เส้นเลือดฝอยที่ขา คือปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์หนักใจไม่น้อยกว่าอาการเส้นเลือดขอด แต่ด้วยความที่เส้นเลือดมีขนาดเล็ก จึงกระจายคล้ายใยแมงมุมหลากสี ทั้งสีม่วง เขียว แดง และน้ำเงิน ปรากฏชัดบริเวณต้นขาและน่องช่วงหลังคลอดลูก อีกหนึ่งปัญหาคือ เส้นเลือดฝอยในตาแตก โดยไม่ทราบสาเหตุ เรามาดูกันว่า สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างไรบ้าง
เส้นเลือดฝอยแตกที่ขา
เส้นเลือดฝอยที่ขา อาการเป็นอย่างไรและเกิดจากสาเหตุอะไร?
จริงๆ แล้วอาการ เส้นเลือดฝอยที่ขา หน้าท้องลาย คล้ายกับเส้นเลือดขอด แต่มีขนาดเล็กกว่าและแผ่กระจายในวงที่กว้าง สาเหตุหลักมาจาก
- พันธุกรรม เรื่องพันธุกรรม ยิ่งคนที่มีผิวขาว จนเกือบจะใส ยิ่งเห็นเส้นเลือดเหล่านี้ชัดเจน เราสามารถสังเกตได้จาก ขา ใบหน้าของปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่ของเราค่ะ ว่ามีอาการนี้หรือเปล่า
- การทำงาน อีกสาเหตุมาจากการทำงาน คนที่ต้องยืนนานๆ นั่งนานๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ก็เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดฝอยปรากฏชัดเจน
- ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การเกิดเส้นเลือดฝอยที่ขา มาจากการตั้งครรภ์ ไม่ต่างจากการเกิดเส้นเลือดขอด เนื่องจากคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหน้าท้องแผ่ขยายจนเห็นเส้นเลือดฝอย รวมถึงตามต้นขาก็จะมีภาวะนี้เกิดขึ้นได้ง่าย
ที่น่าสนใจคือ อาการเส้นเลือดฝอยอักเสบสามารถเกิดขึ้นกับเด็กเล็กได้อีกด้วย โดยเฉพาะเด็กชายอายุตั้งแต่ 5-15 ปี ก็จะมีอาการนี้เกิดขึ้นมากกว่าเด็กผู้หญิง
บทความที่เกี่ยวข้อง: เส้นเลือดขอด แม่หลังคลอด เกิดจากอะไร? รักษาอย่างไรให้ได้ผล
การรักษาเส้นเลือดฝอยที่ขา
วิธีรักษาเส้นเลือดขอด อาจจะรุนแรงถึงขั้นผ่าตัดเส้นเลือดดำ แต่สำหรับการรักษา เส้นเลือดฝอยที่ขา ปัจจุบันจะเข้าไปอยู่ในโปรแกรมของการดูแลเรื่องความสวยความงาม เนื่องจาก ปัญหาเส้นเลือดฝอยไม่ได้เกิดขึ้นที่ขาอย่างเดียว แต่จะพบมากบริเวณใบหน้า หน้าท้อง น่อง ซึ่งสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้หญิง และในปัจจุบัน การรักษาเส้นเลือดฝอยมีความทันสมัยมากขึ้น ลดอาการบาดเจ็บ จากเดิมเคยใช้วิธีฉีดยาเข้าเส้นเลือด (Sclerotherapy) ได้พัฒนามาเป็นการใช้เลเซอร์เข้ามาทำการบำบัดรักษาอย่างปลอดภัยแล้ว
1. ประเมิณอาการ
เส้นเลือดฝอยที่ขา บนใบหน้า และส่วนอื่นๆ แพทย์จะประเมิณอาการโดยเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ควรเกิน 2 มิลลิเมตร เพราะหากใหญ่และกว้างกว่านี้ จะอยู่ในข่ายของอาการเส้นเลือดขอด อาจไม่สามารถรักษาโดยการใช้เลเซอร์ได้
2. การทำงานของเลเซอร์
ก่อนอื่นแพทย์จะทำการทายาชาก่อนประมาณ 30-60 นาที แต่จริงๆ แล้วหากสามารถทนความเจ็บปวดได้เล็กน้อยก็ไม่ต้องใช้ยาชา เพราะมีความปลอดภัยสูง ด้านการยิงแสงเลเซอร์นั้น ลำแสงะผ่านเข้าสู่ชั้นผิวหนังแล้วเข้าสู่หลอดเลือดเล็กๆ ทำลายเส้นเลือดฝอยเหล่านั้น ซึ่งการใช้แสงเลเซอร์มีความแม่นยำสูงมาก โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อรอบๆ เส้นเลือดที่ได้รับการรักษาเลย
3. ขั้นตอนการรักษา
การรักษาด้วยแสงเลเซอร์จะใช้เวลาน้อยมาก แทบจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็น เพราะเลเซอร์จะไม่มีผลข้างเคียงหรือทำลายผิวหนัง แต่ทั้งนี้อาจทิ้งรอยการักษาขึ้นอยู่กับความลึกของเส้นเลือดและปริมาณว่าเส้นเลือดฝอยนั้นแผ่วงกว้างมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ แผลจะค่อยๆ จางหายไปไม่ทิ้งรอยแผลเป็นแน่นอน
4. ระยะเวลาของการรักษา
ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการ ปริมาณของเส้นเลือดฝอยค่ะ คล้ายๆ กับคนที่เป็นสิว ฝ้า กระ ถ้าเป็นเยอะ ก็อาจจะต้องเลเซอร์ซ้ำหลายครั้ง เช่นเดียวกับการเลเซอร์เส้นเลือดฝอย ถ้าเป็นเยอะ ตอบสนองต่อการรักษาต่ำ ก็อาจจะต้องใช้เวลา และอาจจะต้องเลเซอร์ซ้ำหลายครั้งจนกว่า ผู้ป่วยเองจะพึงพอใจหรือตามเห็นของแพทย์ว่า ควรหยุดการรักษาเมื่อใด
5. อาการหลังยิงเลเซอร์
หลังการรักษา ผิวหนังจะทิ้งรอยและบวมแดงเล็กน้อย แต่จะดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง จากนั้นผิวหนังจะเข้มขึ้นใน 3 วันคล้ายผิวไหม้ ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะหลังจากนั้น 1 สัปดาห์รอยดำจะจางหายไปเอง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใส่ถุงน่องช่วยพยุงขาไว้ เพื่อไม่ให้โดนฝุ่นละออง
ปกติแล้ว การรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนังจะดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน ซึ่งหลังรักษาครั้งแรก ผิวบริเวณนั้นจะบวมขึ้น อาจจะต้องประคบน้ำแข็งหลังเลเซอร์เสร็จทันที ด้านผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลแผลให้ดี เช่น งดการออกกำลังกาย งดอาบน้ำอุ่น ถ้าอยากให้แผลหายเร็วขึ้น ไม่ควรโดนน้ำเลย แผลจะตกสะเก็ดไวและไม่ทิ้งรอยดำ นอกจากนี้ ต้องใช้ครีมกันแดด ทาบริเวณแผลเลเซอร์เพื่อป้องกันแสงแดด อย่าลืมว่า แผลหลังทำเลเซอร์มีความบอบบางและไวต่อแสงมากๆ ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง: อาการเส้นเลือดขอดช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มีความเสี่ยงและอันตรายหรือไม่?
เส้นเลือดฝอยในตาแตก มีสาเหตุมาจากอะไร?
เคยมีอาการเส้นเลือดฝอยในตาแตกกันหรือไม่คะ? จู่ๆ ตื่นเช้ามา ก็พบว่า นัยน์ตาแดงก่ำ คล้ายมีก้อนเลือดฝังในดวงตา บางคนแดงจนน่าตกใจ จึงรีบไปพบแพทย์โดยที่ไม่รู้ว่า ตนเองนั้นไปโดนอะไรมาด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุมาจากพฤติกรรมทางธรรมชาติของคนเราโดยทั่วไปเลยค่ะ เช่น
- เวลาไอ จามจะเบ่งแรง ทำให้ความดันภายในร่างกายสูงขึ้น ถ้าคุณเคยได้ยินคนจามแรงๆ นั่นแหละค่ะ เขากำลังเสี่ยงต่อเส้นเลือดฝอยในตาแตกได้
- โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต้องระวังอย่างมากเรื่องการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกาย
- โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น ผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ จนต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด
- เกิดจากการอักเสบ เนื่องจากโดนฝุ่นละออง แชมพูเข้าตา แล้วขยี้จนเยื่อบุตาอักเสบ เส้นเลือดฝอยแตกจนตาแดงก่ำ และรู้สึกเคืองตา
อาการของเส้นเลือดฝอยในตาแตก
โดยปกติ หากเยื่อบุตาเกิดความกระทบกระเทือนจากการขยี้จนเส้นเลือดฝอยในตาแตก จะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือเลือดไหลออกมา แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกระคายเคืองนิดๆ รู้สึกรำคาญเหมือนมีอะไรรบกวนนัยน์ตา แต่จะเป็นสภาพทางจิตใจมากกว่า เพราะเมื่อส่องกระจกแล้วพบว่า เหมือนเลือดคั่ง เป็นปื้นๆ สีแดงจัดบนตาขาว
การรักษาเบื้องต้น ควรทำอย่างไร?
อาการเส้นเลือดฝอยในตาแตกไม่มีอันตรายแต่อย่างใด หากไม่พบการติดเชื้อ อาการนี้จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องอาศัยการหยอดตานั้น เนื่องจากมีการระคายเคืองในตา จึงต้องบรรเทาด้วยยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางคนที่เส้นเลือดฝอยในตาแตกอยู่บ่อยๆ เนื่องจากโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
การป้องกันเส้นเลือดฝอยในตาแตก ทำได้อย่างไร?
นอกจากโรคประจำตัวบางโรค สามารถทำให้เส้นเลือดฝอยในตาแตกได้ง่าย ยังเกิดจากพฤติกรรมของคนเราโดยไม่รู้ตัว เรามาดูกันว่า จะป้องกันอย่างไรได้บ้าง
- เวลาจะไอหรือจาม อย่าตะเบงหรือออกแรงมาก ให้เอาผ้าปิดปากหรือจามใส่แขน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคภายในอากาศได้ด้วยค่ะ
- แชมพู สบู่ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำทั่วไป ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตา ก็อย่าใช้มือขยี้แรง เพราะนั่นจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ควรรีบล้างน้ำเปล่าและลืมตาในน้ำสะอาด เอาผ้าซับดวงตาเบาๆ
- สำหรับคนใส่คอนแทคเลนส์ ควรใช้น้ำตาเทียมเพื่อความชุ่มชื่นของดวงตา และอย่าเผลอใส่ขณะหลับ ส่วนคอนแทคเลนส์ควรล้างทำความสะอาดตามวิธีที่ถูกต้องและแช่น้ำยาไว้ ถ้าจะให้ดี ควรใส่แบบรายวันค่ะ
- การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือจ้องสมาร์ทโฟนมากเกินไป จะทำให้ปวดตา ตาแห้งได้ ควรหยอดน้ำตาเทียมและออกไปเดินเล่น พักสายตาโดยการมองไกลๆ บ้าง จะช่วยลดความเหนื่อยล้าของดวงตาได้ดี
- ทราบหรือไม่ว่า โรคเรื้อรังอย่าง โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก็สามารถทำให้ยื่อบุตาอักเสบ เส้นเลือดในตาแตก บางรายรุนแรงถึงขั้นตาบอด ดังนั้น ไม่ใช่ดูแลแค่ดวงตา แต่ควรดูแลสุขภาพร่างกาย กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ไม่ควรมองท้าแสงแดดจ้า ยิ่งในบ้านเราแสงแดดค่อนข้างรุนแรง ทำลายทั้งผิวหนังและดวงตาได้ง่าย ดังนั้น เวลาออกแดด ควรสวมแว่นกันแดดเป็นประจำ ซึ่งควรตรวจประสิทธิภาพของแว่นดตาด้วยว่า สามารถกันรังสี UVA และ UVB ได้ดี
จะเห็นได้ว่า เส้นเลือดฝอยในร่างกายของคนเรา มีความสำคัญมาก แม้ว่าอาการเส้นเลือดฝอยอักเสบ เส้นเลือดฝอยแตก อาจไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต เนื่องจากดูเหมือนเป็นส่วนประกอบเล็กๆ แต่ในเรื่องความงามแล้ว ส่งผลต่อความมั่นใจสำหรับทุกเพศทุกวัย ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตามทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็ควรดูแลเส้นเลือดของเราให้ดีเสมอค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
คุณแม่รู้ไหม เลือดฝาด ที่อยู่บนหน้าเรา บอกอะไรกับเราได้บ้าง
เส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ ของคุณผู้ชาย อีกปัจจัยทำให้ มีลูกยาก
โครโมโซมผิดปกติ อันตรายต่อทารกในครรภ์มากน้อยแค่ไหน คุณแม่ควรรู้
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดฝอยที่ขา ได้ที่นี่!
เส้นเลือดฝอย ที่ขา ช่วงตั้งท้อง เกิดจากอะไรคะ อันตรายไหม
ที่มา: bumrungrad, iskycenter, si.mahidol , pobpad