อารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห หรือขี้วีนของเด็ก มักเกิดขึ้นเมื่อลูกไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือถูกขัดขวางไม่ให้ทำสิ่งนั้น ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันบ้าง เด็กบางคนอาจมีอาการงอน หรือโกรธเล็กน้อย แต่บางคนอาจมีอาการหงุดหงิด โมโหร้าย และโวยวายไร้เหตุผลได้ วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูกันว่า ลูกขี้หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ เกิดจากอะไร และมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
เด็กขี้หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ เกิดจากอะไร
โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เด็กควบคุมอารมณ์ และความโกรธของตัวเองไม่ได้ มักมาร่างกาย จิตใจ และการเลี้ยงดูภายในครอบครัว ซึ่งเราสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- ร่างกาย : หากลูกป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็จะทำให้เด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ จนเกิดอารมณ์แปรปรวนขึ้นมา ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เด็กเกิดอาการหงุดหงิดนั้น เช่น สมาธิสั้น ไบโพลาร์ ออทิสติก เป็นต้น นอกจากนี้ โครงสร้างสมอง และระดับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล ยังอาจส่งผลให้เด็กเกิดอารมณ์หงุดหงิด ใจร้อน และมีอาการซึมเศร้าได้
- จิตใจ : จิตใจเป็นพื้นฐานธรรมชาติทางอารมณ์ของเด็ก ซึ่งบางครั้งอาจเกิดจากตัวลูกเองที่เป็นคนขี้โมโห เจ้าอารมณ์ และขาดความอดทน เป็นต้น
- สภาพแวดล้อม : การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเกิดอาการโมโหร้าย เช่น เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง หรือพ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ก็มักจะติดนิสัยนั้นมาด้วย นอกจากนี้ การรับเนื้อหาสื่อเกี่ยวกับความรุนแรงต่าง ๆ ยังอาจส่งผลให้เด็กเป็นคนอารมณ์ร้อนได้อีกเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกขี้โมโห! เลี้ยงยังไงดี จะรับมือกับลูกขี้โมโหได้ยังไงบ้าง
ลูกขี้หงุดหงิด พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
ลูกขี้หงุดหงิด ขี้โมโห อารมณ์ร้าย กรีดร้อง ควบคุมตัวเองไม่ได้ มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุราว ๆ ประมาณ 2 ขวบ 4 ขวบ และช่วงวัยรุ่น การกระทำแบบนี้อาจจะเกิดจากพ่อแม่ที่ขี้โมโห เจ้าอารมณ์ เวลาไม่พอใจก็จะทำอะไรโครมคราม ทำลายข้าวของ เมื่อลูกเห็นก็จะแสดงอารมณ์เดียวกัน บางครั้งอาจเกิดจากพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกได้แสดงอารมณ์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการตักเตือน จนท้ายที่สุดลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิดค่ะ ดังนั้น พ่อแม่ควรที่จะจัดการกับพฤติกรรมลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยวิธีการเหล่านี้
1. เริ่มที่พ่อแม่
สาเหตุหนึ่งที่ลูกกลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิดก็มาจากพ่อแม่นั่นแหละ เพราะไม่ว่าใครเวลาที่อารมณ์ไม่ดีก็มักจะเผลอปล่อยตัวไปตามอารมณ์ ทำให้ไม่รู้เลยว่าการแสดงพฤติกรรมแบบนั้นอยู่ในสายตาลูกอยู่เสมอ เมื่อลูกเห็นว่าพ่อแม่ทำแบบนี้เพื่อระบายอารมณ์ ลูกก็จะทำตามบ้าง ดังนั้น หากเป็นไปได้ พ่อแม่ควรต้องพยายามระงับอารมณ์ อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก มีอะไรก็ให้ไปเคลียร์กันสองคนจะดีที่สุดค่ะ
2. งดให้ลูกดูสื่อที่มีความรุนแรง
เด็กส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมเลียนแบบพฤติกรรมมาจากพ่อแม่บ้าง สื่อที่ดูบ้าง หรือคนรอบข้างบ้าง และถ้าพ่อแม่ปล่อยให้ลูกดูยูทูบที่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าว วีนเหวี่ยง จากสื่อที่พบเห็น เพราะน้องจะยังแยกไม่ออกว่าอันนี้ควรทำตามหรือไม่ เป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่าคะ ดังนั้น ก่อนที่จะยื่นอะไรให้ลูกดูควรคัดกรองสื่อสักหน่อย หรือให้นั่งดูข้าง ๆ ลูกจะดีกว่าค่ะ
3. หยุดตามใจลูกจนเสียนิสัย
บ่อยครั้งที่พ่อแม่ยอมตามใจลูก เพราะเห็นว่าลูกยังเล็ก สมัยก่อนตอนที่พ่อแม่เด็ก ๆ ของแบบนี้ไม่มี จึงอยากให้ลูกได้รับสิ่งดี ๆ บ้าง หรือเห็นว่าเวลาลูกร้องหน้าเขียว ก็กลัวลูกจะหายใจไม่ออก สงสารลูก ก็เลยตามใจ สิ่งนี้พอพ่อแม่ทำเขาปล่อย ๆ ลูกน้อยก็จะยิ่งอาละวาดเอาแต่ใจยิ่งขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือ ต้องทำเป็นไม่รับรู้หรือนิ่งเฉยเสีย เวลาเขาแสดงอาการโมโหโทโสออกมา ก็ควรเดินเลี่ยงไปเสียที่อื่น แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ชุมชน คนเยอะ ๆ อาจจะพาลูกเลี่ยงไปที่อื่นก่อนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมลูกก้าวร้าว ต้นตอของปัญหาความก้าวร้าวในตัวเด็ก มีแบบไหนบ้าง
4. ฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง
ถึงแม้ว่าอารมณ์โมโห เป็นเรื่องปกติของคนทุกคน แต่พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า หากเราฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ตั้งแต่เล็ก ๆ จะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก เพราะจะทำให้ลูกไม่ต้องเป็นเด็กขี้โมโห ขี้หงุดหงิด หรือเป็นเด็กชอบอาละวาด เอาแต่ใจค่ะ วิธีการฝึกควบคุมอารมณ์ของลูกมี ดังนี้
- เมื่อลูกโมโห ให้ลูกสูดลมหายใจลึก ๆ 10 ครั้งในใจ
- ให้กำลังใจลูกในการจัดการอารมณ์ตนเอง โดยอาจจะกล่าวคำชมเชยลูกเมื่อพบว่าลูกสามารถจัดการตัวเองได้ เพื่อให้ลูกรู้สึกภูมิใจ และตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการกับอารมณ์โกรธ
- หากลูกโมโหคนอื่น ลองสอนให้ลูกมองคนที่กำลังทำให้ลูกโกรธว่าเขามีข้อดีอะไร แล้วบอกว่าทุกคนล้วนมีทั้งข้อดี และเสียด้วยกันทั้งนั้น สิ่งไหนที่อภัยได้ก็ให้อภัยต่อกัน เพราะคนที่ไม่มีความสุขคือลูกเองที่ต้องมานั่งโกรธอยู่
5. หยุดอารมณ์เมื่อลูกกรีดร้อง
พ่อแม่ต้องพยายามระงับอารมณ์ลูก เมื่อพบเห็นว่าลูกกรีดร้อง แสดงอาการไม่พอใจ โดยการจับที่ตัวลูกน้อย จับไว้จนกว่าที่เด็กจะได้สติ แล้วพูดกับลูกน้อยด้วยความใจเย็น บอกเขาว่าคุณรู้ และเข้าใจในสิ่งที่ลูกโกรธอยู่ พร้อมบอกว่าเวลาที่คนเราโกรธ หรือหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมดา แต่การที่แสดงอารมณ์ และพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่การกระทำที่เหมาะสม ลูกควรรู้จักระงับอารมณ์ หลังจากนั้นก็พูดกับลูกว่า การกระทำแบบนี้ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร อับอาย หรือโกรธบ้างหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามจงให้ความมั่นใจลูกอีกครั้งว่า คุณยังรักเขาเหมือนเดิม และมั่นใจว่าเขาจะแก้ไขปรับปรุงตัวของเขาให้ดีขึ้นได้แน่ ๆ
อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด และขี้โมโหของเด็ก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ยิ่งโดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการการเอาใจใส่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ขี้เหวี่ยง โวยวาย หรือทะเลาะกันต่อหน้าให้ลูกเห็น เพราะเด็กจะซึมซับ และนำไปเลียนแบบเหมือนผู้ปกครอง ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรสอนวิธีจัดการอารมณ์ให้แก่ลูก เพื่อให้เขาได้รู้จักควบคุมอารมณ์ และเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กติดเกม ก้าวร้าว-ควบคุมตัวเองไม่ได้ ป้องกันและแก้ไขอย่างไรดี?
เลี้ยงลูกแบบนี้ไง ลูกถึงเป็น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เด็กเกเร ไม่ใช่เรื่องเล็ก
เทคนิคสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก วัย 6 เดือน – 3 ปี ฝึกลูกให้เป็นเด็กดี ไม่ก้าวร้าว
ที่มา : trueplookpanya, childanddevelopment, bangkokhospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!