ทำไมแม่เลี้ยงเดี่ยวมันเยอะแบบนี้?
แน่นอนว่ามีพ่อมากมายที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเองคนเดียวเช่นกัน เช่น พ่อของฉันเองก็เลี้ยงฉันโดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่ฉันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากค้นคว้าอะไรมานิด ๆ หน่อย ๆ ฉันค้นพบว่า จากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา มีเด็ก 21.8 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาที่อยู่อาศัยในครอบครัวที่มีแต่ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว และ 84% ของเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูโดยแม่เพียงคนเดียว ส่วน 16% ที่เหลือได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อ เหตุผลสำหรับปรากฏการณ์นี้คืออะไร? แม่เลี้ยงลูกได้ดีกว่าพ่ออย่างนั้นหรือ? หรือว่าพ่อทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดี? หรือว่าศาลให้สิทธิการเลี้ยงดูกับแม่มากกว่า? หรือว่าพ่อไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนี้เท่าใดนัก? หลังจากค้นคว้ามากขึ้นฉันก็ได้ค้นพบเหตุผลต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่เป็นข้อสรุปว่าทำไมแม่ถึงมีโอกาสเลี้ยงลูกเองคนเดียวมากกว่าพ่อถึงห้าเท่า
การหาข้อมูลในอินเตอร์เนท
ฉันเริ่มต้นด้วยทฤษฎีส่วนตัวของฉันเองว่า พ่อมีความผูกพันตามธรรมชาติกับลูกน้อยกว่าแม่ แม่มีความผูกพันมากกว่าเนื่องจากการตั้งครรภ์ ส่วนพ่อต้องมาสร้างความผูกพันนั้นเองอีกที ฉันลองกดค้นหาข้อมูลง่าย ๆ ในอินเตอร์เนทโดยพิมพ์ลงไปว่า ความผูกพันของพ่อกับลูก หน้าแรกของผลการค้นหาที่ได้จะมีแต่คำแนะนำ เคล็ดลับ และตัวอย่างว่าพ่อจะสามารถสร้างความผูกพันกับลูกได้อย่างไรบ้าง แต่เมื่อฉันลองเปลี่ยนคำค้นหา จากคำว่า “พ่อ” เป็นคำว่า “แม่” ดูแล้วฉันก็ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไป หน้าแรกของผลการค้นหาจะมีเรื่องความผูกพันของแม่กับลูกตามธรรมชาติด้วย ดังนั้นเมื่อวัดเอาจากผลการค้นคว้าในอินเตอร์เนทของฉันแล้ว ดูเหมือนว่าพ่อต้องสร้างความผูกพันกับลูกในขณะที่แม่มีความผูกพันกับลูกอยู่แล้วตามธรรมชาติ
การตั้งครรภ์
บทสรุปที่ชัดเจนที่สุดต่อคำถามที่ว่าทำไมผู้ชายจึงมีความผูกพันกับลูกน้อยกว่า (ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเลี้ยงดูลูกตามลำพัง) คงเป็นเพราะแม่ได้แต้มต่อจากการตั้งท้องนานเก้าเดือน ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงก็เริ่มเสียสละ ให้ความอบอุ่น และสร้างความสัมพันธ์กับลูกในท้อง สำหรับพ่อแล้ว ช่วงเก้าเดือนนี้เป็นช่วงเวลาที่พ่อใช้ไปกับการให้ความสำคัญที่แม่ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวผู้หญิงคนที่เขารัก พ่อบางคนอาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องนั้นเลยก็ได้ ดังนั้นแม่จึงมีแต้มต่อเหนือกว่าในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับลูก แหม ก็ลูกอยู่ในท้องนี่นะ จะไม่ให้ไม่มีความผูกพันได้อย่างไรกันล่ะ? แต่อย่างไรก็ตามเราไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าการตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียวเป็นตัวบ่งชี้เรื่องความสัมพันธ์ไปได้เสียหมด เพราะยังมีเรื่องการรับเด็กมาเลี้ยงที่มีบทบาทในเรื่องประสบการณ์การสร้างความสัมพันธ์อยู่เหมือนกัน
ในยุคเริ่มแรก
ในยุค “มนุษย์ถ้ำ” นั้น ผู้ชายเป็นนักล่า และผู้คุ้มครอง ส่วนผู้หญิงเป็นผู้เลี้ยงดู ทั้งสองต่างมีบทบาทสำคัญที่แตกต่างกันออกไปในชีวิตครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมีหน้าที่หาอาหาร และปกป้องครอบครัวจากสัตว์ป่า และสิ่งต่าง ๆ ผู้หญิงก็มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก และให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูก บทบาทนี้ก็ยังคงเป็นอยู่จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพราะสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป บทบาทต่าง ๆ และความจำเป็นต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงสามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ ส่วนผู้ชายก็สามารถอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ แม้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อดูจากภายนอก แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าภายในจะเปลี่ยนไปด้วย ผู้ชายมากมายต่างก็ยังคงมีสัญชาตญาณภายในที่จะหาเลี้ยงชีพ และปกป้องครอบครัว ผู้หญิงเองก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงอาจจะทำงานนอกบ้าน แต่ก็ยังมีสัญชาตญาณที่จะรัก และเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
บุ๋ม ปนัดดากับ ความประทับใจในตัวลูก
แม่มีความผูกพันกับลูกตั้งแต่ตั้งครรภ์
ความคาดหวังในปัจจุบัน
แม้ว่าบทบาทจะเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังมี “วิถีปฏิบัติ” ที่เป็นมาตรฐานสำหรับคนมากมาย สิ่งนี้เองก็เป็นจริงอย่างมากสำหรับประเทศ หรือกลุ่มที่มีธรรมเนียมดั้งเดิมมากกว่า แม้ว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะห่างไกลจากคำว่าดั้งเดิมมานานแล้ว แต่ก็ยังมีแนวคิดเก่า ๆ ที่ว่า แม่ยังเป็นผู้ทำงานส่วนมากเมื่อว่าด้วยเรื่องการดูแลเด็กทารก ผู้หญิงมักเป็นผู้ตื่นขึ้นมากลางดึก แม้กระทั่งเมื่อทั้งผู้หญิง และผู้ชายต่างทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงเป็นผู้เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำให้ลูก และอื่น ๆ อีกมากมายรวมถึงการให้นมลูก แม้ว่าคนเป็นพ่อจะไม่เชื่อในเรื่องบทบาทดั้งเดิม แต่แม่มากมายต่างรับหน้าที่เหล่านี้ไปทำ และบางทีก็แยกตัวเองกับลูกออกจากพ่อด้วยซ้ำ เหตุนี้เอง พ่อจึงรู้สึกว่าตัวเองไร้ประโยชน์ และอาจจะเลิกพยายามดูแลลูกไปเลย ท้ายที่สุดแล้วความผูกพันระหว่างแม่ลูก จึงแรงกว่าความผูกพันระหว่างพ่อลูก
คำตัดสินของศาล
แน่นอนว่าการตัดสินเรื่องสิทธิการเลี้ยงดูเด็กโดยศาลเป็นเรื่องที่ไม่อาจตัดออกจากสาเหตุเรื่องความผูกพันได้ หากสันนิษฐานว่าแม่เป็นผู้ปกครองที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อคนหนึ่งจะคาดหวังว่าจะได้รับจากศาลคือ การแบ่งสิทธิเลี้ยงดู ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมจึงมีผู้เรียกพ่อหลาย ๆ คนว่าเป็น “ผู้ปกครองสุดสัปดาห์” อย่างดีที่สุดผู้พิพากษามักจะให้พ่อได้รับสิทธิการดูแลลูกช่วงสุดสัปดาห์ หรือ ส่วนมากก็จะเป็นสุดสัปดาห์เว้นสุดสัปดาห์ ในทางกลับกัน คนเป็นแม่จะได้เวลาอยู่กับลูกอย่างน้อยที่สุดก็ครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมด นอกเสียจากว่าแม่คนนั้นจะมีเหตุไม่ปกติ เช่น ติดยา มีเหตุผิดปกติทางจิต มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้มีสิทธิในการเลี้ยงดูลูกน้อยลง หรือไม่มีเลย แต่โอกาสก็มักจะน้อยมาก ผู้พิพากษาส่วนใหญ่จะเข้าข้างคนเป็นแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ที่ต้องให้นมลูก เพราะจะไม่สามารถห่างจากลูกได้นาน ดังนั้นเราก็เกือบจะสรุปได้ว่าระบบยุติธรรมก็คิดว่าคนเป็นแม่เป็นผู้ปกครองได้ดีกว่า
แล้วทั้งหมดนี่หมายความว่าอะไร?
ก็หมายความว่า แม้ว่าบทบาทจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย แต่คนส่วนมากก็ยังคงสันนิษฐาน และคาดหวังให้แม่เลี้ยงดูลูก โดยมีพ่อช่วยเหลือบ้าง ผู้หญิง ผู้พิพากษา พ่อ และแม้แต่สังคมก็คาดหวังว่าแม่จะเป็นผู้ปกครองหลักในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ส่วนพ่อลึก ๆ แล้วก็ยังคงเป็นผู้ปกป้อง และหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ดี เมื่อครอบครัวต้องแยกทาง พ่อบางคนก็ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดโดยการส่งเสียค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดู แต่ผู้หญิงก็ยังคงเป็นผู้เลี้ยงดูต่อไป แม้ว่าเราพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทเหล่านี้ และอาจจะกำลังคืบหน้าเรื่อย ๆ พวกเราก็ยังคงอยู่กันแบบในยุคมนุษย์ถ้ำเมื่อเราว่ากันด้วยเรื่องบทบาทของแม่ และพ่อในการเลี้ยงดูลูก ในบางด้านพวกเราก็ยังคงเป็นมนุษย์ถ้ำกันอยู่ดีนั่นเอง
เหตุผลยอดฮิตที่ทำให้คู่รักหย่าร้าง
เลี้ยงลูกบุญธรรม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!