ความเชื่อหลังคลอดเกี่ยวกับ การอยู่เดือน อยู่ไฟ ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงยุคปัจจุบัน ญาติผู้ใหญ่แนะนำให้ทำว่าดี คุณแม่มือใหม่ก็ไม่ขัดใจ แต่สงสัยกันไหมค่ะ บ้างก็ว่าให้ “อยู่เดือน” บ้างก็ว่าให้ “อยู่ไฟ” วิธีการสองอย่างนี้จริง ๆ คืออย่างเดียวกันหรือแตกต่างกันนะ
ไขข้อข้องใจ การอยู่เดือน อยู่ไฟ หลังคลอด เป็นเรื่องเดียวกันหรือต่างกัน?
“การอยู่เดือน” คือ ความเชื่อในการปฏิบัติตัวหลังคลอดตามแบบตามธรรมเนียมของคนจีน ซึ่งจะให้แม่หลังคลอดนั้นเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันแรกที่กลับบ้าน คือ อยู่แต่ในบ้าน ไม่ทำงานหนักเป็นเวลาหนึ่งเดือน ให้รับประทานอาหารดี ๆ ไม่กินของแสลง เช่น น้ำปลา ของไม่สุก ไม่สะอาด ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวหลังคลอด และเมื่อแก่ตัวไปจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ซึ่งถือเป็นกุศโลบายของคนในสมัยก่อนที่จะช่วยให้แม่ลูกอ่อนได้มีเวลาดูแลลูกเต็มที่แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องทำงานหนักหลังคลอด และใช้เวลาเดือนหนึ่งได้ปรับตัวเพื่อทำหน้าที่แม่อย่างสมบูรณ์ด้วย
เวลาอยู่เดือนต้องทำอย่างไร?
หลังคลอดที่แม่ต้องอยู่เดือน แต่ละบ้านอาจมีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยแต่หลัก ๆ ที่มีข้อห้ามเหมือนกัน คือ
– ห้ามอาบน้ำเย็น
– ห้ามออกนอกบ้าน
– ห้ามโดนแดด ห้ามโดนลม ห้ามโดฝน
– ห้ามทานของเย็น น้ำเย็น ผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น
– นอนพักเยอะๆ
– ห้ามตัดเล็บ ตัดผม และสระผม
– ห้ามใช้สายตานาน
ข้อห้ามเหล่านี้ เป็นความเชื่อว่าจะส่งผลตอนอายุเยอะ ถ้าไม่ทำตั้งแต่แรกจะมีผลให้ร่างกายทั้งปวดเมื่อย ปวดหัว เกิดอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวเมื่อแก่ตัวไป
การอยู่ไฟต่างกับอยู่เดือนมั้ย อ่านหน้าถัดไปนะคะ >>
“การอยู่ไฟ” เป็นวิถีปฏิบัติตัวหลังคลอดที่มีมาช้านาน ญาติผู้ใหญ่สมัยก่อนได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาสอนให้ลูกสาวที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนได้ทำการอยู่ไฟ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ให้มดลูกกลับเข้าอู่เร็ว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย เป็นการพักพื้นเพื่อสะสมกำลังให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีน้ำนมมามาก ถือเป็นการบำบัดโรคหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีสุขภาพดี รวมทั้งการอยู่ไฟในสมัยก่อนนั้นยังกำหนดให้สามีได้มีส่วนร่วมคอยดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือให้ภรรยาได้อยู่ไฟ เพื่อให้คลายความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวดที่ผ่านมา และความวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก โดยเชื่อว่าหากไม่ได้รับการอยู่ไฟจะมีผลกระทบต่าง ๆ ในร่างกายอาจเกิดทันที หรือปรากฏอาการให้เห็นเมื่ออายุมากขึ้น
วิธีการอยู่ไฟ เช่น
- การนวดประคบ
- เข้ากระโจมและอบสมุนไพร
- นาบหม้อเกลือ
- การประคบ-นั่งอิฐ
- ร่วมกับการนวดคล้ายเส้นตามกล้ามเนื้อตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นใบหน้า ศีรษะ ต้นขา ต้นแขน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว กระตุ้นต่อมน้ำเหลืองและเลือดลม และการดื่มน้ำสมุนไพร
ภาพประกอบจาก :
การอยู่ไฟนี้ เมื่อก่อนที่ยังไม่มีการผ่าตัดคลอด สามารถอยู่ไฟได้เลยนับตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลหรือภายใน 3-7 วันขึ้นไป ซึ่งการอยู่เดือนกับอยู่ไฟสามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้ แต่ในปัจจุบันสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดมาจำเป็นต้องรอและให้แผลแห้งสนิทก่อนประมาณ 30-45 วันจึงทำการอยู่ไฟได้
การอยู่เดือน อยู่ไฟ จึงเป็นวิธีปฎิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณที่คล้าย ๆ กัน โดยมีจุดประสงค์ที่ไม่ต่างกันคือเพื่อให้ร่างกายคุณแม่หลังคลอดกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด คุณแม่ที่ได้อยู่เดือนตั้งแต่หลังคลอดและอยู่ไฟต่อจากนั้น ร่างกายอาจจะฟื้นฟูได้ดีและเร็วกว่าคุณแม่ที่อยู่ไฟเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามทั้งสองวิธีนี้ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และแม่ยุคใหม่ก็ยังคงใช้วิธีนี้ดูแลร่างกายตัวเองเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้กลับคืนสภาพปกติได้เร็วที่สุด.
อ้างอิงข้อมูล :
www.yesspathailand.com
medthai.com
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
10 ข้อห้ามของการอยู่ไฟ
วิถีความเชื่อ“อยู่ไฟหลังคลอด”ช่วยฟื้นร่างกายได้จริงหรือ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!