อาการท้องเสียบ่อย ๆ ถ่ายวันนึงหลาย ๆ รอบ อย่าชะล่าใจ เพราะนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคท้องร่วง ที่ไม่ควรปล่อยไว้ มาดูสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา โรคท้องร่วง ในเบื้องต้นกัน พร้อมวิธีป้องกัน ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้
โรคท้องร่วง คืออะไร?
โรคท้องร่วง (Diarrhea) โรคท้องเสีย หรือ โรคอุจจาระร่วง หมายถึง อาการที่ถ่ายเหลวเกิน 3 ครั้งขึ้นไป หรือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด และในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการปวดบิดในท้อง อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ร่วมด้วยเช่นกัน
ลักษณะของโรคท้องร่วง จะมีการถ่ายอุจจาระเหลว หรือ ถ่ายเป็นน้ำ จำนวนหลายครั้ง ซึ่งอาการของโรคท้องเสีย สามารถหายได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน และสามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด โดยโรคท้องร่วง สามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ ได้แก่ ชนิดเฉียบพลัน และ ชนิดเรื้อรัง ดังนี้
ท้องร่วงแบบเฉียบพลัน
อาการท้องร่วงแบบเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้น และจะหายไปได้เองในระยะเวลาประมาณ 2 วัน ซึ่งท้องร่วงแบบเฉียบพลัน อาจเกิดจากการได้รับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือ เกิดจากอาหารเป็นพิษ และจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือ ปรสิตที่เข้าสู่ร่างกาย โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
ท้องร่วงเรื้อรัง
อาการท้องร่วงเรื้อรัง คือ อาการถ่ายเหลววันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน มากกว่า 2-4 สัปดาห์ จะมีอาการท้องร่วงติดต่อกัน ซึ่งอาจมาจากผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้ โรคเซลิแอค คือ โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อกลูเตน ซึ่งคือโปรตีนที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และข้าวไรย์ เป็นต้น เมื่อได้รับโปรตีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำลายผนังลำไส้ จนทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้
อาการของโรคท้องร่วง
โรคท้องร่วงสามารถมีอาการได้หลายอาการ โดยผู้ป่วยสามารถเป็นเพียงอาการเดียว หรือ หลายอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับเชื้อ และร่างกายของผู้ป่วย โดยอาการที่สังเกตได้ มีดังนี้
- ท้องเสียเป็นน้ำ
- ท้องเสียบ่อย
- อุจจาระเป็นจำนวนมาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องบิด
- ท้องอืด
- ร่างกายสูญเสียน้ำ
- เป็นไข้
- เป็นตะคริว
ภาวะร่างกายขาดน้ำจากโรคท้องร่วง
อาการท้องเสีย ท้องร่วง เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดน้ำ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว
- คอแห้ง กระหายน้ำ
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ปัสสาวะน้อยลง
- ปากแห้ง
การวินิจฉัยโรคท้องร่วง
การวินิจฉัยโรคท้องร่วง แพทย์จะทำการทดสอบเพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
- การงดอาหารเพื่อทดสอบว่าแพ้อาหารหรือไม่
- การทดสอบการอักเสบ และ ความผิดปกติของลำไส้
- การตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อ
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อดูอาการเกี่ยวกับโรคลำไส้
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพื่อดูอาการโรคลำไส้
วิธีดูแลรักษาโรคท้องร่วง
เบื้องต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากการท้องเสีย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือ ดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ เพื่อช่วยชดเชยน้ำที่เสียไป แต่หากบางรายหากมีอาการรุนแรง อาจต้องได้รับน้ำเกลือ หรือ ต้องรักษาด้วยการประทานยาประเภทปฏิชีวนะ จำพวกยาแก้ท้องเสีย
ท้องเสียควรรับประทานอะไร?
- อาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก
- โยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติก เพื่อให้แบคทีเรียตัวดี ไปช่วยในเรื่องการทำงานของลำไส้
- อาหารประเภทเบรทไดเอท เช่น กล้วย แอปเปิล
- อาหารไขมันต่ำ อาหารย่อยง่าย
- ดื่มน้ำมะพร้าว เพราะมีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย
อ่านเพิ่มเติม มีอาการท้องเสีย เมื่อมีอาการท้องเสียทำอย่างไร ท้องร่วงสิ่งที่ควรกินและไม่ควรกิน
การป้องกันโรคท้องร่วง
โรคท้องร่วง สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค
- รับประทานอาหารที่สะอาด ล้างวัตถุดิบต่าง ๆ ก่อนนำมาประกอบอาหารทุกครั้ง
- รับประทานอาหารที่สุก ใหม่ ไม่ค้างคืน
- ละลายอาหารแช่แข็งทุกครั้ง ก่อนนำมาทำอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด
วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
หากมีอาการท้องร่วง ท้องเสีย ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย สามารถป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ล้างด้วยน้ำสบู่ให้สะอาด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากเรา ติดต่อสู่ผู้อื่น
โรคท้องร่วง อาจคล้ายกับอาการท้องเสียทั่ว ๆ ไป แต่ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการท้องเสียมากเกินไป ถ่ายเป็นน้ำ หรือ ถ่ายจนรู้สึกอ่อนเพลีย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำจากอาการท้องเสีย และช่วยตรวจวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มาข้อมูลthaihealth
บทความที่น่าสนใจ
ทารกท้องเสีย ถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว เกิดจากสาเหตุใด ดูแลรักษายังไงดี
เด็กท้องเสีย ทำอย่างไรดี? ลูกถ่ายเหลว มีสาเหตุจากอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง?
ท้องเสียเป็นอาการของการตั้งครรภ์ไหม ท้องเสียตอนท้องอ่อนๆ อันตรายหรือเปล่า?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!