เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสลดเมื่อนักเรียนถูก ไฟดูดตู้กดน้ำ เสียชีวิต กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้ผู้ปกครองตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่รอบตัวลูก โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่ควรเป็นสถานที่ปลอดภัย เหตุการณ์นักเรียนชายถูกไฟดูดเสียชีวิตคาตู้กดน้ำเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าอันตรายอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด ในฐานะผู้ปกครอง เราไม่อาจละเลยความปลอดภัยของลูก ๆ ได้ บทความนี้มุ่งนำเสนอข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากตู้ทำน้ำเย็น แนวทางป้องกันอุบัติเหตุ และมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองสามารถดูแล ป้องกัน และสร้างความปลอดภัยให้กับลูก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
ตรัง สั่งโรงเรียนให้งดใช้ตู้ทำน้ำเย็น หลังเด็กถูก ไฟดูดตู้กดน้ำ เพราะเครื่องเก่าไม่ได้ใช้นาน!
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เมื่อเด็กนักเรียนชาย เสียชีวิตคาตู้กดน้ำเย็น ขณะที่โรงเรียนกำลังจัดกิจกรรมกีฬาสี เบื้องต้นทาง นายชัยณรงค์ ช่างเรือ ผู้อำนวยการ สพม.ตรัง-กระบี่ ได้เผยสาเหตุว่า ตู้กดน้ำเย็นนั้นมีสภาพที่เก่าและไม่ได้ใช้งานมานาน คาดว่าไฟฟ้าช็อตลงพื้นคอนกรีตขณะฝนตก เด็กเดินผ่านพอดีในขณะที่ตัวเปียกน้ำ จึงทำให้ถูกไฟดูดเสียชีวิตทันที
ทั้งนี้ทางนายชัยณรงค์ ได้ชี้แจงถึงมาตรการตรวจสอบตู้ทำน้ำเย็น โดยปกติแล้ว ทาง สพม.ตรัง-กระบี่ ได้กำชับให้ตรวจสอบตู้ทำน้ำเย็นเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งก่อนช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา ก็ได้มีการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนแล้ว โดยเฉพาะตู้ที่มีอายุการใช้งานนาน ก็จะสั่งห้ามใช้งานทันที อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับมาตรการความปลอดภัยที่มากขึ้น
ล่าสุดทาง สพม.ตรัง-กระบี่ ได้สั่งการให้งดใช้ตู้ทำน้ำเย็นทุกโรงเรียนในสังกัด จนกว่าจะมีการตรวจสอบใหม่ทั้งหมด และมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด เพื่อมุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
ทางด้านครอบครัวของเด็กชายผู้เสียชีวิต ไม่ติดใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ และทางโรงเรียนก็ได้ช่วยเยียวยาค่าจัดศพไปแล้วจำนวน 1.2 แสนบาท นายพรชัย เทพสุวรรณ และนางสุภาพร ทองแย้ม ผู้เป็นพ่อและแม่ได้ให้การว่า วันเกิดเหตุเป็นวันแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียน ทราบเรื่องตอนที่ทางโรงเรียนโทรมาแจ้งว่าลูกชายเกิดอุบัติเหตุ ให้รีบไปโรงพยาบาลกันตังโดยด่วน เมื่อไปถึงทางโรงเรียนแจ้งว่าน้องถูกไฟดูดเสียชีวิตแล้ว ถึงแม้ทางครอบครัวจะไม่ได้ติดใจในการเสียชีวิต เพราะเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจ และ ก็เข้าใจว่าไม่มีใครที่กล้าจะเข้าไปช่วยในจุดนั้น เพราะต้องรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือ ทั้งนี้ทางครอบครัวและญาติของน้องอยากให้เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอุทาหรณ์กับทางโรงเรียนและนำไปแก้ไขปรับปรุง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ไฟดูดตู้กดน้ำ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ล่าสุด อ.เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นช่วยเหลือคนโดนไฟดูด โดยโพสต์ในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุว่า
“มาพิจารณาดูลักษณะของ “ตู้น้ำเย็น” ที่ไฟรั่วดูดเด็กนักเรียนเสียชีวิต แล้วน่าจะติดตั้งผิดหลักมาตรฐานความปลอดภัยนะครับ … ฝากผู้บริหารของ ก.ศึกษาธิการ สั่งตรวจสอบทั้งประเทศเลย เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องขึ้นอีกครับ
คือ ถ้าอ้างตามรายงานข่าวล่าสุดของ ThaiPBS (ดูลิงค์ข่าว ในคอมเม้นต์) ทางผู้อำนวยการ โรงเรียนกันตังรัษฎาศึกษา จ.ตรัง บอกว่า ตู้ทำน้ำเย็นที่เกิดเหตุนั้น ติดตั้งมานานแล้ว ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากแหล่งน้ำมีสนิม จึงปิดไว้ไม่ให้ใช้งาน โดยตู้มีเบรกเกอร์ควบคุมระบบไฟฟ้าอยู่ด้านหลัง แต่วันเกิดเหตุมีฝนตก น้ำเจิ่งนอง คาดว่าตู้เกิดไฟรั่ว พอนักเรียนซึ่งตัวเปียกมาเข้าใกล้ จึงโดนไฟดูด ตอนนี้ได้สั่งให้รื้อระบบไฟฟ้าออกทั้งหมด
ซึ่งจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วตู้กดน้ำเย็นนี้ ติดตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่ใช่ภายในอาคาร และถึงแม้จะมีการทำหลังคาด้านบน แต่ก็ไม่สามารถจะป้องกันฝนสาดได้ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นจากไฟฟ้ารั่วถ้าเปียกฝน
นอกจากนี้ จะเห็นว่ามีการติดตั้งตู้เบรกเกอร์ก็จริง แต่ไม่ได้พูดถึงว่ามีการติดตั้ง “อุปกรณ์ตัดไฟรั่ว” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตั้งไว้ด้วย และราคาขายตามท้องตลาดทั่วไป ก็ไม่ได้แพง อยู่ที่ 600-700 บาทเท่านั้น น่าจะติดตั้งเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ เท่าที่ดูลักษณะของตู้ ตามภาพข่าว ไม่พบว่ามีเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. หรือสติกเกอร์เตือนเรื่องการติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัย จึงเป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นตู้กดน้ำดื่มที่ได้รับบริจาคมา และอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
ก็ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศนะครับ ว่าต้องหมั่นตรวจสอบความปลอดภัยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (จริงๆ มีไขควงวัดไฟซักตัว ค่อยเดินตรวจเช็คเรื่อยๆ ก็ลดความเสี่ยงได้แล้ว) รวมถึงการจัดซื้อ และติดตั้ง ก็ต้องให้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดครับ
ป.ล. ส่วนตัว รู้สึกเศร้ามากที่เหตุการณ์ขึ้นใน “โรงเรียน” ซึ่งเราพ่อแม่ผู้ปกครอง หวังว่าจะเป็นที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลาน ที่ฝากไปให้ช่วยดูแลนะครับ”
ประโยชน์ของการติดสายดินที่ ตู้กดน้ำเย็น
ตู้กดน้ำเย็นส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุที่เป็นพลาสติกและสเตนเลส คอมเพรสเซอร์ภายในถูกยึดติดกับตัวโครงตู้ด้วยน็อต เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟฟ้าจะสามารถไหลผ่านตัวตู้ทั้งส่วนที่เป็นพลาสติกและสเตนเลสได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ใช้เสี่ยงต่ออันตรายจากไฟฟ้าดูดได้ทุกจุดบนตัวตู้
การติดตั้งสายดินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลลงสู่พื้นแทนการไหลผ่านร่างกายของผู้ใช้ ช่วยป้องกันอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ สายดินยังช่วยให้ระบบไฟฟ้าตัดกระแสไฟได้รวดเร็วขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้ารั่ว ช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น
เพื่อความปลอดภัยจากไฟฟ้ารั่ว ควรมีการตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์ สายไฟ และสายดินเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบว่าไม่มีร่องรอยชำรุด เช่น เปื่อยขาด หรือมีรอยหนูกัดแทะ เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่วที่อาจเกิดขึ้นได้
ไฟดูด: ภัยใกล้ตัว รู้วิธีช่วย ชีวิตปลอดภัย
นอกจากนี้ทาง อ.เจษฎ์ ยังได้ออกมาโพสต์ถึงแนวทางการช่วยเหลือคนถูกไฟดูด โดยเน้นย้ำว่า หากไม่จำเป็นอย่าโดดถีบเพราะอาจเสี่ยงกว่าเดิม โดยระบุ ดังนี้
“ไม่จำเป็น ไม่ควรใช้วิธี “ถีบ” ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด” ครับ
จากที่โพสต์แนะนำไป เกี่ยวกับกรณีที่มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต เนื่องจากถูกไฟฟ้าจากตู้กดน้ำดื่ม ดูดเอาและได้รับการช่วยเหลือไม่ทัน … มีคำถามในคอมเม้นต์ว่า แล้วที่เคยสอนกัน “ให้กระโดดถีบ ช่วยคนที่ถูกไฟฟ้าดูด ให้หลุดออกไปนั้น” ยังเป็นวิธีที่ควรทำอยู่หรือไม่ ?
คำตอบสำหรับผม คือ ไม่แนะนำให้ทำครับ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายตามมา ทั้งกับคนที่เข้าไปช่วยถีบ และคนที่ถูกถีบ
เรื่องนี้ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เคยทำเป็นคำถามในรายการ “คิดสิต้องรอด” โดยถามว่า ถ้าเห็นคนโดนไฟดูด จะทำอย่างไร ? ระหว่าง 1. วิ่งเข้าไปกระโดดถีบ 2. ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ และ 3. ใช้ผ้าคล้องไปที่ตัว แล้วดึงเพื่อนออกมา … วิธีไหนที่ช่วยคนถูกไฟดูดให้ปลอดภัย และเราเองก็ปลอดภัยด้วย (ดูลิงค์ในคอมเม้นต์)
โดยทางรายการได้อธิบายว่า “การกระโดดถีบ” จะเป็นช่วยทำให้คนที่ถูกไฟดูดอยู่ สามารถหลุดออกจากสายไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการช่วยที่เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะอาจจะทำให้คนที่หลุดออกไปจากไฟดูด ไปกระแทกของที่อยู่ด้านหลัง จนได้รับบาดเจ็บ ! (อันนี้ เคยมีข่าวมาแล้ว คือ ไปถีบคนที่ถูกไฟดูดขณะยืนบนบันได แล้วถีบจนตกบันได ลงมากระแทกพื้นเสียชีวิตแทน)
หรือดีไม่ดี เรากระโดดถีบเค้าออกไป แล้วเราก็ตกลงทับสายไฟที่รั่วอยู่ กลายเป็นเราถูกไฟดูดตายไปเอง!
ทางรายการแนะนำวิธีการ “ใช้ไม้เขี่ยสายไฟ” โดยเมื่อพบคนถูกไฟฟ้าดูด ให้หาไม้ หรือพลาสติก หรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และต้องแห้งเท่านั้น นำมาเขี่ยสายไฟหรืออุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า เขี่ยให้หลุดออกจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด (ซึ่งเด็กๆ ที่มาร่วมรายการ สามารถใช้วิธีนี้ช่วย “หุ่นที่ถูกไฟดูด” ได้สำเร็จใน 5 วินาที)
ส่วนวิธี “ใช้ผ้าที่คล้องที่ตัว และดึงเพื่อนออกมา” นั้น ผ้าเป็นฉนวนที่ไฟฟ้าไหลผ่านไม่ได้ก็จริง แต่ต้องใช้ผ้าที่แห้ง และยาวพอที่จะโยนให้คล้องเข้ากับเป้าหมาย และดึงกระชากออกมา ซึ่งถ้าฝีมือไม่ถึง หรือพลาดไปสัมผัสโดนคนที่ถูกไฟดูดเข้า วิธีนี้ก็เสี่ยงทำให้เราถูกไฟฟ้าดูดไปด้วย เรากับเพื่อนก็จะไม่รอดทั้งคู่
ดังนั้น “ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ” ก็ไม่ควรใช้วิธีกระโดดถีบช่วยผู้ถูกไฟดูดครับ .. หรือถ้าต้องทำ ต้องดูว่าบริเวณข้างๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดนั้น มีพื้นที่โล่งพอให้ผู้ป่วยล้มลงไปโดยไม่เจ็บตัวมากนัก ให้เลือกค่อยถีบช่วงก้น หรือสะโพก ให้เร็วแรงพอที่จะให้หลุดออกได้ในครั้งเดียว
แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลี่ยง “การกระโดดถีบ” แล้วมองหาสิ่งของที่เป็นฉนวน ไม่นำไฟฟ้า และแห้งไม่เปียกน้ำ ไปเขี่ยสายไฟหรือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูด ออกไปจากร่าง หรือเขี่ยมือ แขน หรือ เท้าของผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีไฟดูด
ที่สำคัญคือ ต้องรักษาระยะห่างจากผู้ถูกไฟดูด อย่าพึ่งรีบร้อนเข้าไปช่วย เพราะอาจจะสัมผัสโดนร่างกายของผู้ที่ถูกไฟดูดไปด้วย ควรตั้งสติ สังเกตก่อนว่าไฟฟ้าที่รั่วออกมาดูดนั้น มาจากที่ใด จะได้ไม่เข้าใกล้จุดนั้น และหาทางตัดไฟฟ้าได้ (เช่น ปิดสวิตช์ หรือสับคัตเอาท์) ตลอดจนควรที่จะต้องใส่รองเท้าด้วยก่อนเข้าไปช่วย
(เพิ่มเติม) ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลนั้น เริ่มจากตรวจดูว่าผู้ป่วยยังมีสติแค่ไหน / ถ้า “ยังมีสติ” ครบถ้วน ให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าวๆ ว่ามีบาดแผลร้ายแรงหรือไม่ มีรอยไฟไหม้ที่บริเวณใดหรือเปล่า / แต่ถ้า “หมดสติ” และ “ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ” ให้รีบทำการ ปั๊มหัวใจผายปอด CPR โดยด่วน / จากนั้น ให้รีบนำส่งแพทย์ หรือโทรแจ้ง สายด่วนกู้ชีพ 1669”
บทความที่เกี่ยวข้อง: ไฟฟ้าช็อต ป้องกันได้อย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนไฟช๊อต
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์เด็กนักเรียนเสียชีวิต หลังถูก ไฟดูดตู้กดน้ำ นับเป็นอุทาหรณ์ที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงมาตราการการป้องกันที่เข้มงวดกว่านี้ อย่างการติดตั้งระบบการตัดไฟรั่ว และติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ที่สำคัญควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันการถูกไฟดูด
ที่มา: Khaosod, Thaipbs, Chiangmaiaircare
Facebook: อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ใจสลาย! เด็กชาย 3 ขวบ เล่นซน แกะเทปพันสายไฟ ถูก ไฟดูด เสียชีวิต!
8 วิธีป้องกันเด็กถูก ไฟช็อต รับมืออย่างไรหากลูกถูกไฟช็อต
สุดสยอง! หญิงสาวกดกาแฟ ตู้กดอัตโนมัติ พบเจอสิ่งไม่คาดฝัน อาการทรุดเข้าห้องไอซียู
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!