ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หน้าฝน หรือ หน้าหนาว บรรดาสัตว์ตัวเล็กอย่าง ยุง แมลง รวมถึงมด ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคอยเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ผิวบอบบางกว่าผู้ใหญ่ อาจจะมีอาการแพ้จากพิษของยุง ลูกแพ้ยุง แมลง หรือมด แต่ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เรามาดู วิธีจัดการผื่นแพ้ ว่าเราจะสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
ผื่นแพ้แมลง คืออะไร สังเกตได้อย่างไร
ผื่นภูมิแพ้แมลง คือ คนที่มีปฏิกิริยาไวเกินต่อการโดนแมลง กัดต่อย โดยมีลักษณะบวมแดงเป็นตุ่มกลม ๆ มักพบรอยจุดตรงใจกลางผื่น ซึ่งบอกถึงการที่แมลงกัด ส่วนมากจะมีอาการคันมากทำให้เด็ก ๆ คัน เกา จนทำให้แผลถลอก ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนเป็นตุ่มหนอง หรือ กลายเป็นฝีได้ โดยผื่นมักเป็นบริเวณนอกร่มผ้า เช่นแขน ขาท่อนล่าง ใบหน้า หากโดนกัดที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่บอบบางจะทำให้มีอาการบวมมากได้เช่น หนังตาบวม ใบหูบวม
แมลงบางชนิด เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มดมีพิษ เช่น มดคันไฟ หลังโดนต่อย อาจมีอาการบวมมาก ที่อวัยวะที่โดน หรือ อาจแพ้รุนแรง (anaphylaxis) หน้ามืดเป็นลม อาเจียน ลมพิษทั่วตัว หายใจไม่ออก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ลักษณะอาการที่มักเกิดขึ้นสำหรับเด็ก เมื่อ ลูกแพ้ยุง โดนแมลง ยุง หรือมดกัด
-
ผื่นแพ้แมลง
มักเกิดจากภาวะที่ผิวหนังมีการอักเสบเกิดขึ้นหลังจากโดนแมลงต่อยหรือกัดมาแล้ว ซึ่งผิวหนังได้มีการสัมผัสกับขนของตัวแมลง รวมไปถึงสารคัดหลั่งที่มีพิษของแมลงชนิดนั้น ๆ อาการโดยส่วนใหญ่ที่พบจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน บวมแดง หรือบางคนก็อาจจะเป็นตุ่มน้ำ หรือตุ่มแข็งเกิดขึ้นตามผิวหนัง
-
ผื่นแพ้ยุง
ลักษณะอาการโดยทั่วไปสำหรับคนที่โดนยุงกัด จะรู้สึกคันและมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงเกิดขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะอยู่ได้นานประมาณ 20 นาที แต่สำหรับเด็ก หรือคนที่แพ้ยุงจริง ๆ แล้วจะมีตุ่มนูนแดงเกิดขึ้นนานหลายวัน ลักษณะอาการที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ประมาณ 5 เซนติเมตร เป็นจ้ำเลือด รวมถึงมีตุ่มน้ำพองบริเวณที่โดนยุงกัดด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีอาการเหล่านี้อาจเป็นเพราะเด็ก ๆ แพ้น้ำลาย หรือสิ่งสกปรกที่มาจากยุงนั่นเอง
-
ผื่นแพ้มด
หลังจากที่โดนมดกัด เช่น มดดำหรือมดแดง อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยเรารู้สึกปวดแสบปวดร้อน หรือรู้สึกเจ็บบริเวณที่โดนกัด และเมื่อเวลาผ่านไปสักพักอาการเหล่านี้ก็จะหายเองโดยไม่ต้องทำการรักษา
-
ผื่นแพ้แมลงกลุ่ม Hymenoptera (ผึ้ง ต่อ แตน และมดมีพิษ)
ในทางกลับกันมดชนิดมีพิษ เช่น มดคันไฟ มดตะนอย รวมไปถึง กลุ่ม ผึ้ง ต่อ และแตน ในผู้ที่ไม่แพ้อาจมีแค่อาการบวม พบหรือไม่พบเหล็กในบริเวณที่ต่อย แต่ในรายที่แพ้ อาจทำให้บวมแดงเป็นบริเวณกว้าง มากถึง 10 เซนติเมตร ได้ยาวนาน 5-10 วัน สำหรับคนที่มีอาการแพ้มดมีพิษรุนแรง จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่มากกว่าหนึ่งส่วนขึ้นไป นอกจากมีผื่นเกิดขึ้นแล้ว บางคนก็อาจจะมีลมพิษเฉียบพลัน หายใจลำบาก ปวดท้อง หรือคลื่นไส้ขึ้นมาได้เลย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นภูมิแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง (anaphylaxis)
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก รักษาด่วนก่อนเรื้อรัง
อันตรายที่เกิดจากโรคผื่นแพ้
หลายคนอาจจะกำลังสงสัยแหละว่า โรคผื่นภูมิแพ้แมลง หรือการแพ้แมลงแบบรุนแรง ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ ได้มากน้อยเพียงไร คุณพ่อคุณแม่หลายคนถ้าได้ประสบพบเจอจะขอประกาศเป็นศัตรูต่อ เจ้าแมลงเหล่านี้เลยทีเดียว เพราะทำให้เด็กคัน เกา ติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในรายที่แพ้ จะคันมากจนรบกวนการนอน นอนหลับไม่สนิท ตื่นร้องกลางคืน จนไปถึงสมาธิการเรียนในเวลากลางวันได้ และอาจจะทิ้งรอยแผลเป็น กระดำกระด่าง ทำให้แขนขาลาย ไม่สวยงามได้
นับได้ว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างส่งผลกระทบ และมีโอกาสทำให้คุณพ่อคุณแม่สับสนว่าจะเป็นภูมิแพ้ชนิดอื่นตามไปด้วยได้ เช่น ลูกแพ้อาหารหรือเปล่า เพราะฉะนั้น หากลูกเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีผื่นแพ้เกิดขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดนแมลง ยุง หรือมดกัด รวมไปถึงภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เราควรรีบพาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่เราจะรีบทำการรักษาและมีวิธีจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : จุลินทรีย์ดี Probiotics โพรไบโอติกส์ อีกหนึ่งความหวัง ในการช่วยต้าน โรคภูมิแพ้
วิธีจัดการผื่นแพ้ วิธีดูแลรักษาและป้องกันสำหรับโรคผื่นแพ้แมลง
1. ทำความสะอาดบริเวณที่โดนกัด
อย่างแรกเลยเราต้องทำความสะอาดบริเวณที่โดนแมลง ยุง หรือมดกัด เพื่อจะได้ชำระล้างสิ่งสกปรกหรือสารต่าง ๆ เช่นน้ำลายยุง ที่ส่งผลทำให้เราแพ้ออกจากร่างกาย หากบริเวณที่โดนกัดเป็นแมลงที่มีพิษ หรือมีขน หรือเหล็กในติดอยู่บริเวณผิวหนัง ให้เราใช้อุปกรณ์ที่เป็นแหนบหรือปากกาค่อย ๆ เขี่ยและดึงสิ่งเหล่านั้นออกมา ไม่ควรบีบโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้พิษของแมลงเกิดการกระจายตัวได้
2. ห้ามแกะหรือเกา
หากเด็ก ๆ โดนแมลง ยุง หรือมดกัด ไม่ควรแกะหรือเกาบริเวณที่โดนกัด เพราะสิ่งนี้จะส่งผลทำให้ผื่น หรือแผลที่โดนกัดนั้นเกิดการอักเสบขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทายาบรรเทาอาการปวด หรือบรรเทาอาการคันให้กับเด็ก ๆ ไว้ทันทีหลังโดนกัดใหม่ ๆ จะดีกว่า
3. ประคบเย็นบริเวณที่โดนกัด
หากบริเวณที่โดนแมลงกัดต่อยมีอาการบวมแดงเกิดขึ้น เราอาจจะต้องใช้ผ้าเย็น หรือถุงน้ำแข็งมาประคบเย็นให้กับเด็ก ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบ ปวดร้อน หรืออาการคัน ที่เกิดขึ้นได้ โดยให้ประคบเย็นประมาณ 10 นาที จากนั้นพักอีก 10 นาที ทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้แมลงเข้าในตัวบ้าน เช่น ไม่ควรเปิดหน้าต่าง หรือประตูค้างไว้
หากเราเปิดหน้าต่าง หรือประตูทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน นี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้แมลง หรือยุง บินเข้ามาในบ้านมากัดลูกได้ หากใครไม่อยากให้ปัญหาเหล่านี้ตามมา เราก็อาจจะซื้อมุ้งลวดมาติดบริเวณหน้าต่างและประตู
5. แต่งตัวให้มิดชิด
เรื่องการแต่งตัวก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งใครที่ชอบพาเด็ก ๆ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เราควรแต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานที่ที่เราไป เลือกแขนยาวขายาว ใส่ถุงเท้ารองเท้า และที่สำคัญอีกอย่างเลยคือการเลือกโทนสีเสื้อผ้า ควรเลือกโทนสีสว่าง เพราะแมลงจะชอบความมืด สีทึบเข้ม เช่น สีดำ น้ำเงินเข้ม สิ่งนี้ก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ โดนแมลง ยุง หรือมดกัดได้เหมือนกัน
6. สารที่มีคุณสมบัติไล่แมลง
คุณพ่อคุณแม่สามารถ ใช้โลชั่น สเปรย์ หรือ สารหอมระเหยต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยขับไล่แมลง เช่น ตะไคร้หอม มะกรูด มะนาว ยูคาลิปตัส เป็นต้น แต่ต้องระวัง การระคายเคืองต่อผิวหนังเด็กด้วย
7. ทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่เราควรใส่ใจคือเรื่องของความสะอาด เพราะเมื่อไหร่ที่เราปล่อยให้บ้านรก หรือไม่ยอมทำความสะอาด สิ่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง ยุง หรือมดได้ ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้ หากเราไม่อยากให้ลูกของป่วย และไม่อยากให้โดน แมลง ยุง หรือกัด หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบ้านอยู่เสมอ
ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนค่อนข้างเป็นห่วงและกังวล ยิ่งในช่วงที่ลูกของเรายังเด็กอยู่ หากเขาเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีผื่นแพ้เกิดขึ้นตามร่างกาย เราอาจจะต้องคอยระวังและหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายเด็ก ๆ ให้แข็งแรง เพื่อที่เขาจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีสามารถต้านโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่วัยทารกได้อย่างไร ภูมิแพ้เด็ก ดูแลดี ก็หายได้
โรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ในเด็ก โรคยอดฮิตที่พ่อแม่เด็กเล็ก ต้องระวัง!
ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์