเต้ คาปูชิโน่ กาแฟกระป๋อง และอื่น ๆ
- โกโก้ร้อนหรือโกโก้เย็น จัดอยู่ในจำพวกเดียวกับ ช็อกโกแลตร้อนหรือช็อกโกแลตเย็น
- ชาร้อนหรือชาเย็น ชามะนาว ชาดำเย็น ชานมเย็น หรือชาขวดตามร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนี้ พวกน้ำอัดลมก็มีคาเฟอีน ต้องระวังอย่าดื่มเยอะ เพราะมีทั้งคาเฟอีนและน้ำตาลปริมาณสูง ที่สำคัญคือ เครื่องดื่มชูกำลังขอแนะนำว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง หรือเลิกดื่มไปก่อนเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผัก ผลไม้วิตามินซีสูง ดีต่อสุขภาพคนท้องอย่างไร? ป้องกันหวัดลูกได้จริงหรือไม่
คนท้องกินชานมไข่มุก อันตรายอย่างไร
สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนท้อง ไม่ใช่แค่ว่าท้องกินชานมไข่มุกแล้วใจสั่นเท่านั้น แต่ถ้าคนท้องกินชานมไข่มุกมาก ๆ ยังเสี่ยงต่อโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เพราะชานมไข่มุกมีปริมาณแคลอรีที่สูง ชานมไข่มุก 1 แก้ว มีแคลอรีมากถึง 350 กิโลแคลอรี
- 350 กิโลแคลอรีจากไข่มุก 30 กรัมจะเท่ากับ 100 กิโลแคลอรี ใครสั่งเพิ่มไข่มุกก็ยิ่งหนัก
- 350 กิโลแคลอรีเทียบเท่ากับปริมาณข้าวประมาณ 4 ทัพพี ส่วนใหญ่แคลอรีมาจากน้ำตาล
- เท่ากับว่ากินก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟได้ 1 ชาม
คนท้องกินชานมไข่มุกได้ไหม เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
นอกจากนี้ ชานมไข่มุกบางร้านยังใส่ครีมเทียม ส่วนน้ำตาลก็จัดหนักไม่แพ้กัน บางร้านใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมมากถึง 8-11 ช้อนชา การดื่มชานมไข่มุกแต่ละแก้ว จึงเจอทั้งน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต สำหรับโรคร้ายที่มากับการบริโภคชานมไข่มุกที่เกินพอดี ได้แก่
- โรคอ้วน
- โรคไขมันเกาะตับ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคเบาหวาน
- โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
คนท้องควรกินชานมไข่มุกในปริมาณการบริโภคชานมไข่มุกที่เหมาะสมคือ 1 แก้วต่อสัปดาห์ แต่ก็รู้ว่ามันยาก ดังนั้น หากคนท้องต้องการกินชานมไข่มุกควรกินชานมไข่มุกแต่พอดี และลดของหวานในวันนั้น หรือเสริมด้วยผัก ผลไม้สด ๆ โดยเฉพาะคนท้องที่กินชานมไข่มุก ไม่ควรกินบ่อย ๆ เพราะใจจะสั่น แถมยังอ้วนต้องมาลดน้ำหนักหลังคลอด หรือลูกตัวใหญ่เกินไปคลอดยากอีก
รู้กันไปแล้วว่า คนท้องกินชานมไข่มุกได้ไหม คำตอบคือ คนท้องกินชานมไข่มุกได้ค่ะ แต่คนท้องกินชานมไข่มุกก็ต้องบริโภคในปริมาณที่พอดี ระวังเรื่องน้ำหนัก หากบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาทิ ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม แล้วเกิดใจสั่นให้หยุดบริโภคนะคะ เพื่อความปลอดภัยของแม่ท้องและทารกในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคในทารกแรกเกิด โรคที่พบบ่อย ทารก 0-1 ปี ปัญหาทารกแรกเกิดที่พบบ่อย การแก้ไขเบื้องต้น
คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องรู้!
เบาหวานอันตรายต่อลูกในท้อง หนูเล็กเตือนแม่ท้อง! คนผอมก็เป็นได้
ที่มา : เรื่องเล่าจากโรงหมอ