กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก วัย 6-18 เดือน
มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้แนะนำ กิจกรรมกิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก วัย 6-18 เดือน สำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อพัฒนา EF (Executive Function) ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในเรื่องของการเรียน และการทำงาน โดยอาศัยสมองในการควบคุมความคิด การตัดสินใจ ความรู้สึก และการสั่งการให้ลงมือทำค่ะ
องค์ประกอบของ EF มีอะไรบ้าง
- ความจำใช้งาน (Working Memory): เด็กจะเชื่อมโยงความเข้าใจได้เร็ว อ่านเร็ว เขียนเร็ว
- การรู้จักยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control): เด็กจะรู้จักยับยั้งชั่งใจกับสิ่งเร้าต่างๆ
- การยืดหยุ่นในการคิด (Shift / Cognitive Flexibility): เด็กจะสามารถเปลี่ยนกรอบ และพลิกแพลงความคิดได้
- การมีสมาธิจดจ่อ (Focus / Attention): เด็กจะสามารถมีสมาธิกับการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control): เด็กจะสามารถควบคุมอารมณ์โกรธ ผิดหวัง เสียใจ ต่างๆ ได้ดี
- การวางแผนและจัดการ (Planning & Organizing): เด็กจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของงานได้ รู้จักวางแผน เตรียมการล่วงหน้าต่างๆ
- การรู้จักประเมินตนเอง (Self-Monitoring): เด็กจะสามารถฉุกคิด ประเมิน และปรับปรุงตนเองได้
- การรู้จักริเริ่ม (Initiating): เด็กจะมีลูกฮึด สามารถกระตุ้นตนเองให้ทำหน้าที่ แม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่อยากทำก็ตาม ไม่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
- การพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence): เด็กจะมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย และมุ่งมั่นต่อเป้าหมายนั้นโดยไม่วอกแวก พร้อมกับเห็นคุณค่าของความพยายาม ไม่ย่อท้อ ล้มเหลวไม่ล้มเลิก พร้อมที่จะแก้ไข คิดใหม่ และพยายามใหม่ โดยมีเป้าหมายที่แน่วแน่
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก
พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างไร เพื่อพัฒนา EF
1. เล่นจ๊ะเอ๋
เป็นเกมที่ฝึกให้เด็กเริ่มต้นที่จะสังเกตว่าคนที่แอบอยู่นั้นเป็นใคร เป็นกิจกรรมที่พัฒนาความจำในการใช้งานได้ดี และที่สำคัญยังฝึกให้เด็กรู้จักที่จะรอคอยให้ผู้ใหญ่เปิดหน้าเฉลย
2. ร้องเพลงที่มีเนื้อเพลงสั้นๆ ซ้ำไปซ้ำมา
เช่น เพลงช้าง เพลงแมงมุม และเพลงเด็กไทยอื่นๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเน้นเสียงหรือออกท่าทางเพิ่ม(เล่นใหญ่) ลูกจะได้สนุกมากขึ้นค่ะ เพราะการร้องเพลงซ้ำไปซ้ำมาจะช่วยในการพัฒนาความจำในการใช้งานได้ดี
3. เล่นซ่อนหา
- เล่นซ่อนของ โดยพ่อแม่อาจหาของไปซ่อนไว้ใต้ผ้าห่ม แล้วให้ลูกน้อยหาว่าของเล่นอยู่ที่ไหน หรือจะเอาของไปซ่อนที่อื่นก็ได้
- เล่นซ่อนแอบ โดยสลับกันซ่อน สลับกันหา เกมนี้จะช่วยพัฒนาความคิดของเด็กได้ดีมากๆ แถมยังช่วยให้หนูน้อยฝึกการพลิกแพลงอีกด้วยค่ะ เพราะเด็กจะเด็กจะค่อยๆ หาร่องรอย แกะรอยจนเจอคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
- เอาวัตถุไปซ่อนไว้ในแก้ว วิธีการคือคุณหาแก้วมาสัก 3-4 ใบที่เหมือนๆ กัน แล้วก็สลับแก้วน้ำไปมา แล้วถามลูกวางวัตถุอยู่ในแก้วใบไหน
4. ทำท่าทางให้ลูกเลียนแบบ
การสอนให้เด็กทำท่าตามผู้ใหญ่เวลาได้ยินเพลงต่างๆ จะช่วยให้ลูกน้อยเชื่อมโยงความทรงจำได้ดี หากลูกน้อยเต้นได้ดีอาจจะเลือกเพลงที่มีท่าที่ซับซ้อนมากขึ้นก็ได้นะคะ เพราะจะทำให้เด็กๆ สนุกกับการจดจำ และเลียนแบบ
5. พาเล่นบทบาทสมมติ
การเล่นบทบาทสมมติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว เป็นคุณหมอหรือเป็นวิศวกรนั้น จะช่วยพัฒนาทักษะภาษาของเด็ก เพราะระหว่างที่เล่ลูกน้อยจะต้องมีสมาธิใจจดใจจ่อฟัง และเรียนรู้ในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูด และสาธิต และพยายามที่จะจดจำ และเลียนแบบค่ะ แนะนำว่า พ่อแม่ควรสลับบทบาทกับลูก เช่น หารเล่นขายของ จากที่ลูกเป็นคนซื้อ ก็เปลี่ยนมาเป็นคนขายบ้าง เด็กจะต้องฝึกรู้จักการรอคอยตาของตัวเอง
6. ร้องเพลง
การร้องเพลง พร้อมกับขยับมือ และนิ้วมือต่างๆ เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการประสานมือตา ตลอดจนเริ่มพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ รวมทั้งการจดจำท่าทาง และลำดับของท่าทางต่างๆ ด้วยค่ะ แถมยังช่วยพัฒนาทักษะภาษาได้อีกด้วย
7. พูดกับลูก
- สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะหยิบจับเอาสิ่งของรอบตัวเด็กๆ ที่เด็กเห็นอยู่ทุกวัน และเรียกชื่อสิ่งของเหล่านั้นให้เด็กฟังครับ ซึ่งกิจกรรมนี้มีเป้าประสงค์คือ การฝึกให้เด็กมีสมาธิจดจ่อ กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังบอกให้เขาฟัง
- สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย สัก 12-18 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้การชี้ไปที่สิ่งของต่างๆ และเรียกชื่อสิ่งของเหล่านั้นให้เด็กฟัง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กพัฒนาสมาธิจดจ่อแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะภาษา และความจำใช้งานอีกด้วย
- สอนลูกพูด 2 ภาษา นอกจากภาษาแม่พ่อแม่ควรสอนลูกเป็นภาษาอื่นด้วย เนื่องขากมีงานวิจัยยืนยันว่า เด็กที่มีความเข้าใจ 2 ภาษา จะมี EF ที่สูงกว่า เด็กที่มีความเข้าใจเพียงแค่ภาษาแม่เพียงภาษาเดียวนะ
ที่มา: Education Facet
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
วิธีเลือกของเล่นให้ลูกแต่ละช่วงวัย ซื้อแบบไหนช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยมากที่สุด
เกมคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กเล็ก พร้อมวิธีการเล่นอย่างง่าย ใครๆ ก็สอนลูกได้!
ควรให้ลูกควรเข้าโรงเรียนตอนกี่ขวบ ให้ลูกเข้าเรียนเตรียมอนุบาลเลยดีไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!