อาการ ปวดท้องเมนส์ เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลาย ๆ คน ต้องพบเจอแทบจะทุกเดือน บางคนมีอาการปวดท้องรุนแรง ควบคู่กับอาการหลากหลายรูปแบบ จนต้องเข้าพบแพทย์พร้อมกับกินยาอย่างสม่ำเสมอ หลายคนมีอาการปวดท้องจนทำให้ลุกเคลื่อนไหวไม่สะดวก ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่บางคนมองว่าการปวดประจำเดือนเป็นแค่การปวดท้องทั่วไป ไม่ได้รุนแรง ตัวอย่างข่าวหญิงสาวชาวมาเลเซียที่ลาป่วยเนื่องจากปวดประจำเดือน แต่ถูกไล่ออกจากงานเพราะหัวหน้าหาว่าโกหก สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่อาจ มองข้าม ความทรมานจากอาการนี้
พนักงานหญิงฟ้องศาลชนะ! ได้เงินชดเชย 1.4 ล้าน หลังถูกไล่ออกเพราะลาป่วย “ปวดท้องเมนส์”
พนักงานหญิงชาวมาเลเซีย รายหนึ่งได้ถูกไล่ออก เพราะเธอลาป่วยหลายวันเนื่องจากอาการ ปวดท้องเมนส์ ในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งเธอก็ยังได้นำใบรับรองแพทย์มายืนยันการลาป่วยของเธออีกด้วย แต่ทางนายจ้างเห็นว่าเหตุผลลาป่วยของเธอนับว่าเป็นเรื่องโกหก และอ้างว่าแท้จริงแล้วเธอไม่ได้อยากทำงานมากกว่า
ผู้หญิงคนนี้รู้สึกตกใจและโกรธกับการตัดสินใจของนายจ้าง เธอจึงได้ทำการฟ้องศาล และหวังว่าผู้พิพากษาจะให้ความยุติธรรมแก่เธอ โดยเน้นย้ำว่าการลาป่วยอยู่ในขอบเขตระยะเวลาที่ทำได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกอย่างที่บริษัทกำหนดไว้เกี่ยวกับการลาป่วย
แต่ในขณะเดียวกัน ทางหัวหน้าของเธอก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์นี้ และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องตัวเองเช่นกัน โดยอ้างว่าลูกจ้างคนนั้นโกหกว่าป่วย ใช้สิทธิ์ลาป่วยไปในทางที่ผิด ทำให้ต้องถูกไล่ออกตามกฎของบริษัท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้กฎหมายของประเทศมาเลเซีย การปลอมแปลงใบรับรองแพทย์ การลาป่วยถือเป็นเรื่องร้ายแรง และภายใต้มาตรา 471 ของประมวลกฎหมายอาญา การปลอมเอกสารที่เป็นเท็จ เมื่อลูกจ้างปลอมใบรับรองการลาป่วย หากถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
ท้ายที่สุด ทางศาลได้ยืนยันว่าใบรับรองแพทย์การลาป่วยของผู้หญิงคนนั้นเป็นของแท้และถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ตัดสินว่าทางบริษัทนายจ้างจะต้องทำการชดเชยให้กับพนักงานหญิงคนนี้ เป็นจำนวนเงิน 180,000 ริงกิตมาเลเซีย หรือ 1.4 ล้านบาท
อาการ ปวดท้องเมส์ ปัญหาที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนต้องพบเจอ
ผู้หญิงทุกคนล้วนเคยมีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดประจำเดือนบางรูปแบบอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้
อาการปวดประจำเดือนแบบไหนที่ควรระวัง?
- ปวดท้องน้อยรุนแรง: ปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานหรือเรียนไม่ได้ กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น
- ปวดนาน: ปวดมากกว่า 7 วันต่อรอบเดือน หรือปวดก่อนมีประจำเดือนนานหลายวัน
- มีอาการอื่นร่วมด้วย: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย อุจจาระปนเลือด เลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ
บทความที่เกี่ยวข้อง: ประจำเดือนครั้งแรกของลูก ควรทำยังไง? สิ่งที่แม่ต้องรู้และควรรับมือ
สิทธิลาหยุดและลางานสำหรับผู้มีประจำเดือน
ความแตกต่างของอาการที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีกฎหมายหรือข้อบังคับรองรับสิทธิลาหยุดและลางานสำหรับผู้มีประจำเดือน เพื่อช่วยให้ผู้มีประจำเดือนสามารถจัดการกับอาการและดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องงาน เช่น
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย แซมเบีย และ สเปน ที่ล่าสุดเป็นประเทศแรกในฝั่งตะวันตกที่ยอมให้ผู้หญิงลาป่วยเพราะปวดประจำเดือนได้ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีสเปนอนุมัติข้อเสนอให้ผู้หญิงมีสิทธิลาป่วย 3 วัน ต่อ เดือน ระหว่างมีประจำเดือน แต่อย่างไรก็ตามในบางประเทศ สิทธิลาป่วยเนื่องจากปวดประจำเดือนอาจยังไม่เป็นที่ยินยอมมากนัก
ทำไมสิทธิลาหยุดและลางานสำหรับผู้มีประจำเดือน ถึงยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในทวีปเอเชีย?
สิทธิการลาสำหรับผู้มีประจำเดือน ยังไม่ใช่เรื่องปกติในเอเชีย โดยพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันของการลาประเภทนี้ เราสามารถสรุปเหตุผลหลัก ๆ ที่อยู่เบื้องหลังได้ 5 ข้อ
1) การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในหลายประเทศเอเชีย
วัฒนธรรมเอเชียยังคงค่อนข้างอนุรักษ์นิยมในเรื่องที่เกี่ยวกับประจำเดือนหรือการสืบพันธุ์ ดังนั้น พนักงานผู้หญิงส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผย โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่เป็นผู้ชาย ว่าพวกเธออยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน ถึงแม้ว่าพวกเธอจะประสบปัญหากับอาการปวดรุนแรงก็ตาม
2) การขาดความเข้าใจจากเพื่อนร่วมงานและผู้ว่าจ้างผู้ชาย
ผู้หญิงหลายคนลังเลที่จะพูดถึงอาการ ปวดท้องเมนส์ รุนแรง และขอลางานจากการปวดประจำเดือน เพราะคิดว่าเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าชายจะไม่เข้าใจ อาการปวดประจำเดือนยังคงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ชายเอเชียหลายคน พวกเขามักจะคิดว่ายาแก้ปวดก็เพียงพอแล้ว และการลาหยุดทั้งวันนั้นไม่จำเป็น
3) บริษัทต่างๆ ไม่ได้แจ้งให้พนักงานหญิงทราบอย่างถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสิทธิลาเนื่องจากการ ปวดท้องเมนส์
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทหลาย ๆ แห่งในเอเชียสามารถหลีกเลี่ยงการแจ้งสิทธิลาประจำเดือนแก่พนักงานหญิงได้อย่างง่ายดาย แม้กระทั่งในประเทศที่มีกฎหมายบังคับเคร่งครัด พวกเขายังหาวิธีทำให้กระบวนการขอลาซับซ้อนมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความกระตือรือร้นของผู้หญิงในการใช้สิทธิ์ดังกล่าว
4) พนักงานผู้หญิงไม่อยากเป็นภาระให้เพื่อนร่วมงานด้วยการทำงานเพิ่มในช่วงที่ตนเองลา
บริษัทหลายแห่งมีปัญหาในแง่ของพนักงานไม่เพียงพอ หรือตัวพนักงานหญิงเองที่ยุ่งมากจนไม่สามารถลาหยุดได้ พวกเธอจึงเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ลาการปวดประจำเดือน แม้ว่าจะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์นั้นก็ตามเพราะกลัวว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่นจะต้องรับภาระงานของพวกเธอ
5) การลาเนื่องจาก ปวดท้องเมนส์ กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้พนักงานหญิงถูกเลือกปฏิบัติ
เพราะปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน แม้จะมีความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายอย่างรุนแรง แต่พนักงานหญิงส่วนมากก็เลือกที่จะไม่รับสิทธิประโยชน์การลาเนื่องจากปวดประจำเดือน เพราะพวกเขาไม่ต้องการถูกมองว่าอ่อนแอ เกียจคร้าน หรือมีสิทธิ์มากกว่าผู้อื่น
ประเด็นสิทธิลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงและกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น สำหรับเราผู้หญิงที่ต้องเผชิญสภาวะปัญหานี้อยู่ทุกเดือน จึงหวังว่าคนรอบข้างรวมไปถึงนายจ้างจะเข้าใจถึงปัญหานี้มากขึ้นค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
11 หมอฟันเด็ก หมอฟันเด็กเก่งๆ คุณหมอใจดี มือเบา แม่ๆ แนะนำ
แพทย์เตือน! ขอบตาแพะ อันตราย เสี่ยงติดเชื้อ มดลูกอักเสบ
เดือดทั้งโซเชียล! พี่เลี้ยงเด็ก ทำร้ายลูกน้อย 3 ขวบ ตาปูด แม่ร่ำไห้แทบขาดใจ
ที่มา: sanook, seek employer, bbc news
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!