เมื่อลูกรักชอบการกินเป็นชีวิตจิตใจ จนน้ำหนักตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เผลอไปไม่นาน ก็ยากที่จะควบคุม กลัวว่าลูกจะเสี่ยงโรคร้าย อยากให้ลูกผอม จะต้องทำอย่างไรบ้าง วิธีไหนที่จะช่วยลูกได้ ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า ยิ่งแก้ไขเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะแต่ละวิธีต้องใช้เวลาพอสมควร จะมีวิธีไหนบ้าง อ่านได้เลยจากบทความนี้
อย่าปล่อยให้ลูกมีน้ำหนักมาก ยิ่งโตยิ่งแก้ยาก
เรื่องน้ำหนักกับลูกรักเป็นเรื่องที่มีมาให้เห็นกันตลอด ผู้ปกครองหลายคนชอบบอกว่า “เด็กอ้วนน่ารักดี” เลยปล่อยให้ลูกกินมากเกินไปตั้งแต่เล็ก ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า “โตไปเดี๋ยวก็ตัวยืดเอง” แต่ประโยคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป เพราะเด็กหลายคนก็กินเยอะต่อเนื่อง อาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลเสียต่อร่างกาย ผู้ปกครองบางท่านอาจตามใจลูก จนเผลอผ่านไปหลายปี หันมามองลูกรักอีกที ก็มีน้ำหนักมากเกินกว่ามาตรฐานไปไกลแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ โรคร้ายที่มาจากปริมาณไขมันนั่นเอง และด้วยความที่ยิ่งโตมากขึ้น การลดน้ำหนักจะยิ่งทำยากขึ้นไปอีก ดังนั้นหากใครมีลูกน้อยตอนนี้ สิ่งที่ต้องเริ่มทำ คือ การติดตามน้ำหนักของลูกในแต่ละช่วงวัยให้ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : อยากให้ลูกอ้วน รวมวิธีเพิ่มน้ำหนัก เมื่อลูกผอมเกินไป
วิดีโอจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี Bangkok Hospital Chanthaburi
6 วิธีต้องทำหาก อยากให้ลูกผอม
การลดน้ำหนักให้กับลูกรักที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานมาก เป็นสิ่งที่ควรทำไม่ใช้เพื่อให้ลูกสวยขึ้น หล่อขึ้น แต่เพื่อร่างกายที่แข็งแรง เสี่ยงจากโรคร้ายน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ความพยายาม และใช้ระยะเวลามากพอสมควร เรามีวิธีที่อยากแนะนำ ดังนี้
1. ความอยากผอมต้องมาจากตัวของลูกเอง
เมื่อร่างกายของลูกอ้วนจนเกินมาตรฐานไปมาก สิ่งที่ตามมาตามความเข้าใจของผู้ปกครอง คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน, โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และโรคทางหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น ซึ่งโรคบางโรครุนแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องพยายามให้ลูกเข้าใจในเรื่องนี้เช่นกัน ต้องพูดคุยกับลูก อธิบายให้ลูกฟังว่า ไม่ใช่ว่าครอบครัวไม่ยอมรับในตัวลูก เพราะเรื่องน้ำหนัก แต่ที่อยากให้ลดน้ำหนัก เพราะความเสี่ยงของโรคที่มากกว่าคนทั่วไป เป็นความห่วงใยของพ่อแม่ หากลูกเข้าใจ เขาจะมีความต้องการที่จะลดน้ำหนักด้วยตนเอง
2. พ่อแม่คือตัวอย่างที่สำคัญ
หากลูกต้องการลดน้ำหนัก หรือพ่อแม่อยากให้ลูกผอม สิ่งที่จะผลักดันให้กับลูกได้ดี คือ พฤติกรรมการทานอาหารในแต่ละมื้อ แต่ละวันของตัวผู้ปกครองเองนั่นแหละ หากบังคับให้ลูกกินของที่มีประโยชน์ แต่พ่อแม่ยังกินอาหารที่ทำให้อ้วน เช่น ขนม น้ำอัดลม หรือของทอด ของติดมันต่าง ๆ ลูกจะรู้สึกว่าย้อนแย้งกัน แต่ถ้าหากผู้ปกครองเองก็ทำให้เห็น กินของที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และเกิดความรู้แฟร์กับตนเองนั่นเอง
3. ช่วยควบคุมปริมาณอาหาร และโภชนาการ
เป็นวิธีพื้นฐาน เมื่อลูกมีความต้องการที่จะลดน้ำหนัก ผู้ปกครองสามารถช่วยได้ด้วยการจัดเมนูอาหารที่มีไขมันน้อย เน้นที่คุณค่าของสารอาหารมากขึ้น จัดให้แต่ละมื้อมีโภชนาการที่เหมาะสม แต่อาจไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดทุกมื้อ เพราะการลดน้ำหนักนั้นทำได้ไม่ง่าย การทำอย่างต่อเนื่องจะสร้างความกดดันของลูก อาจแบ่งมื้อให้ลูกกินเมนูที่ชอบเดือนละ 1 – 2 ครั้งเป็นต้น
4. ลดจำนวนขนม และน้ำอัดลม
ทั้งขนมซองกรุบกรอบ, เค้ก หรือน้ำอัดลม เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบกิน เป็นของที่มาคู่กับเด็กเสมอ หากทานติดต่อกันหลายปี คงจะส่งผลต่อน้ำหนัก และติดเป็นนิสัยของลูกไปแล้ว ของเหล่านี้ยังมีสารอาหารน้อย ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ให้ การลดจำนวนของอาหารเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ไม่ควรใช้วิธีหักดิบไม่ให้ทานในทันที อาจให้ทานบ้างแต่จำกัดปริมาณ เน้นการค่อย ๆ ลดทอนปริมาณไปเรื่อย ๆ หรือลดจำนวนครั้งในการทาน เพื่อไม่ให้ลูกงอแง เนื่องจากโดยปกติแล้ว เด็กในวัยเดียวกัน อาจจะยังทานอยู่
5. กิจกรรมช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องอาหาร
การกินเมนูที่มีคุณค่าทางอาหาร หลายเมนูก็ไม่ได้มีรสชาติที่ดีเท่าไหร่ คงเทียบกับอาหารอร่อยแต่ทำร้ายสุขภาพได้ยาก เพื่อให้ลูกเข้าใจในเรื่องการทานอาหารมากขึ้น ผู้ปกครองสามารถใช้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นตัวอธิบายแทนการพูดคุยตรง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความอยากเรียนรู้มากกว่า เช่น ชวนลูกทำอาหาร, ฟังเพลงเกี่ยวกับอาหาร หรือทำกิจกรรมครอบครัวที่ให้ความรู้เรื่องสารอาหารจากการเล่นเกม เป็นต้น
6. ออกกำลังกายไปด้วยกัน
พากันออกกำลังกายทั้งครอบครัว อาจดูเป็นเรื่องที่ยาก ทำไม่ได้บ่อย ๆ แต่หากมีโอกาส หรือหาเวลาได้ก็ควรทำ การออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แค่จะทำให้น้ำหนักลดเท่านั้น แต่ยังทำให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นไปด้วย แต่สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก จำเป็นต้องหาการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากออกแรงมากไปตั้งแต่ต้น จะทำให้อันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเลือกกิจกรรมออกกำลังกาย
กำลังใจจากพ่อแม่ที่ต้องมีให้ตลอด
นอกเหนือจากวิธีที่เราแนะนำไปทั้ง 6 วิธีแล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลย คือ การให้กำลังใจตลอดช่วงเวลาที่ลูกกำลังลดน้ำหนัก โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก ๆ จะต้องใช้เวลานานแน่นอน ความท้อ และความเหน็ดเหนื่อยอาจส่งผลให้ลูกกำลังใจหดหายไปได้ทุกเมื่อ นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องลดน้ำหนักเท่าที่ทำได้แล้ว หน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่อีกอย่างที่ต้องทำ คือ ให้กำลังใจเรื่อย ๆ เอ่ยปากชมเมื่อลูกทำได้ดี และช่วยหากิจกรรมให้ลูกคลายความเครียด ที่อาจเกิดจากการลดน้ำหนักเป็นเวลานาน เป็นต้น
การลดน้ำหนักด้วยวิธีที่เราแนะนำต้องใช้เวลา และความอดทน อย่าหักโหมมากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว นอกจากนี้หากน้ำหนักเกินเกณฑ์ไปมาก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจให้แพทย์ตรวจความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ และเรื่องที่ต้องระวังในการทานอาหารแต่ละมื้อด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อยากให้ลูกสูง 180 เป็นไปได้ไหมถ้าพ่อแม่ไม่สูง พร้อมสูตรทำนายส่วนสูงลูก
6 วิธีหาก “อยากให้ลูกผิวขาว” ดูสวยใสเป็นธรรมชาติ
6 วิธี อยากให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง ต้องทำด่วน !
ที่มา : babycareadvice, parentsone