ลูกเข้าโรงเรียนแล้วป่วยบ่อยๆ มีวิธีป้องกันหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง?
อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องทำใจนิดนึงค่ะว่าการที่ลูกไปโรงเรียน ซึ่งมีเด็กหลาย ๆ คนมาอยู่รวมกันในบริเวณที่จำกัดย่อมมีโอกาสที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคและสามารถติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่ายดายอยู่แล้วค่ะ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงนี้ลงได้นะคะ จากหลักการว่าการที่เด็ก ๆ จะเจ็บป่วยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ 2 อย่าง คือ ภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค และ สิ่งแวดล้อมรวมถึงการเลี้ยงดูค่ะ
วิธีการควบคุมปัจจัยด้านภูมิคุ้มกันของร่างกายก็คือการทำให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงซึ่งเริ่มจากอาหารนั่นเองค่ะ ตั้งแต่แรกเกิดเด็ก ๆ ควรได้ทานนมแม่ซึ่งมีภูมิคุ้มกันจากคุณแม่ผ่านมาทางน้ำนมอย่างมากมายชนิดที่นมผงยี่ห้อใดก็สู้ไม่ได้ จนถึงอายุ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือถ้าคุณแม่สามารถให้นมได้นานกว่านี้ก็จะยิ่งดีมาก ๆ ค่ะ หลังจากอายุ 6 เดือนขึ้นไปก็ควรจะได้ทานอาหารเสริมที่เหมาะสม ครบ 5 หมู่ ตามจำนวนมื้อที่ควรได้รับในแต่ละวัย นอกจากนี้การออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รวมทั้งการได้รับวัคซีนป้องกันโรคให้ครบถ้วนตามวัย และพิจารณาการได้รับวัคซีนเสริมต่างๆ ก็จะช่วยให้ลูกมีร่างกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคค่ะ
ส่วนการควบคุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถก็สามารถทำได้โดยสอนให้ลูกรู้จักวิธีป้องกันการติดเชื้ออย่างง่าย ๆ เช่น การล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ รู้จักการใช้ช้อนกลางเวลาทานอาหารร่วมกับเพื่อน ๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวเช่น แก้วน้ำ หรือ แปรงสีฟันร่วมกับเพื่อน ไม่เข้าไปคลุกคลีกับเพื่อนที่ป่วย เป็นต้น โดยสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้การสอนได้ผลคือ คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ดูเป็นแบบอย่าง อย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจลองสอบถามคุณครูว่าที่โรงเรียนมีระบบการคัดกรองแยกเด็กที่ป่วยและการดำเนินการในกรณีมีโรคติดเชื้อระบาดในโรงเรียนอย่างไรบ้าง รวมทั้งถ้าลูกป่วยก็ไม่ควรจะไปโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เพื่อน ๆ เช่นกันค่ะ
จากที่หมอเล่ามาทั้งหมดก็คงจะสรุปได้ง่าย ๆ ว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถลดโอกาสในการเจ็บป่วยของลูกในวัยเรียนได้โดยการส่งเสริมให้เค้ามีสุขภาพที่แข็งแรงและเรียนรู้วิธีการป้องกันการติดเชื้อ นั่นเองค่ะ
ลดความเสี่ยงเป็นโรคภูมแพ้ของลูกได้อย่างไร?
ประสบการณ์ตรงเมื่อลูกเป็นมือเท้าปาก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!