อาการคนท้องเดือนที่ 6 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 25 – 28 มีอาการอะไรบ้าง ท้องคุณแม่จะใหญ่ขนาดไหน พัฒนาการของลูกในท้องเป็นอย่างไร มาติดตามกันได้เลยค่ะ
ร่างกายของคุณแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- น้ำหนัก จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกหิวมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 แคลอรีต่อวัน
- ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของครรภ์ ซึ่งปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นเป็นพลาสมาที่จะไปเจือจางเลือด อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดภาวะโลหิตจางขึ้นได้
- มดลูกหดรัดตัวเป็นก้อนแข็งนูนขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ
- ตะคริว ในคุณแม่ท้องบางรายก็ยังพบว่ามีอาการตะคริวเกิดขึ้นอยู่บ้าง แนะนำว่าเมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นบริเวณน่อง ต้นขา และปลายเท้า ให้คุณแม่กระดกปลายเท้าขึ้น จะทำให้กล้ามเนื้อที่จับตัวเป็นก้อนนั้นตึงและค่อยๆ คลายตัวออก ทำให้อาการเป็นตะคริวดีขึ้น
- ปวดชายโครง ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้ขยายไปจนเกือบเข้าใกล้ชายโครง บวกกับการดิ้นของทารก อาจทำให้คุณแม่ท้องมีอาการเสียดชายโครงขึ้นมาได้
การตั้งครรภ์เดือนที่ 6 พัฒนาการทารกในครรภ์ และอาหารที่เหมาะสมกับแม่ท้อง อ่านหน้าต่อไปคลิก
พัฒนาการทารกในครรภ์ช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 6
- ร่างกายของทารกมีการพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นมาจำนวนมาก และเริ่มผลิตเม็ดเลือดขาว ลิ้นเริ่มมีประสาทรับรู้รสชาติ
- ระบบการย่อยอาหารพัฒนาจนสามารถดูดซึมน้ำ และน้ำตาลจากน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไป
- ผิวหนังมีการพัฒนาให้หนาทึบขึ้น และมีลักษณะเหี่ยวย่น
- แขน ขามีการพัฒนาให้มีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์มากขึ้น
- สะอึก ในระหว่างที่ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำ บางครั้งจะมีอาการสะอึก ทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนลูกกระตุกอยู่ในท้อง
- ลำตัวของทารกพัฒนาขึ้นจนมีขนาดใหญ่กว่าศีรษะ
- ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัม และความยาวจากศีรษะถึงก้นประมาณ 30 เซนติเมตร
- อวัยวะเพศจะพัฒนาขึ้นมาจนสมบูรณ์ ในเพศหญิงจะมีการสร้างรังไข่ขึ้นมา และเพศชายจะพัฒนาลูกอัณฑะขึ้นมาจนชัดเจน และมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายนั่นคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
- เซลล์สมองที่ทำหน้าที่ในการรับรู้พัฒนาขึ้นจนเริ่มทำงานได้ ส่งผลให้ทารกสามารถจดจำ และเรียนรู้ได้บ้างแล้ว
- ปอดของทารกมีการพัฒนามากขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์
- กระดูกทารกมีความแข็งแรงมากขึ้น
- ฝ่ามือฝ่าเท้าของทารกเริ่มพัฒนาให้มีลายมือลายเท้าชัดมากขึ้น
- การได้ยิน ประสาทการรับรู้เรื่องเสียงของทารกมีการพัฒนามากขึ้น ทำให้ทารกรู้ไวต่อเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากการพูดคุยของคุณพ่อแม่ที่คุยกับทารก หรือเสียงเพลงที่คุณแม่เปิดให้ฟัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรกระตุ้นพัฒนาการทารกด้วยการเปิดเพลงให้ฟัง การร้องเพลงให้ฟัง หรือการอ่านหนังสือให้ทารกฟัง จะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการการเรียนรู้ การจดจำได้ดีเมื่อคลอดออกมาแล้ว
อาหารที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์เดือนที่ 6
ด้วยขนาดครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น ที่มาจากทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นตามพัฒนาการ ทำให้ทารกต้องการสารอาหารที่จำเป็นต่อการนำไปพัฒนาสร้างร่างกาย สร้างอวัยวะต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะแคลเซียมที่ทารกดูดซึมจากร่างกายของคุณแม่ ทำให้คุณแม่ท้องมีอาการตะคริวเกิดขึ้นได้ และนอกจากนี้คุณแม่ท้องอาจมีอาการท้องผูก ซึ่งเกิดจากลำไส้และระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ค่อยดีในช่วงนี้ แนะนำให้คุณแม่ท้องทานอาหารที่มีแคลเซียมมากๆ เช่น นม ผักคะน้า ผักโขม บร็อกโคลี โยเกิร์ต ชีส ปลากรอบตัวเล็กๆ ที่ทานได้ทั้งกระดูก งาดำ งาขาว ฯลฯ เพื่อป้องกันร่างกายขาดแคลเซียม ส่วนเรื่องอาการท้องผูกให้เน้นทานอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น ผักใบเขียวเข้มต่างๆ ธัญพืช ถั่ว ลูกพรุน ส้ม แอปเปิ้ล สับปะรด แก้วมังกร ผลไม้ตระกูลเบอร์รีต่างๆ เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อาการคนท้องเดือนที่ 7 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 25 – 28
100 สิ่งที่อาการคนท้องเดือนที่ 6 ที่คุณแม่ต้องรู้
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร อันตรายต่อแม่ท้องหรือไม่?
อาการท้องแข็ง เรื่องน่ากังวลขณะตั้งครรภ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!